x close

อภิสิทธิ์ รับอาชีพนักการเมือง กลายเป็นจำเลยของสังคม

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ



อภิสิทธิ์ รับอาชีพนักการเมือง กลายเป็นจำเลยของสังคม (คมชัดลึก)

          "นายกฯ" รับอาชีพนักการเมืองได้กลายเป็นจำเลยของสังคม เพราะขึ้นชื่อเป็นนักการเมืองมีแต่เรื่องไม่ค่อยดี หาผลประโยชน์ ไม่ใช้อำนาจแก้ปัญหาให้ประชาชน พร้อมเผยความฝันอยากเห็นการเมืองในอุดมคติ ที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ และอยู่ในวิถี้ประชาธิปไตย

          (2 กรกฎาคม) เมื่อเวลา 19.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานในพิธีเปิดสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเมืองไทย ไปทางไหนดี ?" ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นร่วมกับนายคิม แสงทองสุขอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ปี 2526 ด้วย 

          สำหรับเนื้อหาสำคัญของการปาฐกถาพิเศษของนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวระบุว่า ความรู้สึกที่มีต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตอนที่ตนมาเป็นนักศึกษาที่นี่ รหัส 26103922 เป็นช่วงเดียวที่ตนศึกษาปริญญาตรีที่อังกฤษ แต่ช่วงปิดเทอมและเปิดเทอมไม่พร้อมกัน จึงใช้เวลามาสอบที่นี่ได้ตามลำดับ ตนมีโชคช่วยที่ทำให้ตนจบเร็วขึ้น คือ น้ำท่วมที่อังกฤษจนปิดเทอม และสามารถมาเก็บหน่วยกิตที่นี่ได้เร็วขึ้น และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปิดเรียนภาคฤดูร้อนสองภาคจึงเก็บหน่วยได้มากขึ้น ตนเรียนจบที่นี้ใช้เวลา 4 - 5 ปี ทั้งนี้ตนเคยมาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่นี่ด้วย คนที่จบที่นี่ได้รับการยอมรับว่าพร้อมสู้ในการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สร้างโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่มุ่งใฝ่ความรู้

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนสนใจการเมืองเริ่มจากการอภิปรายของสภาที่ถ่ายทอดทางวิทยุที่เริ่มต้นถ่ายทอดปี 2518 - 19 และรู้ทันทีว่าใครทำงานการเมืองโดยขาดความรู้กฎหมายจะทำงานได้ยาก แม้ส.ส.จะจบการศึกษาด้านใดก็ตาม แต่การรู้กฎหมายจะทำงานในหน้าที่ส.ส.ได้มีประสิทธิภาพ พรรคประชาธิปัตย์ปฐมนิเทศส.ส.คือให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมของสภาเพื่อเข้าใจภาครวมการเมืองและวิธีทำงานของรัฐสภา

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตามหัวข้อข้างต้นที่บ่งบอกว่า ความสับสนและความผิดหวังที่ประชาชนมีกับการเมืองนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง หากการเมืองมีระบบที่ดีตอบสนองสิ่งต่างๆ ได้ เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องตั้งหัวข้อแบบนี้ ตนเข้าใจ เพราะตนเป็นส.ส. 17 - 18 ปี ประชาชนน้อยคนจะมองนักการเมืองในทางที่ดี เพราะขึ้นชื่อว่านักการเมืองก็มีแต่เรื่องไม่ค่อยดี หาผลประโยชน์ และใช้อำนาจโดยไม่แก้ปัญหาให้ประชาชน นักการเมืองเป็นจำเลยมาตลอด 

          "มี 2 - 3 อาชีพที่สำรวจแล้วว่าประชาชนไม่ไว้วางใจ นักการเมืองจะติดอันดับต้นๆตลอด มันคือความเจ็บปวดของนักการเมืองอาชีพ และนักการเมืองประชาธิปไตยจะโทษสังคมไม่ได้ ต้องย้อนดูว่าปัญหามันมาจากอะไร ผมอยากเห็นการเมืองไปสู่การเมืองอุดมคติ คือ แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ อยู่ในวิถีประชาธิปไตย เป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และแก้ไขปัญหาของประเทศได้ มีความโปร่งใส เคารพสิทธิ เสมอภาค อยู่ในกระบวนการหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน การเมืองแบบนี้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเกิดขึ้นได้ เพราะผมมองไม่เห็นสังคมไทยจะด้อยกว่าสังคมประชาธิปไตยชาติอื่นในจุดใด ผมเชื่อมั่นว่าคนของเราตื่นตัว และใฝ่ฝันไม่ต่างกับสังคมอื่นๆที่ต้องการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและชี้ชะตาของบ้านเมือง เชื่อว่า คนไทยรักสังคมไทยและไม่แตกต่างกับสังคมอื่นๆ" นายกฯ กล่าว

          นายกฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาอยู่เพียงว่าอะไรคืออุปสรรคไม่ให้เราเดินไปถึงการเมืองในอุดมคติได้ ตนคิดว่าเราผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 และพฤษภาทมิฬ คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้บางช่วงมีเหตุอื่นที่ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย แต่ผลพวงของการต่อสู้ มันทำให้ค่านิยมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกมากขึ้นในสังคม ฉะนั้นการที่ปัจจุบัน เรายึดมั่นเส้นทางประชาธิปไตยมันจะยากที่จะหาคนมาปฏิเสธ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะก้าวไปอีกขั้น ความหมายคือ ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจ สภามาจาการเลือกตั้งของประชาชนและเลือกผู้บริหารสูงสุด รัฐบาลรับผิดชอบกับสภาและประชาชน ทิศทางนี้จะเดินต่อไปและเข้มแข้งขึ้น ตนเห็นว่าความเข้มแข็งเกิดอย่างต่อเนื่อง พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญที่รวบรวมนักการเมืองที่มีความคิดใกล้กันมาอยู่ด้วยกัน นโยบายระดับชาติของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยในการเลือกตั้งมากขึ้น มันคือการเติบโต ประชาธิปไตยแบบต่อเนื่อง  แต่การเมืองที่ไม่ดีและไม่เป็นที่ต้องการนั้น ปัญหา คือ แม้สิ่งในข้างต้นที่ตนกล่าวไว้จะเติบโต แต่ต้องเผชิญของความไม่แน่นอนและการถดถอยทางการเมืองคือการใช้อำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่เป็นประชาธิปไตย

          การรัฐประหารนั้นต้องยอมรับว่าการรัฐประหารแต่ละครั้งในประเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรง เพราะประชาชนส่วนใหญ่เพิกเฉย ตนไม่คิดว่าประชาชนฝักใฝ่รัฐประหาร แต่การเพิกเฉยเพราะบ้านเมืองเดินเข้าสู่ทางตัน ไม่มีทางออก ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่นักการเมืองต้องทบทวนว่าอะไรคือเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหาร หากอ่านประกาศคณะปฏิวัติฉบับแรกจนถึงฉบับนี้ มักใช้คำว่า ทุจริต ใช้อำนาจเกินขอบเขตในระบบราชการ หรือมีการกระทำกระทบสถาบันหลักของชาติ เป็นปัญหาความมั่นคง ตรงนี้ต้องมาทบทวน ทิศทางการเมืองตอนนี้ต้องแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจในทางทุจริตเริ่มแต่เบียดบังงบประมาณที่ซับซ้อนขึ้น การจัดซื้อจัดจ้าง และเสนอราคา จนถึงขั้นทุจริตเชิงนโยบาย เรื่องนี้มันต้องแก้ไข ให้ได้

          นายกฯ กล่าวไปอีกว่า โพลล์บอกว่า สังคมเชื่อว่าการทุจริตคือเรื่องปกติ และยอมรับได้ ยืนยันว่าตราบใดที่ค่านิยมแบบนี้ยังอยู่ การเมืองจะอยู่ในภาวะอันตรายและเสี่ยง ตนไม่คิดว่าสังคมจะยอมรับให้คนใช้อำนาจของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เราพยายามสกัดกั้นการทุจริตมาตลอด เรามีองค์กรตรวจสอบเรื่องนี้ซับซ้อนที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งไม่หยุดการใช้อำนาจในขอบเขต แต่กลับแทรกแซงองค์กรอิสระและกลไกต่างๆของสังคม ระบบการคานอำนาจมันใช้ไม่ได้ จึงเกิดความขัดแย้งออกสู่ถนนและนำไปสู่ความโกลาหลการเมืองจนเกิดการรัฐประหารที่ต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ หากอยากให้การเมืองเดินไปสู่ทิศทางที่ดี ต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ระบบคานอำนาจต้องอยู่ มีภูมิคุ้นกันและทำงานได้ เสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งคือการกำหนดทิศทางนโยบาย แต่จะนำมาชี้ว่า สิ่งนั้นถูกกฎหมายหรือไม่นั้นไม่ได้

