x close

รู้จักโครงการ . . . เรียนฟรี 15 ปี





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์มติชน

           หลังคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติไฟเขียวกับนโยบาย "เรียนฟรี 15 ปี" อย่างมีคุณภาพ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก พร้อมๆ กับเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมาไขข้อข้องใจให้ทราบกันค่ะ...

 ที่มาของโครงการ

           "โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพให้มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด" เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงเป็นคำมั่นไว้ต่อรัฐสภา 

           คำว่า ฟรี 15 ปี คือ ฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้กับทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลค่าเล่าเรียนฟรี 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงเรียนเอกชนรัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือมากขึ้นโดยผู้ปกครองจ่ายลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 30 ถ้าเด็กคนไหนสละสิทธิ์จะมีใบประกาศเกียรติคุณให้ โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปพัฒนาโรงเรียนที่ด้อยโอกาสพัฒนาถึง 600 โรงเรียนทั่วประเทศ

           โดยในส่วนของงบประมาณที่รัฐช่วยเหลือนั้นมี 5 ส่วนด้วยกัน คือ 

           • ค่าเล่าเรียน

           • แบบเรียน

           • เสื้อผ้า

           • ค่าอุปกรณ์การเรียน

           • กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 

          โดยจะได้รับเงินสดไปจัดซื้อเอง 2 ส่วน คือ ค่าเสื้อผ้าและค่าอุปกรณ์การเรียน 

           ทั้งนี้ โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ จึงเป็นโครงการที่นอกจากสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาและการลงทุนด้านปัญญา ยังเป็นโครงการที่ช่วยลดภาระของผู้ปกครอง และเปิดโอกาสให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม โดยมีกำหนดการเปิดใช้คือ เมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1/2552

 วัตถุประสงค์ของโครงการ 

           เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สําหรับรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

 สาระสําคัญของนโยบาย

           คณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน (เพิ่มเติมสําหรับการศึกษาของเอกชน) หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามแผนงานเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี

 สําหรับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีดังนี้…

           • ค่าหนังสือเรียน 4,203,370,800 บาท

           • ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,531,983,800 บาท

           • ค่าเครื่องแบบนักเรียน 3,158,678,100 บาท

           • ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2,117,506,400 บาท

           • รวมทั้งสิ้น 11,011,539,100 บาท

           ซึ่งในแต่ละรายการมีรายละเอียด ดังนี้

 หนังสือเรียน

           หนังสือเรียนมีรายละเอียดดังนี้

           1. ระดับก่อนประถมศึกษา ใช้หนังสือเสริมประสบการณ์สําหรับเด็กปฐมวัย

           2. ระดับประถมศึกษา และระดับมั ธยมศึกษา ใช้หนังสือเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระทุกระดับชั้น โดยมีอัตราค่าหนังสือดังนี้ . . .

           • ก่อนประถมศึกษา 200.00 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 483.20 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 347.20 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 365.60 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 580.00 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 424.00 บาท/คน

           • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 496.00 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 739.20 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 564.80 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 560.00 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 1,160.80 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 805.60 บาท/คน

           • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 763.20 บาท/คน

 อุปกรณ์การเรียน

           อุปกรณ์การเรียนที่จําเป็นสําหรับนักเรียน ประกอบด้วย แบบฝึกหัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ (ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) สมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด เครื่องมือเรขาคณิต วัสดุฝึก ICT (CD) สําหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และกระดาษ A4 สีเทียน ดินน้ำมันไร้สารพิษ สําหรับผู้เรียนระดับก่อนประถมศึกษาในอัตรา ดังนี้

           • ก่อนประถมศึกษา 100 บาท/ภาคเรียน

           • ประถมศึกษา 195 บาท/ภาคเรียน

           • มัธยมศึกษาตอนต้น 210 บาท/ภาคเรียน

           • มัธยมศึกษาตอนปลาย 230 บาท/ภาคเรียน

 เครื่องแบบนักเรียน

           เครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วย เสื้อ, กางเกง และกระโปรง คนละ 2 ชุด/ปี ในอัตรา

