x close

รู้จักเลือก...รู้จักเลี่ยง ไม่เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง





รู้จักเลือก...รู้จักเลี่ยง ไม่เสี่ยงเป็น"ความดันโลหิตสูง"(เดลินิวส์)

           ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนี้ ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต สร้างความบั่นทอนร่างกายและจิตใจให้ถดถอยลง ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายสูงตามไปด้วย

           ภาวะความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามโลก โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกมีภาวะความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 16 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน 

           สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อัน จะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย 

           นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ให้ความรู้ว่า ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันเลือดที่เกิดจากการ ที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่ว ร่างกาย ซึ่งหัวใจคนเราจะเต้น 60-80 ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัวและลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นอยู่กับท่าของผู้ถูกวัดด้วย โดย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหาร การนอนหลับ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งสภาพจิตใจด้วย 

           โดยปกติคนจะมีระดับความดันโลหิต 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท หากมีค่าความดันมากกว่านี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ส่วนสาเหตุของความดันโลหิตสูง 90% ของผู้ที่มีภาวะดังกล่าวไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบมากในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น เกิดจากอาการป่วยบางอย่าง เช่น อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต และต่อมไร้ท่อบางประเภท 

           "ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาและไม่มีการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในรายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นความดันโลหิตสูงจึงเปรียบเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากไปแบบไม่รู้ตัว" 

           โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคอัมพาตและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยผู้ที่ไม่ได้รักษาความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีโอกาสเกิดโรคหัวใจวายเพิ่มขึ้น 6 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตเพิ่มขึ้น 7 เท่า 

           "ภาวะความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ ทำให้หลอดเลือดภายในร่างกายค่อยๆ เสื่อมไป โดยเฉพาะ 3 อวัยวะสำคัญ คือ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งไต ซึ่งเมื่อมีการตีบหรือ แตกของหลอดเลือดในอวัยวะสำคัญเหล่านี้จะทำให้เสียชีวิตได้แบบเฉียบพลัน หรือทำให้เป็นอัมพาตได้ ดังนั้น แม้ในคนปกติ หรือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตสูงอยู่ อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากได้รับการรักษาหรือปรับการปฏิบัติตัวแต่เนิ่นๆ จะทำให้หลอดเลือดไม่ผิดปกติเร็วเกินไปนัก สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วนั้น หากมิได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้" 

           ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะ ความดันโลหิตสูง นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ได้แก่ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม โดยมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ ได้ประมาณ 30- 40% รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียด รีบเร่งมีผลต่อการก่อโรคได้เร็วขึ้น ด้าน อายุ มักพบในอายุตั้งแต่ 40-50 ปี ขึ้นไป เพศ ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือน รูปร่าง พบมากในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมากกว่าคนผอม ส่วน เชื้อชาติ พบมากที่สุดในคนอเมริกันเชื้อสายคนดำแอฟริกัน รวมไปถึงผู้ที่ทานเกลือสูงหรือชอบกินเค็มมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ 

           สำหรับการรักษาผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ การใช้ยา และ ไม่ใช้ยา ในผู้ป่วย ซึ่งในรายที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษาได้โดยป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยาและพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ 

           ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถ ตรวจวัดความดันโลหิตได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบระดับความดันโลหิต ของตนเองตลอดเวลา หากมีระดับสูงผิดปกติก็สามารถรีบไปพบแพทย์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม อันจะนำไปสู่การควบคุมระดับความดันโลหิตที่ดีขึ้น ตลอดจนลดปัญหาจากการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ความดันโลหิต สูงเป็นเพชฌฆาตเงียบ เป็นแล้ว ไม่หายขาด ต้องดูแลรักษา ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจึงคุ้มที่จะป้องกันและรักษาก่อนที่จะสายเกินแก้ 

           ทุกคนสามารถป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยการเลือกทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยง อาหารเค็มจัด เพราะเกลือทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น รวมทั้ง อาหารกลุ่มไขมัน ควรให้อยู่ในระดับกลางค่อนข้างต่ำ ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์และจำพวกกะทิ อีกทั้ง อาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลขัดขาวทุกชนิด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น 

           นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง การสูบบุหรี่ และ แอลกอฮอล์ หรือดื่มได้ในปริมาณที่พอเหมาะ (วิสกี้ 2 ออนซ์หรือ ไวน์ 8 ออนซ์) รวมทั้งพยายามควบคุมน้ำหนักตัว เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค และออกกำลังกาย ให้พอควรและสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และมีการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ 

           "อยากให้ทุกคน ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของความดันโลหิตสูง ถ้าสามารถรักษา ควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อย่าละเลย อย่าประมาท ก็จะมีโอกาสลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ต่อหัวใจ สมอง และไตได้ แล้วคุณจะห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง" นพ. ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย 

           สำหรับผู้ที่รักสุขภาพหรือต้องการตรวจวัดความดันโลหิตสามารถเข้ารับบริการตรวจวัดความดันโลหิตได้กับโครงการ "เช็คไลฟ์ เช็คความดัน เช็คสุขภาพ" ซึ่งจัดร่วมกับร้านขายยาชั้นนำทั่วไป เช่น แม็คโคร โลตัส ท็อปส์ซูเปอร์ มาร์เก็ต ร้าน P&F รวมถึงร้านขายยาทั่วไปที่ร่วมรายการกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการนำเครื่องวัดความดันไปตั้งไว้ที่จุดบริการเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจวัดความดันได้ฟรีตลอดปี พ.ศ. 2552 นี้ จะได้รู้ว่าความดันโลหิตของเราตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง 

           ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดูแลรักษาระดับของความดันโลหิต... เพียงแค่คุณใส่ใจ

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักเลือก...รู้จักเลี่ยง ไม่เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 15:54:39 16,350 อ่าน
TOP