15 วิธีคุมกำเนิด... ที่คุณเลือกได้

ยาคุม



15 วิธีคุมกำเนิด... ที่คุณเลือกได้ (Lisa)

          การคุมกำเนิดไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว ผู้ชายก็ช่วยคุมกำเนิดได้ ซึ่งมีทั้งวิธีธรรมชาติและอาศัยเทคโนโลยี แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดด้วย

          เจมี่ ลินน์ สเปียร์ส น้องสาววัยทีนของนักร้องสาว บริตนีย์ สเปียร์ส ตั้งครรภ์อย่างไม่ตั้งใจในวัย 16 ปี ทำให้พ่อแม่ผิดหวังเป็นอย่างมากที่ลูกสาวตัดอนาคตตัวเอง ทั้งนี้ การคุมกำเนิดมีหลายวิธี ซึ่งบางคนอาจรู้จักแค่ยาคุมกำเนิดกับถุงยางอนามัย แต่ในความเป็นจริงแล้วมีวิธีคุมกำเนิดหลากหลายวิธีให้เลือก ทั้งวิธีธรรมชาติและอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยแต่ละวิธีก็มีความปลอดภัยมากน้อยต่างกัน และมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ดังนั้น นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี จึงให้ความกระจ่างดังนี้ค่ะ

          1. ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่เก่าแก่ที่สุดและยังเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการคุมกำเนิดก็ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ กระนั้นก็ตามยังมีคนใช้ผิดวิธี หรือใช้ถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพต่ำหรือหมดอายุ ที่พบบ่อยคือการสวมถุงยางอนามัยตอนใกล้จะหลั่งคือไม่ใช้ตั้งแต่ต้น ก็จะเกิดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากน้ำหล่อลื่นในช่วงแรกก็อาจมีเชื้ออสุจิออกมาแล้ว

          2. ยาคุมกำเนิด มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและเจสตาเจน (Gestagen) ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้จะป้องกันไม่ให้ไข่ตกและเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกให้ไม่เหมาะแก่การฝังตัว ทั้งนี้ ต้องกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และหยุดพัก 1 สัปดาห์ที่จะมีประจำเดือนในช่วงนั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยมากและยังช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ด้วย แต่อาจทำให้ผู้หญิงที่สูบบุหรี่เกิดโรคโลหิตหรือน้ำเหลืองคั่งได้ ทำให้อารมณ์ทางเพศลดลง และอาจทำให้ผู้หญิงเกิดโรคลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด (Deep Vein Thrombosis : DVT) ซึ่งพบบ่อยในชาวตะวันตก ปัจจุบันเริ่มพบมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปแบบตะวันตก เช่น กินอาหารแบบตะวันตก และออกกำลังกายน้อยลง

          3. ยาคุมกำเนิด Desogestrel และ Levonorgestrel มีเพียงฮอร์โมนเจสตาเจนเท่านั้นที่จะป้องกันไม่ให้ไข่ตกและป้องกันไม่ให้สเปิร์มผ่านเข้าไปในมดลูก ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยมากและยังช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนด้วย แต่ต้องกินยานี้ทุกวัน ข้อเสียคือ ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยในระยะแรกของการใช้ ส่วนมากจะใช้ในกรณีคลอดบุตรใหม่ ๆ และต้องการให้นมบุตร แต่ถ้าเราใช้ยาคุมกำเนิดทั่ว ๆ ไปที่รวมเจสตาเจนและโปรเจสเตอโรน (ดีในแง่ของการยับยั้งการตกไข่) ก็มีข้อเสียคือ ทำให้น้ำนมน้อยลง จึงควรใช้ยาคุมกำเนิด Desogestrel ซึ่งมีเจสตาเจนอย่างเดียว คือทั้ง Desogestrel และ Levonorgestrel เป็นกลุ่มเจสตาเจน ในระยะแรกจะมีเลือดออกกะปริดกะปรอยสักระยะหนึ่งแล้วก็หาย อาจใช้ในกรณีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ และต้องการให้นมบุตร

