x close

รถยนต์ไฮโดรเจน คันแรกของไทย วิ่งฉิวโดยไม่ง้อน้ำมัน

รถยนต์ไฮโดรเจน

รถยนต์ไฮโดรเจน

รถยนต์ไฮโดรเจน คันแรกของไทย วิ่งฉิวโดยไม่ง้อน้ำมัน (เดลินิวส์)

         ขณะที่ทุกๆ ประเทศ ทั่วโลกกำลังคิดค้นพลังงานทดแทนอย่างขะมักเขม้น ด้านประเทศไทยของเราก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดมความคิดในการหาทางออกเพื่ออนาคต . . .
 
         และแล้วความพยายามก็เป็นผล เมื่อคนไทยสามารถ ผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนได้เป็นผลสำเร็จ โดยมี พล.อ.ท.มรกต ชาญสำรวจ เป็นหัวหน้าทีมโครงการวิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดร เจนที่แยกจากน้ำ และทีมวิจัยอีก 14 ชีวิต ภายใต้ บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 
 
         อวดสายตาผู้คนไปเมื่อวันก่อนที่ทำเนียบ ก่อนการประชุม ครม. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจ และทดลองขับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงคันแรก ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยขนาด 4 ที่นั่ง ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย
 
         เส้นทางของรถยนต์คันนี้มีความเป็นมาอย่างไร หัวหน้าทีมวิจัยวัย 75 ปี แต่ยังมีไฟอยู่ เล่าให้ฟังว่า ใช้เวลาในการคิดค้นกว่า 7 ปี ตั้งแต่สมัยที่น้ำมันเริ่มมีราคาสูงขึ้น จากการศึกษาเทคโนโลยีของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างประเทศแคนาดา มีการทดลองในรูปแบบต่างๆ และสะสมความรู้เอาไว้ รวมทั้ง มีทีมงานที่ทุ่มเทตั้งใจทำงานกันทุกคน จนมาเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังหลังจากที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ความสนใจและให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ จำนวน 14 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา

รถยนต์ไฮโดรเจน

 
         หัวใจในการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฮโดรเจนอยู่ที่ เซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นเยื่อบางๆ ใสๆ เหมือนแผ่นกันแสงคล้ายฟิล์มในรถยนต์ เรียกว่า MEA ที่ย่อมาจาก Membrane Electrode Assembly เรียกเป็นภาษาไทยว่า เยื่อแลกเปลี่ยนโปรตรอน โดยทั้ง 2 ด้านของ MEA จะประกอบด้วยแผ่นไบโพลา (Bipola Plate) ที่ทำจากแกร์ไฟต์ ประกอบเรียงกันเป็นเซลล์เชื้อเพลิง 1 สแตค (Stack) โดยแผ่นไบโพลา จะทำหน้าที่ส่งไฮโดรเจนเพื่อเข้า ไปแยกที่ MEA ให้เป็นไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ และทำหน้าที่รวมกับออกซิเจนทำให้เกิดเป็นน้ำออกมา
 
         "เมื่อไฮโดรเจนผ่านเข้ามาจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นโดยอาศัยแผ่นไบโพลาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดอิเล็ก ตรอนอิสระที่เป็นกระแสไฟฟ้าเคลื่อนผ่านตัวนำไฟฟ้าส่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ และเมื่ออิเล็กตรอนไหลวน ครบวงจรจะกลับมารวมกับไฮโดรเจนประจุบวกและออกซิเจนที่อยู่ในอากาศเกิดเป็นน้ำออกมา ซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่เกิดมลพิษและก่อให้เกิดเสียงดังของเครื่องยนต์แต่อย่างใด"
 
         พล.อ.ท.มรกต กล่าวถึงประสิทธิภาพของรถให้ฟังว่า มีการติดตั้งมอเตอร์ให้ขับเคลื่อนเพลาล้อแทนเครื่องยนต์ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 8 กิโลวัตต์ ที่ติดตั้งอยู่ ส่วนหน้ารถ ลักษณะตัวรถขึ้นรูปจากโครงเหล็ก และตัวถังหุ้มด้วยไฟเบอร์กลาส มีที่นั่งเป็นเบาะหนัง
 
         "โดยรถจะใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 4 กิโลวัตต์ จึงมีกระแสไฟฟ้าเหลือพอที่จะนำไปใช้กับระบบทำความเย็น และเครื่องเสียงภายในรถอีกด้วย และบรรจุไฮโดรเจน 900 ลิตร น้ำหนัก 70 กรัม ใส่ถังไว้ด้านหลังของตัวรถ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 40 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 20-30 นาที จะต้องมีการเติมไฮโดรเจนใหม่อีกครั้ง ซึ่งการขับเคลื่อนของรถไฮโดรเจนจะวิ่งเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับพลังงานของมอเตอร์ที่ใส่เข้าไป สำหรับรถไฮโดรเจนคันนี้จะมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 4 ปี เพราะเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตรอนจะเสื่อมต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ แต่แผ่นไบโพลายังใช้ได้อยู่"
 
         ด้านแหล่งที่มาของไฮโดรเจนนั้น เฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีโรงงานทำแก้ว โรงงานเม็ดพลาสติก โรงงานแยกแก๊ส มีการปล่อยไฮโดรเจนรวมกันแล้วชั่วโมงละประมาณ 20 ตัน ทิ้งไปในอากาศ ไม่มีการนำมาใช้หรือถ้ามีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสามารถนำมากักเก็บไว้ใช้กับรถไฮโดรเจนได้อย่างน้อยกว่าแสนคัน
 
