x close

กรุงป่วยแล้ว 2 ติด ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา
กรุงป่วยแล้ว 2 ติดชิคุนกุนยา

กรุงป่วยแล้ว 2 ติดชิคุนกุนยา สธ.เครียด ชี้โรคเก่า ฟื้นระบาด (ข่าวสด)

          เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ มีการประชุมโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่ออุบัติใหม่ สำหรับแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข โดย น.พ.ภาสกร อัตรเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมว่า ได้รับรายงานจากรัฐบาลโปรตุเกส เมื่อคืนวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีชาวโปรตุเกส 1 ราย เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไทย และป่วยเป็นโรคลีเจียนแนร์ หรือ โรคสหายสงคราม จากการซักประวัติเส้นทางการเดินทางในประเทศไทย พบว่า นักท่องเที่ยวรายนี้ บินไปและกลับเป็นเที่ยวบินตรงมาประเทศไทย ไม่ได้แวะพักที่ประเทศอื่น และในระหว่างอยู่ในประเทศไทย เข้าพักโรงแรม 2 แห่ง คือ ในกรุงเทพฯ และอีกแห่งในภาคใต้ เป็นโรงแรมระดับต่ำกว่า 4 ดาว ดังนั้นจึงถือว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกของปีนี้ที่ติดเชื้อในประเทศไทย แต่กลับไปป่วยที่ประเทศโปรตุเกส

          น.พ.ภาสกร กล่าวว่า สำหรับโรคสหายสงคราม เป็นโรคติดต่อจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาศัยอยู่ในหอผึ่งเย็นของเครื่องปรับอากาศที่สกปรก เชื้อจะแพร่ผ่านอากาศที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ ในแต่ละปีประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ไม่ถึง 10 ราย และเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกลุ่มเสี่ยงที่โรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น สูบบุหรี่ ซึ่งตรงกับผู้ป่วยชาวโปรตุเกสรายนี้ที่สูบบุหรี่ โดยอาการของโรค คือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไอ และมีไข้สูง อาจมีอาการหอบในบางราย แต่เชื้อไม่สามารถแพร่ระบาดหนักเหมือนไข้หวัดใหญ่ได้ 

          ด้าน ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า โรคอุบัติใหม่ ส่วนใหญ่เกิดจากสัตว์ โดยพบว่าโรคระบาดใหม่ร้อยละ 75 จะมาจากสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่นที่ ที่ถูกลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่ผ่านการกักกันโรค จะมีความเสี่ยงสูง และกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ โดยโรคที่มีความรุนแรงที่เกิดจากสัตว์ เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบนิป้าไวรัส ขณะนี้พบว่าที่ จ.สมุทรสาคร พบค้างคาวแม่ไก่นับแสนตัว และเก็บเชื้อตรวจแล้ว พบว่ามีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้ น่าเป็นห่วงเพราะชาวบ้านแถบนั้น หากมีการซื้อขาย และบริโภคเป็นอาหาร อาจจะทำให้ติดเชื้อและเกิดการระบาดขึ้นได้ หรืออย่างไข้สมองอักเสบ เวสท์ไนล์ ที่ระบาดในประเทศมาเลเซีย จากฟาร์มหมู ที่ต้องเฝ้าระวังว่าอาจเกิดระบาดเข้ามายังประเทศไทยได้ 

          ขณะที่ รศ.(พิเศษ) น.พ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต่อจากนี้อาจจะได้เห็นโรคระบาดที่เคยหายไปกลับมาใหม่ เพราะภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติหมดไป คนรุ่นใหม่จึงไม่มีภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดโรคขึ้นได้ ประกอบกับไม่มีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง บางโรคต้องฉีดทุก 10 ปี เช่น ไอกรน ที่เริ่มพบการรายงานตัวเลขผู้ป่วยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 25-44 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่เคยพบรายงาน ที่น่าเป็นห่วงคือ คนกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน จะแสดงอาการมากกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อที่อยู่ในผู้ใหญ่ หรือ โรคหัด เป็นโรคที่เคยระบาดในอดีต แพทย์จบใหม่อาจจะวินิจฉัยผิด และรักษาไม่ถูกจุด เพราะเป็นโรคที่หายไปนานแล้ว โดยจะต้องเฝ้าระวังในสถานที่ที่อยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น หอพัก และค่ายทหาร เป็นต้น 

          สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น วันเดียวกัน ที่หอประชุมเมืองนครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รมว. สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มี 2 โรคที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และอีกโรคที่กำลังเป็นปัญหาหนักในภาคใต้ คือโรคจากยุงลาย สายพันธ์ยุงสวน หรือ ชิคุนกุนยา อัตราแพร่ระบาดมาก แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการเจ็บป่วยรักษาได้ตามอาการ สัปดาห์หน้าในระดับกระทรวง อาจต้องประกาศให้โรคนี้ต้องแจ้งเช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ขณะนี้ระบาดกว้างขวางและกำลังจะทั่ว 14 จังหวัดใต้ 

          "สิ่งที่แพทย์กลัวมากที่สุดในขณะนี้ คือ การติดเชื้อ พร้อมกันทั้งไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา แพทย์ติดตามตลอดว่าจะกลายพันธุ์หรือไม่ แต่โดยธรรมชาติพบว่า 50 ปีที่แล้ว โรคนี้มาในประเทศไทย และหายไป แต่มาในวันนี้กลับพบว่า มีอาการหนักกว่าเดิม เป็นการพัฒนาความรุนแรงของเชื้อ" รมว.สาธารณสุข กล่าว 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในภาคใต้อยู่ในขณะนี้ ทางสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 19 พ.ค. มีผู้ป่วยต้องสงสัยโรคชิคุนกุนยา สะสม 20,541 ราย ใน 23 จังหวัด ได้แก่ กทม. 2 ราย, นนทบุรี 1 ราย, สระบุรี 2 ราย, นครปฐม 1 ราย, สุพรรณบุรี 1 ราย, สมุทรปราการ 2 ราย, มุกดาหาร 1 ราย, ศรีสะเกษ 1 ราย, อุดรธานี 1 ราย, อำนาจเจริญ 2 ราย, พะเยา 1 ราย, เพชรบูรณ์ 1 ราย, สุราษฎร์ธานี 1 ราย, นครศรีธรรมราช 9 ราย, ตรัง 582 ราย, พัทลุง 147 ราย, กระบี่ 5 ราย, ภูเก็ต 5 ราย, ปัตตานี 2,750 ราย, ยะลา 1,925 ราย, นราธิวาส 6,599 ราย, สงขลา 7,988 ราย, และ สตูล 97 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต 

          สำนักระบาดวิทยาระบุด้วยว่า จากการสอบ สวนโรค พบว่าผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ที่พบในกทม. ได้รับรายงานจาก ร.พ.เวชศาสตร์เขตร้อน รายแรกเพศชาย อายุ 38 ปี อาศัยอยู่ที่แขวง คลองจั่น เขตบางกะปิ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ด้วยอาการเป็นไข้ ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เข้ารับการรักษาวันที่ 15 พ.ค. ขณะนี้อาการดีขึ้น อยู่ระหว่างการรอผลตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ และจากการซักถามประวัติพบว่า เคยเดินทางไป อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 21 ปี อาศัยอยู่ที่เขตพญาไท เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. เข้ารับการรักษาวันที่ 15 พ.ค. รอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการเช่นกัน และมีประวัติเคยเดินทางไป จ.ตรัง

          นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยต้องสงสัยที่ จ.จันทบุรี 1 ราย อายุ 20 ปี เป็นทหารเกณฑ์ จากค่ายตากสิน อ.เมืองจันทบุรี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ด้วยอาการไข่ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดข้อ สอบประวัติพบว่า เคยเดินทางกลับบ้านที่ จ.ยะลา ส่วนที่ จ.ชุมพร พบผู้ป่วยต้องสงสัย 138 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทาง อบต.เขาน้อย ระดมกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ออกให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งแจกทรายอะเบท และพ่นควันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ภายหลังที่แพทย์ร.พ.ปราณบุรี ตรวจสอบคนไข้ 1 ราย มีอาการคล้ายกับโรคชิคุนกุนยา เป็นผู้ป่วยหญิง เคยเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ จ.ระยอง เมื่อกลับมามีไข้ ปวดศีรษะ และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย แพทย์เจาะเลือดและส่งไปพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แล้ว แต่ยังไม่ทราบผล





ขอขอบคุณจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thaihealth.or.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรุงป่วยแล้ว 2 ติด ชิคุนกุนยา อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2552 เวลา 15:40:19 7,848 อ่าน
TOP