          4. ยาคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นยาที่มีความแรงของตัวยาและต้องให้แพทย์สั่งในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจไม่ได้ป้องกัน หรือมีความเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา ยานี้ต้องกินภายใน 72 ชม. หลังการมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งกินยาได้เร็วเท่าไหร่ก็จะปลอดภัยมากเท่านั้น วิธีคุมกำเนิดวิธีนี้ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ เนื่องจากจะมีอาการข้างเคียงมาก อีกทั้งประสิทธิภาพไม่ดีพอ อาการข้างเคียงก็อย่างเช่น ทำให้ตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

          5. คุมกำเนิดแบบฉีด 3 เดือน เป็นยาฉีดที่มีฮอร์โมนเจสตาเจน โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่สะโพกหรือต้นแขน มีผลควบคุมไม่ให้ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน มีความปลอดภัยในการคุมกำเนิดสูงและช่วยลดอาการปวดท้องระหว่างมีรอบเดือน แต่เป็นยาที่มีฮอร์โมนสูง จึงต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ ยานี้เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ระยะแรกของการฉีดอาจมีประจำเดือนกะปริดกะปรอย แต่ไม่เป็นอันตราย เมื่อฉีดไปสักระยะอาจไม่มีประจำเดือนเลย ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ เป็นอาการที่พบได้จากการใช้วิธีนี้

          6. ฝังไว้ที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นแท่งพลาสติก มีขนาดเท่าไม้ขีด มีฮอร์โมนเจสตาเจน โดยใช้การใส่เข้าไปที่ต้นแขนใต้ผิวหนังของผู้หญิง ป้องกันไข่ตกและป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าไปในรังไข่ หลังจาก 3 ปี ก็ให้แพทย์เอาออก เป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่วิธีนี้อาจทำให้มีแผลเป็นเล็ก ๆ และมีเลือดออกกะปริดกะปรอยในระยะแรก เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็จะหาย

ยาคุม



          7. การใส่ห่วง เป็นห่วงที่ทำจากพลาสติกขนาดเล็กและมีขดลวดทองแดงเล็กๆ (Copper-T) พันรอบห่วง ใช้สำหรับคุมกำเนิดอย่างเดียว โดยผู้หญิงจะใส่ห่วงในช่วงมีรอบเดือน เพราะใส่ง่าย มีอายุคุมกำเนิดได้ถึง 5 ปี เป็นห่วงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและเจสตาเจนน้อย และอาจพบแพทย์ระยะแรกเพื่อตรวจห่วง มีจำหน่ายในประเทศเยอรมนี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2003 ส่วนห่วงอีกชนิดหนึ่งเป็นห่วงที่มีฮอร์โมนเจสตาเจน ใช้ได้ทั้งคุมกำเนิด ลดอาการปวดประจำเดือนและอาการประจำเดือนมามาก ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของมดลูกบางชนิด

          8. การวัดฮอร์โมนตกไข่ เป็นวิธีทดสอบปัสสาวะของผู้หญิงโดยการใช้แท่งตรวจจุ่มลงไปในปัสสาวะเพื่อตรวจสอบฮอร์โมนในปัสสาวะ และคำนวณวันที่ไข่จะตก แต่เป็นวิธีที่ไม่ค่อยปลอดภัย เพราะวัดเพียงไม่กี่วันของแต่ละเดือน ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีต้องการมีบุตรมากกว่า คือรู้วันตกไข่เพื่อมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงวัน

          9. การวัดอุณหภูมิ เพื่อความมั่นใจในการคุมกำเนิด จำเป็นต้องหมั่นวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน ในช่วงเวลาเดียวกันและในตำแหน่งเดิม เพื่อจะได้รู้วันไข่ตกที่แน่นอน เพราะในระยะ 1-2 วัน หลังไข่ตก อุณหภูมิของร่างกายจะขึ้นสูงมากกว่า 0.2 องศา ซึ่งนั่นหมายถึงปลอดภัย ข้อดีคือ ไม่เจ็บปวดและประหยัด ข้อเสียคือ เหมาะสำหรับผู้หญิงมีรอบเดือนสม่ำเสมอและไม่มีไข้เท่านั้น