         รถยนต์ไฮโดรเจนคันนี้ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 6 ของโลก ที่สามารถผลิตออกมาใช้งานได้จริงบนท้องถนน หลังจากที่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ผลิตสำเร็จมาแล้ว

รถยนต์ไฮโดรเจน

 
         "หากมีการนำมาใช้ในรถยนต์ทั่วไปเพื่อขับเคลื่อนบนท้องถนน จำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวถังไฮโดรเจนให้บรรจุก๊าซไฮโดรเจนได้มากขึ้น สำหรับป้อนเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนเป็นพลังงานไฟฟ้าในระยะทางที่ไกลขึ้น ยอมรับว่ารถยนต์ไฮโดรเจนคันนี้มีต้นทุนการผลิตรวมแล้วประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แต่หากในอนาคตภาครัฐมีการสนับสนุนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่ต้องศึกษาพัฒนาต่อไป เชื่อว่าต้นทุนการผลิตจะลดลงได้"
 
         หลังจากที่ผลิตรถยนต์ไฮโดรเจน ขนาด 4 ที่นั่ง ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว มีการต่อยอดเพิ่มขึ้น โดย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา มีข้อสรุปว่า รถยนต์ไฮโดรเจนยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ และต้นทุนยังแพงอยู่ จึงมีแนวคิดในการสร้างเป็นรถประจำทางหรือรถเมล์สาธารณะ ขนาด 20 ที่นั่ง ขึ้นไป เพื่อให้บริการประชาชนน่าจะดีกว่า จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคมขึ้น โดยมี ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน เป็นประธาน และได้งบประมาณในการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 20 ล้านบาท
 
         "ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 11 กิโลวัตต์ เพื่อนำมาใช้กับรถประจำทาง ขนาด 20 ที่นั่ง จำนวน 2 คัน โดยใช้คันละ 3 สแตค มีต้นทุนสแตคละประมาณ 3 ล้านบาท ฉะนั้นต้นทุนของรถอยู่ที่เกือบ 10 ล้านบาท ราคานี้เป็นของเทคโนโลยีใหม่ที่ต้นทุนยังสูงอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่มีเทคโนโลยีมารองรับมากกว่านี้ราคาแผงเซลล์เชื้อเพลิงอาจลดลงอยู่ที่ราคาประมาณล้านกว่าบาทต่อคัน ด้านตัวรถต้นทุนอยู่ที่ 1 ล้านบาท จึงถือว่ารถเมล์ 1 คัน ตกอยู่ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เมื่อติดตั้งไฮโดรเจนด้านบนของตัวรถจะอยู่ที่ราคา 5 ล้านบาท ซึ่งราคารถเมล์ที่ใช้กันอยู่นี้ก็ อยู่ที่ราคาประมาณนี้ แต่ก่อมลพิษและเสียงดัง ถ้าน้ำมันขึ้นก็เก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก แต่รถเมล์ไฮโดรเจนไม่ส่งผลกระทบ ดังกล่าว"
 
         รถเมล์ไฮโดรเจนจะแตกต่างจากรถเมล์ทั่วไปคือ มี 6 ล้อ ด้านละ 3 ล้อ มี 2 เพลา เพลาละ 8 กิโลวัตต์ รวมเป็น 16 กิโลวัตต์ เพื่อให้ขับได้แรงขึ้น เร็วขึ้น และมีสมรรถนะสูงขึ้น วิ่งด้วยความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมง ที่เลือกรถขนาด 20 ที่นั่ง เพราะต้องการให้เกิดการคล่องตัวในการใช้งาน หากโครงการผ่านการพิจารณางบประมาณ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ในการปรับปรุงให้สมบูรณ์ ออกใช้งานได้จริง เพราะตัวรถเมล์ไม่ได้มีส่วนประกอบที่ซับซ้อนแต่อย่างใด

รถยนต์ไฮโดรเจน
 
         ส่วนด้านสถานีเติมไฮโดรเจน และเรื่องกฎหมายรองรับการผลิต รวมทั้งการนำมาใช้งานจริงบนท้องถนน คงเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป
 
         พล.อ.ท.มรกต ฝากความหวังไว้ว่า "เมื่อทำเป็นรถเมล์ไฮโดรเจนออกมาได้แล้ว ใช้งานได้จริง อยากให้รถต้นแบบทุกคัน ถูกเผยแพร่วิทยาการในส่วนนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีความสนใจ เพื่อจะได้ต่อยอดในส่วนต่างๆ ต่อไป เพื่อให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ดีขึ้น ราคาต้นทุนจะได้ถูกลง โดยอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนจะได้เป็นความรู้ที่มีการต่อยอดกันต่อไปในเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญเป็นการสร้างงานให้กับคนไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย"

         ผลงานชิ้นโบแดงนี้ ช่วยสร้างศักยภาพให้กับประเทศ และคนไทยไปแล้วในสายตาของชาวโลก คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากขาดการสนับสนุนในเชิงสร้างสรรค์ และจริงใจ!



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย : จุฑานันทน์  บุญทราหาญ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถยนต์ไฮโดรเจน คันแรกของไทย วิ่งฉิวโดยไม่ง้อน้ำมัน อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2552 เวลา 13:47:03 42,435 อ่าน
TOP