x close

จากไข้หวัดใหญ่ Mexico ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่


จากไข้หวัดใหญ่ Mexico ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 บทเรียนสาธารณสุขไทย

          สัปดาห์ที่ผ่านมามีภาวะโรคติดต่อที่เป็นข่าวไปทั่วโลกคือ ไข้หวัดใหญ่ Mexico จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 โดยมีกำเนิดจากเชื้อไข้หวัดของหมู ที่กลายพันธ์ โดยล่าสุดเปลี่ยนชื่อเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ "ไม่หมู" เป็น "ไข้หวัดใหญ่ 2009" ซึ่งยังคงสร้างความ "หวาดระแวง" ไปทั่วโลกผ่านสื่อมวลชนนานาชาติออกข่าวทุกวันจนแทบทุกบ้านรู้จักชื่อดี แม้อาจไม่เข้าใจรายละเอียดของโรคมากนัก และยังมีข่าวแปลกๆ ตามมาหลายรูปแบบ เช่น บีบีซีรายงานว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ขอให้แมนนี่ ปาเกียว ฮีโร่ขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งสยบ ริกกี้ ฮัตตัน นักชกอังกฤษในการแข่งขันไฟต์หยุดโลก ที่นครลาสเวกัส รัฐเนวาดา อย่าเพิ่งกลับประเทศ ด้วยเกรงว่าคณะจะนำเชื้อมาแพร่กับประชาชนจำนวนมหาศาลที่มารอรับ จนต้องเลื่อนงานฉลองเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นไลต์เวลเตอร์เวตของไอบีโอไปก่อน       

          องค์การอนามัยโลก เปิดเผยตัวเลขล่าสุดของผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 พุ่งแตะ 1,893 คน ใน 23 ประเทศ (8 พฤษภาคม) โดยประเทศที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด คือ เม็กซิโก และสหรัฐฯ ในประเทศไทยเองแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีโรคนี้ปรากฏ แต่นับว่ามีความสำคัญเพราะทำให้เกิดการเตรียมพร้อมของระบบสาธารณสุขต่อการระบาดของโรคใหญ่ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในโลกนี้ได้ในอนาคตอย่างจริงจัง และรัฐบาลยังได้โอกาสเป็นเจ้าภาพให้กลุ่มรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 มาประชุมหารือเรื่องนี้ในไทยระหว่างวันที่7-8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหานี้อีกด้วย


ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่


          ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ประธานวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ราชวิทยาลัยฯ ที่ตั้งขึ้นโดย "แพทยสภา" ได้ออกแถลงข่าวให้ความรู้นับแต่วันแรกๆ ของการระบาดโดยมีสาระสำคัญพอสรุปได้ง่ายๆ คือ

          1. โรคนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีการเกิดแรกเริ่มจากหมูก่อนจะกลายพันธ์มาระบาดในมนุษย์และมีรายงานครั้งแรกใน Mexico โดยมีหลักฐานว่ามีผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวและมีความต้านทานต่ำ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่แข็งแรงดีก็มีรายงานการเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

          2. มีการระบาดต่อเนื่องในประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐอเมริกาและมีรายงานกระจายไปทั่วโลก กว่า 23 ประเทศ ทำให้เกิดความ "หวาดกลัว" โรคเฉพาะเมื่อสื่อมวลชนกระจายข่าวสารไปทั่วโลกยิ่งเกิดการตระหนกมากขึ้น แม้การติดเชื้อจะมีจำนวนมากแต่การเสียชีวิตเกิดขึ้นไม่มากนัก

          3. สามารถใช้ยาต้านไวรัสรักษาได้หากแพทย์วินิจฉัยได้ในระยะเริ่มต้น และประเทศไทยมีการเตรียมยาพร้อมจำนวนมากโดย องค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ ท่านผู้อำนวยการ (นพ.วิทิต อรรถเวชกุล) ได้ให้ข้อมูลว่ามีสำรองไว้หลายแสนเม็ดเพียงพอหากเกิดการระบาดแน่นอนอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง

          4. ระบบการป้องกันโรคระบาดถูกนำมาใช้ในสนามบินนานาชาติทั่วประเทศไทย โดยมีการจัดหาเครื่องสแกนอุณหภูมิเพื่อหาผู้ป่วยเป็นไข้ก่อน แล้วจึงมาแยกว่าเป็นจากเชื้อนี้หรือไม่ โดยมีการรายงานว่าสามารถตรวจแยกได้ในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง เท่านั้นหากไม่พบหลักฐานว่าเป็นเชื้อนี้ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยรอติดตามอาการอีก 7 วัน และยังไม่พบผู้ที่เป็นในขณะนี้