         10. นับวันจากปฏิทิน เป็นวิธีที่ผู้หญิงต้องมีปฏิทินประจำตัว เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก เหมาะกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอ (28 วัน) แต่ช่วงไข่ตกก็ต้องใช้วิธีอื่นคุมกำเนิด โดยเฉลี่ยของการผิดพลาดคือ 9 คน จาก 100 คน ที่พลาดจนเกิดการตั้งครรภ์

          11. สังเกตมูกจากปากมดลูก เป็นวิธีคุมกำเนิดอย่างธรรมชาติและเป็นวิธีที่ประหยัด โดยผู้หญิงต้องสังเกตมูกตกขาวจากปากมดลูก (Cervical Mucus) ทุกวันและจดโน้ตไว้เพื่อดูวันที่ไข่ตก และในระหว่างที่มีการตกไข่ก็ต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น แต่อาจคลาดเคลื่อนได้หรือแปลผลผิด เช่น ในกรณีที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของช่องคลอด

          12. วิธีคุมกำเนิดแบบ Sympto Thermal เป็นวิธีคุมกำเนิดอย่างธรรมชาติ โดยการผสมผสานระหว่างอุณหภูมิและการสังเกตมูกตกขาว วิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัยถ้าผู้หญิงหมั่นสังเกตตัวเอง แต่ถ้ามีไข้หรือมีการอักเสบของช่องคลอดก็จะทำให้แปลผลผิดได้ และระหว่างวันที่ไข่ตกก็จะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

          13. Coitus Interruptus เป็นวิธีที่ฝ่ายชายหลั่งอสุจิข้างนอกหลังการมีเพศสัมพันธ์ แต่สเปิร์มอาจเล็ดลอดออกไปได้ก่อนหน้านั้น จึงไม่แนะนำเพราะไม่ปลอดภัย จากสถิติผู้หญิง 100 คน มีจำนวน 4-18 คน ที่ผิดพลาดจนตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้

          14. การทำหมันชาย วิธีนี้ใช้การผ่าตัดเพียงนิดเดียวในผู้ชายเพื่อตัดท่ออสุจิ เหมาะกับผู้ชายที่ไม่ต้องการมีลูกอีก ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูง

          15. การทำหมันหญิง คือกรรมวิธีการตัดบางส่วนหรือแยกท่อนำไข่ออกจากกันทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ การแก้ไขเพื่อให้ท่อนำไข่สู่ภาวะปกติก็ทำได้ แต่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์

ยาคุม



ข้อแนะนำจาก นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล

          อย่างไรก็ตาม ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อสื่อสารถึงผู้หญิงไทยในการคุมกำเนิดด้วยวิธีใดที่เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ ตัวเองเหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบไหน วิธีคุมกำเนิดต่าง ๆ มีหลายวิธี หลังจากเราได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วจะได้เลือกวิธีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เศรษฐกิจและสังคมของตัวเอง

          อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ว่าวิธีคุมกำเนิดนั้น ๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือไม่ รวมทั้งระบบรอบเดือนด้วย ที่สำคัญคือการคุมกำเนิดต้องเป็นการร่วมมือระหว่างสามีภรรยามากกว่าการทำเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะถ้ายังอยู่ในช่วงวัยที่ไม่พร้อม ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดหรือป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เป็นความรู้ที่ควรมีและต้องนำไปปฏิบัติให้ได้ผล

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก
 
ฉบับวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 วิธีคุมกำเนิด... ที่คุณเลือกได้ อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2564 เวลา 23:05:31 82,330 อ่าน
TOP
x close