x close

เช็คความพร้อมเกษตรไทย ในวันที่ต้องเปิดเสรีอาเซียน

เกษตร



เช็คความพร้อมเกษตรไทย ในวันที่ต้องเปิดเสรีอาเซียน (กรุงเทพธุรกิจ)

          วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยจะต้องเปิดเสรีตามพันธกรณีเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ในสินค้าเกษตรเกือบทุกรายการต้องลดภาษีเป็น 0%

          การไหลเข้า-ออกของสินค้าไม่มีมาตรการทางภาษีมาเป็นกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยราชการ เกษตรกร ยังไม่มีความพร้อมมากนัก "กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ถึงแนวทางในการรับมือ

          นายอภิชาต กล่าวว่า อาฟตาตั้งขึ้นปี 2535 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เงื่อนไขการเปิดเขตการค้าเสรี จะต้องทยอยลดภาษีการนำเข้าสินค้าต่างๆ ให้เหลือ 0-5% และลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีด้วยภายใน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2535-2553

          ทุกประเทศจึงต้องปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่จะเกิดขึ้น แต่ภาคการเกษตรการปรับตัวจะต้องใช้เวลานาน ประกอบกับเกษตรกรของไทยมีระดับความรู้ที่แตกต่างกันออกไป การเข้าถึงการส่งเสริมทำได้ยาก และส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้ปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการค้าเสรี

          "สินค้าที่ไทยจะต้องเปิดเสรีนำเข้าในปีหน้ามี 23 ชนิด ที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ส่วนสินค้าอื่นๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ เคยเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ดึงสินค้าบางรายการ เช่น ปาล์มน้ำมันเข้าสู่บัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา"

          ... เมื่อไทยต้องเปิดเสรีในขณะที่ยังไม่พร้อม ทำให้ต้องเร่งเตรียมมาตรการภายในประเทศ เพิ่มความเข้มงวดการนำเข้าให้มากขึ้น สินค้าทุกชนิดจะต้องปฏิบัติให้ได้ตามมาตรการที่กำหนดเอาไว้ ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ (SPS) และต้องตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ในขณะเดียวกันเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการจะต้องผลิตสินค้าให้ได้ ตามมาตรการที่กำหนดเอาไว้ด้วย

          กระทรวงเกษตรฯ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าทั้ง 23 ชนิด ทบทวนและร่างมาตรการภายในประเทศ ที่สามารถปฏิบัติได้ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อไป

          "ที่เรากังวล สินค้าบางชนิดจะได้รับผลกระทบต่างกันออกไป อย่างข้าวเรากลัวว่าจะมีข้าวดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอทะลักเข้ามา แล้วปนเปื้อนกับข้าวไทยที่ส่งออกภาพลักษณ์เราก็จะเสียหาย ปาล์มน้ำมันไทยมีต้นทุนผลิตสูง นำเข้ามาจะกดราคาภายในให้ตกต่ำ ยิ่งสินค้าบางรายการที่รัฐใช้มาตรการแทรกแซง จะทำให้เกิดการสวมสิทธิจากสินค้าประเทศอื่นได้ง่าย"

          สินค้าบางรายการต้องใช้มาตรการเซฟการ์ด (มาตรการปกป้องตลาด) โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้า ที่ไม่ตรงกับฤดูการเก็บเกี่ยวของไทย กรณีที่สินค้าทะลักเข้ามามากเกินไป ไทยมีสิทธิที่จะใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด รวมทั้งสามารถตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้า ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีฐานข้อมูลผลผลิตในแต่ที่ชัดเจน ห้องปฏิบัติการจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัย เตรียมพร้อมเพื่อการพิสูจน์คุณภาพ

          สำหรับปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมาเลเซียเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมากประกอบกับมีเขตชายแดนติดต่อกับไทยสะดวกต่อการส่งออก ตามเงื่อนไขการค้าเสรี

          ขณะที่ไทยมีผลผลิตประมาณปีละ 9.4 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการบริโภค แม้ว่าไทยจะมีโครงการผลิตไบโอดีเซล แต่ต้องใช้ผลผลิตภายในให้หมดก่อน อีกทั้งรัฐบาลให้การอุดหนุนไบโอดีเซล อยู่หากมีการนำเข้าเท่ากับรัฐบาลอุดหนุนต่างประเทศไปด้วย

          มาตรการภายในสำหรับน้ำมันปาล์ม จะขอให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้บริหารนำเข้าและให้นำเข้าเพื่อบริโภคเท่านั้น ตามคุณภาพ มาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดควรระบุภาชนะที่บรรจุให้ใส มองเห็นและสามารถแยกสีได้ด้วยตาเปล่า จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะนิยมบรรจุปี๊บ

          ส่วนกาแฟ ปัจจุบันไทยยังไม่มีคู่แข่งด้านการผลิตและตลาดในอาเซียน และมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการเปิดเสรีนำเข้าจะส่งผลให้เกิดการสวมสิทธิจากประเทศอื่นนอกเขตอาเซียน และจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรของไทยในบางช่วงการผลิต

          การนำเข้าจึงต้องเป็นไปตามมาตรฐานสินค้า และมาตรฐานสินค้าอาหาร รวมทั้งให้มีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี

          ขณะที่เมล็ดกาแฟ ส่วนการนำเข้าเมล็ดกาแฟให้จัดอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวเก็บภาษี 5% บริหารการนำเข้าโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้นำเข้าได้เฉพาะช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.เท่านั้น ผู้มีสิทธินำเข้าจะต้องเป็นโรงงานแปรรูปที่ใช้เมล็ดกาแฟเป็นวัตถุดิบ ในปริมาณที่ขาดและให้รับซื้อเมล็ดกาแฟภายในประเทศให้หมดก่อน

          ส่วนสินค้าข้าว แม้ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่มีคู่แข่งสำคัญในอาเซียน คือ เวียดนาม ในประเภทข้าวคุณภาพต่ำ และมีบางประเทศผลิตข้าวจีเอ็มโอ หากเปิดเสรีนำเข้า อาจเกิดปัญหาการปลอมปนและราคาข้าวขาวของไทยจะตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในการนำเข้าจึงควรกำหนดมาตรฐานข้าว ไม่อนุญาตให้นำเข้าคุณภาพต่ำ ลดผลกระทบด้านราคาข้าวขาวได้ และให้นำเข้าเพื่อใช้สำหรับในอุตสาหกรรมเท่านั้น รวมทั้งการตรวจสอบรับรองความปลอดภัยจากศัตรูพืช โรคพืช จุลชีพ ปริมาณสารตกค้าง กำหนดให้นำเข้าผ่านด่าน ที่มีความพร้อมในการตรวจสอบ รายงานการนำเข้า สถานที่จัดเก็บ แจ้งปริมาณการใช้ และมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษี

          อย่างไรก็ตาม สินค้าทั้งหมดภายหลังการเปิดเสรีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบปริมาณและราคา หากไม่สอดคล้องกัน โดยทุ่มตลาดเข้ามา ไทยอาจประกาศใช้มาตรการ "สเปเชียล เซฟการ์ด" อย่างการฟ้องทุ่มตลาดหรือเอดี เพื่อปกป้องตลาดได้


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็คความพร้อมเกษตรไทย ในวันที่ต้องเปิดเสรีอาเซียน อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2552 เวลา 15:26:21 6,328 อ่าน
TOP