x close

อุทยานรับไม่ไหว คนแห่สัมผัสหนาว








          จากปัญหานักท่องเที่ยว แห่กันไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติชื่อดังต่างๆ กันอย่างล้นหลาม จนเกิดปัญหาขยะล้นอุทยานและสิ่งแวดล้อมเสียหาย ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการจำกัดนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง เป็นการนำร่อง แต่ปรากฏว่าในช่วงวันหยุดยาว 5-7 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวแห่ไปสัมผัสอากาศหนาวเคล้าไอหมอกตามอุทยานแห่งชาตินำร่องดังกล่าวเกินกว่าที่กำหนด จนทำให้เกิดปัญหาระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ  

          ทั้งนี้ นายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ว่า ตามที่กรมอุทยานฯ  ได้กำหนดมาตรการจำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ 10 แห่งนำร่องได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดอยฟ้าห่มปก ดอยสุเทพ-ปุย เอราวัณ ห้วยน้ำดัง แก่งกระจาน ภูกระดึง เขาใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน โดยนักท่องเที่ยวที่จะเข้าพักค้างคืนทั้งบ้านพักและจุดกางเต็นท์ ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน และเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าในช่วงวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปใช้บริการเกินขีดความสามารถการรองรับที่กำหนดไว้ 5 แห่ง ดังนี้ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จำกัดพักค้างคืนสูงสุด 1,134 คน ไปกลับ 850 คน แต่ในช่วงวันดังกล่าวมีถึง 8,000 คนต่อวัน ขณะที่ดอยสุเทพ-ปุย ค้างคืนได้ 850 คน นักท่องเที่ยวเฉลี่ย 900-1,000 คนต่อวัน ที่ภูกระดึงมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 8,000-9,000 คนต่อวัน จากที่กำหนดไว้ 5,300 คน และที่ไม่ได้ขึ้น 4,000-5,000 คนต่อคน ขณะที่เขาใหญ่ เฉลี่ย 3,000-5,000 คนต่อวัน จากที่กำหนดพักค้างคืนได้ 2,600 คน ไปกลับ 3,285 คน ส่วนที่แก่งกระจาน เฉลี่ยวันละ 800-900 คนต่อวัน เกินขีดความสามารถที่กำหนดไว้แค่ 100-200 คนต่อวัน  

          อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวต่อว่า ปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ยังคงเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น แต่ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันธรรมดายังปกติอยู่ อีกทั้งการเดินทางแบบไป-กลับไม่ได้ มีปัญหาอะไร ขณะเดียวกันยังมีการแนะนำอุทยานใกล้เคียงรองรับไว้แล้ว เช่น แถวห้วยน้ำดังจะกระจายไปที่ผาแดง น้ำตกแม่สุรินทร์ หรือที่ดอยสุเทพ-ปุย ไปที่ขุนแจ แจ้ซ้อน ดอยขุนตาล หรือจากเขาใหญ่ไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจต้องยืดหยุ่นในปีแรก แต่ในปีต่อไปจึงจะใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้จะมีการประเมินผลการดำเนินงานในเดือน มกราคม 52 เพื่อดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ต้องปรับแก้บ้าง แต่อาจจะไม่มีการจำกัดนักท่องเที่ยวในอุทยานอื่นๆ เพราะที่เลือก 10 แห่ง เพราะเป็นพื้นที่มีปัญหานักท่องเที่ยวล้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ว่าในช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 51-4 มกราคม 52 มีนักท่องเที่ยวจองบ้านพักอุทยานต่างๆ เต็มหมดแล้ว ยกเว้นจุดกางเต็นท์ยังคงพอเหลืออยู่ในบางจุดของบางพื้นที่อีกประมาณ 50%  

          "40-50% ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า อุทยานฯมีมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวทำให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยอนุโลมให้นักท่องเที่ยวใช้วิธีกางเต็นท์ โดยเฉพาะที่เขาใหญ่ต้องเปิดเพิ่มอีก 600 คนต่อวัน ส่วนที่ดอยอินทนนท์แก้ปัญหาการจราจรด้วยการจัดรถสองแถว 40 กว่าคัน และรับนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ประมาณ 4 ชั่วโมงในราคา 120 บาท เป็นต้น ยอมรับว่าถึงแม้จะประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ไปค่อนข้างมากแล้ว แต่อาจจะยังสื่อไปไม่ถึงคนทุกกลุ่ม ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อาจต้องใช้ตัววิ่งออกทางทีวีเพิ่มเติม" นายอุภัยกล่าว  

          อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ภายใน 1 ปีข้างหน้า จะพยายามปรับปรุงอุทยานให้มีการบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความสะอาด ความสะดวก ความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เทียบกับมาตรฐานของโรงแรมระดับห้าดาว โดยในวันที่ 12 ธันวาคม นี้ จะเชิญหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ มาหารือเกี่ยวกับการบริการและการเตรียมความพร้อม ภายใต้โครงการอุทยานสีเขียวด้วย 

          ด้านนายจักรกริช วิศิษฐ์พาณิชย์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรมอุทยานฯได้ปรับปรุงมาตรฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมแหล่งธรรมชาติของอุทยาน ซึ่งไม่เพียงแต่การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น กำลังเตรียมจัดระบบการลงทะเบียนสำหรับการเดินป่า เพื่อให้ สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวในกรณีที่อาจหลงป่าได้ รวมทั้งการเน้นเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด โดยจะปรับมาใช้สบู่ น้ำยาล้างจาน ซักผ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การห้ามใช้โฟม ขวดพลาสติก เป็นต้น  

          ขณะเดียวกัน จากปัญหาขยะล้นอุทยานฯ ทำให้ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นอุทยานฯแห่งแรกที่คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว โดย น.ส.จินตนา บุญเชิญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ได้ ริเริ่มโครงการ "นำขยะกลับบ้าน" เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาด ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมภายในอุทยานแห่งชาติ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม 

          ทั้งนี้ น.ส.จินตนาเปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีขยะเกินปริมาณที่กำหนด จึงได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาด้วยการจัดโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดยาว 5-7 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเที่ยวอุทยานฯน้ำตกเจ็ดสาวน้อย และร่วมมือกันขอถุงขยะจากเจ้าหน้าที่ใส่ขยะนำกลับไปทิ้งที่บ้าน แสดงให้เห็นจิตสำนึกที่ดีของนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเที่ยวในอุทยานฯเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณขยะในอุทยานฯให้ลดลงอย่างมากด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบจาก Kapook.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุทยานรับไม่ไหว คนแห่สัมผัสหนาว อัปเดตล่าสุด 11 ธันวาคม 2551 เวลา 18:25:53 41,511 อ่าน
TOP