x close

ฮิลลารี - รมต.ตปท. 26 ประเทศ พร้อมอียู ยันร่วมประชุมอาเซียน

ฮิลลารี คลินตัน



ฮิลลารี - รมต.ตปท. 26 ประเทศ พร้อมอียูยัน ร่วมประชุมอาเซียน (คมชัดลึก)

          "อธิบดีอาเซียน" เผย ฮิลลารี คลินตัน และรัฐมนตรีต่างประเทศอีก 26 ประเทศ พร้อมกับอียู ยืนยันร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจาที่ภูเก็ต พร้อมถกปัญหาไข้หวัด 2009 ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียน เพื่อไทยเดินสายยุสหรัฐ - อาเซียนคว่ำบาตร

          (14 กรกฎาคม) นายวิทวัส  ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน แถลงบรรยายสรุปการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นๆ เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ "ร่วมกันเผชิญกับปัญหาท้าทายของโลก" ในระหว่างวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ในวันนี้ ( 14 กรกฎาคม) คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ซึ่งมีสาระสำคัญ ประการแรกคือ การผลักดันประชาคมอาเซียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ใน 3 เสาหลัก ภายใน 6 เดือน อาทิ

          การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน การลดช่องว่างประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนา การสร้างเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค ประการที่สอง การมุ่งเน้นผลประโยชน์ที่มีต่อประชาชน การรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ การเงินโลก ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมถึงการจัดการภัยพิบัติและวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 ซึ่งคาดว่า เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะนำหยิบยกขึ้นมาหารือ โดยเฉพาะการเร่งรัดแผนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ของอาเซียนที่มีขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้เกิดการนำมาปฏิบัติอย่างเข้มข้นขึ้น

          นายวิทวัส กล่าวว่า เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ได้สอบถามถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัด 2009 ภายในพื้นที่การจัดประชุมอาเซียน ซึ่งทางไทยได้ให้ความมั่นใจในระบบการดูแลด้านสาธารสุขอย่างเต็มที่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ในการแจกหน้ากากและเจลล้างมือให้กับคณะเจ้าหน้าที่จากต่างชาติ และสื่อมวลชนที่จะมาร่วมงาน นอกจากนี้ มีระบบคัดกรองตัวบุคคล ตั้งแต่เครื่องบินลงที่สนามบินสุวรรณภูมิและที่สนามบินภูเก็ต

          นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หรือเออาร์เอฟ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศสมาชิกความร่วมมือเออาร์เอฟทั้ง 26 ประเทศกับสหภาพยุโรปได้ยืนยันที่จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุม อาทิ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นายเซอร์ไก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นายหยาง เจียฉี รัฐมนตรีต่างประเทศจีน นายฮิโรฟูมิ นากาโซเน่ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นายยู เมียน ฮวาน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้

          ส่วนรัฐบาลเกาหลีได้ตอบรับคำเชิญของไทย โดยนายปัก อุย ชุน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือได้ส่งเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงมาเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ เชื่อว่า การประชุมจะหยิบยกประเด็นปัญหาคาบสมุทรเกาหลีเหนือมีหารือกัน และจะเป็นโอกาสที่เกาหลีเหนือจะใช้เวทีเออาร์เอฟชี้แจงถึงสถานการณ์ล่าสุด เกี่ยวกับทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินและยิงขีปนาวุธที่ไปตกในทะเลญี่ปุ่น ก็เพื่อช่วยลดความตึงเครียดระหว่างกัน

          ส่วนกรณีที่เกาหลีเหนือขอให้ไทย ในฐานประธานอาเซียน แสดงความเป็นกลางในการประชุมและขอให้ไม่บรรจุปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีลงในเอกสารผลการประชุมเออาร์เอฟนั้น นายวิทวัส กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกลำบากใจกับคำร้องขอของเกาหลีเหนือ เนื่องจากไทยมีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าว่าจะบรรจุหรือไม่บรรจุประเด็นปัญหาใดไว้ในเอกสารการประชุม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร

          สำหรับการประชุมดังกล่าว จะมีการออกเอกสารการประชุมทั้งหมด 24 ฉบับ โดยจะมีเอกสารลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยโครงการความร่วมมือการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย

          ระยะที่ 2 ส่วนเอกสารรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อาทิ แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 เอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ส่วนเอกสารสำหรับการประชุมกับประเทศคู่เจรจารับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนแคนาดา และการจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา  

          ทั้งนี้ ในโอกาสที่การประชุมเออาร์เอฟ ครบรอบ 15 ปี ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จะจัดทำถ้อยแถลง วิสัยทัศน์ที่ประชุมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก จะเป็นการกำหนดแผนงานความร่วมมือด้านความมั่นคงในสาขาต่างๆ แผนงานบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ. 2552 – 2554 แผนงานสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2552 – 2553 เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮิลลารี - รมต.ตปท. 26 ประเทศ พร้อมอียู ยันร่วมประชุมอาเซียน อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:18:04 3,900 อ่าน
TOP