x close

หลากหลายคำวิจารณ์ จัดเรตติ้งหนัง

หลากหลายคำวิจารณ์จัด เรตติ้งหนัง

จัดเรตติ้งหนัง

 



ฉากอวสานเซ็นเซอร์ จัดเรตหนัง "ฉายแล้ว" แต่ไม่ชัด? (เดลินิวส์)

          เรื่องเด่นประเด็นร้อนทางสังคม-ทางวัฒนธรรมในระยะนี้ นอกจากมาตรการใหม่ในการดูแลเกี่ยวกับปัญหา เด็กติดเกม ที่ต้องตามดูว่าเหมาะสม ไม่เหมาะสม? มีผล ไม่มีผลอย่างไร? และนอกจากมาตรการห้ามมี "สาวนั่งดริ๊งค์คาราโอเกะ" ที่เอาเข้าจริงท่าจะไม่มีอะไรในกอไผ่? หรือบางฝ่ายก็ว่าอาจจะผลักให้เกิดส่วยสาวดริ๊งค์? กับมาตรการ "จัดเรตติ้งภาพยนตร์" ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตามผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

          ล่าสุด เรตติ้งหนัง มีการกำหนดออกมาแล้ว  แต่ "มีแล้วจะมีผลอะไร ?" ประเด็นนี้ยังไม่รู้ ?

          ทั้งนี้ เมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรับร่าง กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และกำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะถือเป็นการ "ยุติบทบาทระบบเซ็นเซอร์" ที่ใช้ในเมืองไทยกันมานาน 

          มาตรการเกี่ยวกับหนัง หรือภาพยนตร์ ที่กำลังจะมีการเข็นออกมาใช้ใหม่นี้ เหตุผลคือ เนื่องจากกฎหมายเก่า คือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 ใช้มานาน บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การตรวจพิจารณาซ้ำซ้อนเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงควรให้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายใหม่ และปรับปรุงระบบการตรวจพิจารณาให้อยู่ใต้ความรับผิดชอบขององค์กรเดียวเพื่อลดความซ้ำซ้อน ซึ่งก็จะตกเป็นหน้าที่ของ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" เป็นตัวจักร

          สำหรับหลักใหญ่ใจความของมาตรการ "จัดเรต" คือ หนังหรือภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะฉายออกสู่สาธารณะต้องมีการระบุประเภท เพื่อจำกัดกลุ่มอายุผู้ชมให้เหมาะสม โดยในมาตรา 26 ของ พ.ร.บ. แยกไว้ "7 เรต" หรือ 7 ประเภท คือ

           1.ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู จะใช้สัญลักษณ์ "ส" 

           2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป ใช้ "ท" 

           3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ใช้ "น 13+"

           4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ใช้ "น 15+" 

           5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใช้ "น 18+" 

           6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู ยกเว้นผู้บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ใช้ "ฉ 20+" 

           7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย จะใช้สัญลักษณ์ "ห"

          โดยรวมๆ ก็จะคล้ายๆ หลักการจัดเรตรายการโทรทัศน์  แต่กับสัญลักษณ์เรตต่างๆ นั้นก็ต้องรอสรุปชัดๆ อีกครั้ง

          "ประเด็นที่นักวิชาการกับบุคลากรในวงการภาพยนตร์น่าจะเห็นพ้องตรงกันก็คือ เป็นก้าวที่ดีที่เราจะหลุดพ้นจากระบบเซ็นเซอร์ซึ่งที่ผ่านมากลไกนี้มีปัญหาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด โดยเจตนาของกฎหมายฉบับใหม่จะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดความสมดุลได้มากขึ้น ระหว่างความเป็นศิลปะกับความรับผิดชอบต่อสังคม"

          นี่เป็นมุมมองของ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดียมอนิเตอร์) อย่างไรก็ตาม พญ.พรรณพิมลตั้งข้อสังเกตว่า "สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือเนื่องจากเป็นระบบใหม่ ภาพยนตร์เองก็เป็นศิลปะ การปฏิบัติหรือใช้งานคงทำได้ไม่ง่ายเหมือนกับการกำหนดเป็นตัวอักษรในกระดาษ" ซึ่งกลไกเรตติ้งนี้จะเกิดประสิทธิภาพได้ดีที่สุดก็ต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจในกลไก ตั้งแต่ผู้ผลิต เจ้าของโรงภาพยนตร์ พ่อแม่ กลุ่มผู้ชม คณะกรรมการตรวจพิจารณา จึงเชื่อว่ากลไกใหม่คงไม่หยุดอยู่แค่นี้ ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความรัดกุม กระชับ และเป็นธรรม

          ผอ.โครงการมีเดียมอนิเตอร์ยังระบุด้วยว่า กฎหมายใหม่นี้น่าจะมีกลไกที่มีประสิทธิภาพและชัดเจนกว่าระบบเซ็นเซอร์แบบเก่า ที่มักใช้ความรู้สึกมากกว่าความเข้าใจในเจตนาคนทำหนัง "แต่ในหลายประเทศเมื่อนำระบบนี้มาใช้ก็มักจะมีการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตลอด ซึ่งคนในสายการผลิตก็คงต้องการทราบให้ชัดเจนมากกว่านี้ อาทิ ที่มาของคณะกรรมการตรวจพิจารณา เกณฑ์การพิจารณาต่างๆ"

          ด้านผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง ต้อม ปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ มองเรื่องการ จัดเรต ว่า ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญ จะทำให้เกิดความชัดเจนสำหรับคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมากขึ้น ก่อนที่จะลงมือทำ ตัวผู้กำกับ นายทุน โรงหนัง จะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นหนังเรตอะไร ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการอนุมัติงบสร้าง รู้ว่าหนังเรตนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายแบบไหน เมื่อฉายแล้วรายได้น่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ คนทำหนังก็ไม่ต้องมาลุ้นหลังหนังเสร็จว่าทำออกมาแล้วจะถูกหั่นถูกตัดหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ก็ "ยังกังวลใจเรื่องมาตรฐานการพิจารณา ?"  

          ผู้กำกับฯ รายนี้ระบุว่า ภาพยนตร์เป็นศาสตร์ของศิลปะ บางครั้งโทนเรื่องเป็นแบบเดียวกันแต่วิธีนำเสนออาจแตกต่างกัน จุดนี้จึงควรจะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาตามมา สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ แบบระบบเซ็นเซอร์ ที่มักจะมีการนำเรื่องความรู้สึกมาใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัด

          "ยกตัวอย่างเรื่องเห็นก้น จะมีการระบุหรือมีเกณฑ์หรือไม่ว่า ก้นเด็ก ก้นผู้หญิง ก้นผู้ชาย ก้นใครเห็นได้ เห็นไม่ได้ ตรงนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ระบบนี้ยืนอยู่ได้คงเป็นเรื่องความเข้าใจที่คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาจำเป็นต้องรับฟังและมองถึงเจตนาของผู้สร้าง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะวนเวียนไม่ต่างจากที่แล้วๆ มา" ผู้กำกับภาพยนตร์รายนี้กล่าวทิ้งท้าย 

          สรุปก็คือ ต่อไปนี้หนังในเมืองไทยจะมีเรตชัดๆ แล้ว  แต่ชัดๆ ว่าเรื่องไหนจะเรตไหนแน่ ยังต้องเคลียร์ ??



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลากหลายคำวิจารณ์ จัดเรตติ้งหนัง อัปเดตล่าสุด 3 สิงหาคม 2552 เวลา 14:11:35 10,408 อ่าน
TOP