           • ก่อนประถมศึกษา 300 บาท/คน

           • ประถมศึกษา 360 บาท/คน

           • มัธยมศึกษาตอนต้น 450 บาท/คน

           • มัธยมศึกษาตอนปลาย 500 บาท/คน

           • อาชีวะศึกษา 1,000 บาท/คน

           กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถซื้อเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ชุดกีฬาได้ กรณีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่ต่างไปจากชุดนักเรียนปกติและราคาสูงกว่าที่กําหนด วงเงินดังกล่าวอาจซื้อได้เพียง 1 ชุด 

           อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองมีสิทธิจะเลือกซื้อชุดนักเรียนของร้านค้าใดก็ได้ หรือจะรวมกลุ่มกันจ้างกลุ่มแม่บ้านในชุมชนตัดเย็บให้ก็ได้ เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์การเรียน ผู้ปกครองจะเลือกซื้ออุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ ไม่มีการบังคับ กระทรวงแค่ให้แนวทาง โดยจัดทำรายการแนะนำอุปกรณ์ที่ควรซื้อ โดยจะแบ่งจ่าย 2 ครั้ง

 กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

           กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สถานศึกษา จัดขึ้น ประกอบไปด้วย

           1. กิจกรรมวิชาการ 
           2. กิจกรรมคุณธรรม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด 
           3. ทัศนศึกษา 
           4. การบริการสารสนเทศ/ICT 

           ทั้งนี้ ในการพิจารณากําหนดกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม ต้องให้ภาคี 4 ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียน) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการพิจารณา โดยที่ผลการพิจารณาต้องไม่เป็นการรอนสิทธิ์ของเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่พึงจะได้รับ สำหรับงบประมาณกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ต่อนักเรียน 1 คน มีดังนี้

           • ก่อนประถมศึกษา 215 บาท/ภาคเรียน

           • ประถมศึกษา 240 บาท/ภาคเรียน

           • มัธยมศึกษาตอนต้น 440 บาท/ภาคเรียน

           • มัธยมศึกษาตอนปลาย 475 บาท/ภาคเรียน

 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

           1. นักเรียนสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการสนับสนุนรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

           2. นักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนหนังสืออุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียนครบทุกคน

           3. สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

           4. ผู้ปกครองนักเรียนได้รับการบรรเทาภาระค่าครองชีพ เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายในเรื่องหนังสือแบบเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สามารถนําเงินส่วนนี้ไปใช้ในชีวิตประจําวันในเรื่องอื่นๆ ได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

           อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ไปคิดระบบป้องกันเรื่องนี้ โดยอาจกำหนดให้ผู้ปกครองต้องนำใบเสร็จ หรือชุดนักเรียนที่ซื้อมายืนยันกับโรงเรียน รวมทั้งให้คิดระบบติดตามตรวจสอบด้วย โดยอาศัยกลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ  

           นอกจากนั้นจะให้มีการรณรงค์ให้นักเรียนที่สามารถช่วยตัวเองได้สละสิทธิ์ในการรับเงินค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยมีเป้าหมายว่า จะนำเงินที่เหลือจากการสละสิทธิ์ไปใช้พัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาส และยากจนทั่วประเทศ

           นอกจากนี้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ. ได้ตั้งคณะติดตามการดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปี ขึ้นไป เพื่อวิเคราะห์คำถามต่างๆ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลและแก้ไขปัญหาด้วย ตลอดจนจะเปิดศูนย์อำนวยการ เพื่อเผยแพร่และตอบคำถามต่างๆ โดยจะมีการนำคำถามยอดฮิตลงในเว็บไซต์ obec.go.th ของ สพฐ. ทั้งนี้หากผู้ปกครองและนักเรียนมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนการศึกษา 1579



คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
obec.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโครงการ . . . เรียนฟรี 15 ปี อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2552 เวลา 15:22:07 506,460 อ่าน
TOP