          "ไม่มีสังคมประชาธิปไตยที่ใช้เสียงข้างมากมาเป็นใบอนุญาตและทำผิดกฎหมาย ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยืนยันต้องมีเลือกตั้งและเสียงข้างมาก รวมทั้งการคานอำนาจเพื่อเดินหน้าและไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตแต่ต้องไม่หลงว่า การคานอำนาจต้องไม่ให้เกินเลย อย่าคิดว่าการสรรหาและแต่งตั้งไม่มีซื้อเสียงและซื้อตำแหน่ง เพราะมันง่ายกว่าการซื้อประชาชนจำนวนมาก การซื้อเสียงเป็นปัญหาหนักหน่วง แต่เชื่อว่าประชาชนเรียนรู้และฉลาดขึ้น ดีไม่ดีนักการเมืองต่างหากที่ตามประชาชนไม่ทัน" นายกฯ กล่าว และว่า

          การเมืองที่ต้องทำต่อ คือ ยืนยันระบบเลือกตั้งและเสียงข้างมาก และปกป้องระบบการคานอำนาจ ต้องคงอยู่ มาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการนี้ต้องแก้ไข แต่ต้องแก้ไขเชิงระบบพร้อมกันด้วย วัฒนธรรมการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ทิศทางการเมืองไทย คือเคารพหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การเคารพเสียงข้างมากที่มีเหตุผล การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นกำลังมีปัญหาคือ ด้านหนึ่งคิดว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นไม่เป็นไร ขอเพียงบรรลุเป้าหมาย การฆ่าตัดตอนการใช้ความรุนแรงกับยาเสพติดและภาคใต้นั้นพิสูจน์แล้วว่าวิธีเหนือกฎหมายที่หวังผลรวดเร็วนั้น สุดท้ายมันทำไม่ได้ ซ้ำร้ายบางเรื่องเริ่มต้นวงจรความรุนแรงที่แก้ไขได้ยากขึ้น

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น วันนี้ตื่นตัวเยอะ มันคือเรื่องที่ดี ประชาชนต้องเติบโตในเรื่องนี้แต่ต้องตั้งคำถามว่าขอบเขตการใช้สิทธิ การประท้วงนโยบายและผู้มีอำนาจเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ปิดถนน ใช้อำนาจมาต่อรออง มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ใครที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนและแสดงออกได้ แต่อย่าปิดถนนและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตยต้องเคารพรูปแบบ แต่การข่มขู่ไม่มีในระบบประชาธิปไตย เพราะการคัดค้านรัฐบาลนั้นกระทำได้แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

          วันนี้ สังคมมีความแตกแยกและแตกต่าง จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาหาข้อสรุป และวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จะรายงานผลให้ตนรับทราบ และตนโดนสอบถามจากสื่อมวลชนว่าจะเดินทางไปภาคเหนือและภาคอีสานได้ไหม ตนตอบว่าไปได้กล้าพูดว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา แต่คนกลุ่มหนึ่งจะขัดขวางไม่ให้ไปในพื้นที่ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลสมัยนั้นก็กระทำแบบนี้ ไม่ต้องการให้ลงพื้นที่ โยตนไม่เห็นด้วย นักประชาธิปไตยต้องไม่ทำแบบนี้เพราะต้องเปิดโอกาสให้เข้าหาประชาชน หากมั่นใจว่าประชาชนสนับสนุนพรรคของตัวเองก็ควรเปิดโอกาสให้พรรคตรงข้ามไปพบประชาชน การทำแบบนี้มันขัดหลักการประชาธิปไตย หากลงพื้นที่แล้วมีเหตุการณ์ รัฐบาลไม่เป็นอะไร เพราะจะไม่ใช่ความรุนแรงเด็ดขาด แต่มันมีผลกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ 

          ยืนยันว่าวันนี้ทิศทางการเมืองไทยไปทางไหนดีนั้นไม่ต้องถามว่าไปทางไหน แต่การเป็นนักประชาธิปไตยต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ยอมรับการแสดงความเห็นที่หลากหลายผ่านกระบวนการรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ผมมั่นใจว่า ผมอยู่มหาวิทยาลัยที่มีพื้นฐานประชาธิปไตย ฉะนั้นไม่ต้องถามเลย แต่ผมจะขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นไปได้ ตนตั้งเป้าว่าประเทศต้องออกจากวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ สังคมเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศรอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายร้อยนาย ได้กระจายกำลังรักษาความปลอดภัยกันเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุร้าย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อภิสิทธิ์ รับอาชีพนักการเมือง กลายเป็นจำเลยของสังคม อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:20:35 6,329 อ่าน
TOP