          5. คนไทยผู้กลับมาจากพื้นที่ที่ระบาดแม้ว่าจะไม่มีไข้ก็ต้องติดตามไป 7 วัน เช่นกันโดยควรแยกตัวจากผู้อื่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ฯลฯ ก่อนจนแน่ใจ หากพ้น 7 วัน ไปแล้วถือได้ว่าปลอดภัย

          6. กรณีหากคนไทยที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ระบาดนั้น ถึงจะสบายดีก็มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแม้ว่าจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่ได้แต่ทำให้ลดโอกาสการเกิดไข้หวัดปกติซึ่งเกิดได้ง่ายกว่า จะได้ไม่เกิดปัญหาโดนกักตัวจากโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นที่มีไข้ขึ้นได้โดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อผู้เดินทาง ดังนั้นควรพิจารณาเป็นรายๆ โดยปรึกษาแพทย์ เพื่อดูข้อบ่งชี้ว่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่เสียก่อน

          7. ในพื้นที่ที่มีโอกาสติดเชื้อง่ายๆ ที่สำคัญได้แก่ พื้นที่ที่มีอากาศปิด เช่น ในรถปรับอากาศ, ในเครื่องบิน, ในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ ในกรณีที่มีผู้ติดเชื้ออยู่สามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้การใช้ผ้าปิดปากและจมูก ป้องกันละอองเชื้อจากการไอ จาม จะช่วยลดอุบัติการณ์ได้รวมถึงการล้างมือเมื่อสัมผัสพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในที่ไม่แน่ใจความสะอาด ทั้งนี้ยังช่วยลดโรคติดต่ออื่นๆ ได้อย่างดีด้วย

          8. กรณีมีผู้เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุและมีโอกาสเสี่ยง เช่นสัมผัสกับบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดควรจะต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป
 


ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่



          บทเรียนครั้งนี้สร้างความ "ตื่นตัว" ต่อการระบาดของโรคในระดับโลก โดยเป็นครั้งแรกที่รุนแรงต่อจากการระบาดของไข้หวัดนกในปีที่ผ่านมา และส่งให้เห็นอิทธิพลของข่าวสารสุขภาพ ที่ให้ทั้งแง่บวกคือการ "ให้ความรู้ รับรู้" และ "ป้องกัน" ถึงในเชิงลบ คือ "การตื่นตระหนก หวาดกลัว" นำไปสู่การ "กักกัน" และ "ถูกรังเกียจ" ได้ ดังเช่นในข่าวหลายกรณี สำหรับทิศทางของการระบาดแม้ว่ามีผู้ให้ความเห็นว่าโรคนี้ไม่น่าจะเกิดในประเทศไทย เพราะอากาศร้อนไม่เหมาะสมนั้น ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับและการระบาดจากหมูสู่คน หรือคนกลับไปสู่หมูก็ยังไม่มีรายงานมาก่อน แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ข้อมูลเพิ่มเติมท่านศึกษาได้ที่เว็บไซด์ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ www.rcpt.org ที่ผมได้บันทึกการบรรยายของ ศ.นพ.อมรฯ เป็นเป็นไฟล์วีดีโอคลิปขนาด 9 นาที ไว้ให้แล้วครับ 

          สิ่งที่แพทยสภาคาดหวังคือสนับสนุนประชาชนให้เห็นความสำคัญของการติดตามข่าวสารสุขภาพ รวมถึงรู้จักนำมาคิด วิเคราะห์ข้อมูล ประยุกต์เพื่อใช้ดูแลป้องกันตนเองก่อนที่จะต้องใช้บริการของรัฐที่มีอยู่จำกัด โดยพี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนจะมีบทบาทช่วยประชาชนมากในการนี้ ในท้ายสุดข้อที่ดีมากๆ ของการระบาดครั้งนี้ คือช่วยมาลดพื้นที่นำเสนอข่าวความขัดแย้ง บรรเทาความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจของหลากผู้คนหลายสีในสังคมยุคนี้ได้อย่างดีทีเดียวครับ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นพ.อิทธพร  คณะเจริญ
รองเลขาธิการแพทยสภา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากไข้หวัดใหญ่ Mexico ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2552 เวลา 15:25:50 7,960 อ่าน
TOP