x close

เปิดสำนวน คตส.ย้อนรอยคดีกล้ายาง 1,400 ล้าน

คดีกล้ายาง 1,400 ล้าน

เนวิน ชิดชอบ

 

เปิดสำนวน คตส. ย้อนรอยคดีกล้ายาง 1,400 ล้าน ก่อนศาลฎีกาฯชี้ชะตา เนวิน ชิดชอบ 4 อดีตรมต.-บิ๊ก ขรก.-เครือซีพี (มติชนออนไลน์)

          เช้าวันที่ 17 สิงหาคม องค์ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะประชุมกันเพื่อลงมติวินิจฉัยชี้ขาดในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อต้นกล้ายาง และการดำเนินการโครงการปลูกยาง 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

          คดีดังกล่าวคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นผู้ไต่สวน และสรุปสำนวนผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 44  คนยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง เนื่องจากอัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง

          ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของคดีตามสำนวนที่ คตส. เป็นผู้สรุป

          คดีนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การตั้งข้อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวกอนุมัติโครงการและอนุมัติการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534  และการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการทำสวนยาง (สกย.) ใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (CESS) ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการผลิตพันธุ์ยางมีมูลค่า 1,440 ล้านบาท

          เบื้องต้นในการตรวจสอบ คตส. มีตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลและเอกชน กระทำความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) คณะกรรมการประกวดราคา บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และผู้รับผิดชอบโครงการ รวมจำนวน 90 ราย

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังการไต่สวนข้อมูล คตส. ได้สรุปผลการไต่สวน ให้ชี้มูลความผิดกับบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพียง แค่ 44 ราย แยกเป็น

          กลุ่มที่ 1 (กลุ่มอดีตคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรอง และประธาน คชก.,นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ คชก., นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก. , นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก. 

          นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ , นายปริญญา อุดมทรัพย์ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง, นายราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ , น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ , นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน , นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน , นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อดีตอธิบดีกรมประมง ,น.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 151และ 157

          ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจและนายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา

          กลุ่มที่ 2 นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11

          กลุ่มที่ 3 (กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา)นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร , นายจิรากร โกศัยเสวี, นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ , นายจำนง คงศิลป์ , นายสุจินต์ แม้นเหมือน, นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ,นายสมบัติ ยิ่งยืน ,นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา

          กลุ่มที่ 4 (กลุ่มบริษัทเอกชน) นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด, นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด, นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา,บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด, บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341

          กลุ่มที่ 5 (กลุ่มกรรมการบริษัทเอกชน) นายวัลลภ เจียรวนนท์ ,นายมิน เธียรวร, นายประเสริฐ พุ่งกุมาร, นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล,นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์, นายเอี่ยม งามดำรง ,นายบุญเลิศ ประภากมล, นายวรวิทย์ เจนธนากุล,นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ ,น.ส.พัชรี ชินรักษ์,นางอนงนุช ภรณวลัย,นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข , ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341

        กลุ่มที่ 6 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ริเริ่มโครงการ ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341

        กลุ่มที่ 7 เนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341

          เหตุผลที่ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา กับ ครม. และคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องที่ประชุม ครม. คณะที่ 2 ซึ่งส่งผลทำให้จำนวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ลดลงไปกว่าครึ่ง เป็นเพราะจากการไต่สวนพบว่า เรื่องความผิดเกี่ยวกับการใช้เงิน คชก. และให้เอาเงินกองทุนสงเคราะห์การทำงานสวนยางมาใช้คืน คชก.  มีต้นเรื่องมาจากกระทรวงเกษตรฯ เข้ามา คชก.นั้น มีข้อมูลชัดเจนว่า ให้อนุมัติงบฯ 1,440 ล้านบาท จากกองทุน คชก. แต่เมื่อเริ่มเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มิได้เห็นตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ

          นอกจากนี้ เรื่องเอาเงินค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกยาง หรือเงินเซส (CESS) มาคืน คชก. เพราะเงินกองทุน คชก. ไม่ใช่ให้เปล่า แต่เป็นเงินทุนหมุนเวียน เมื่อเอาไปใช้แล้วต้องเอาเงินมาคืน กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้เอาเงินเซสมาใช้ คชก. แต่เมื่อ ที่ประชุมกลั่นกรองฯ บอกให้ไปผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ก่อน คตส. มองว่ามตินี้จึงไม่มีความผิดในทางอาญา เพราะให้ไปขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

          ส่วนที่ประชุม ครม. เมื่อมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีผลอย่างไร เรื่องก็ไม่ผ่านที่นายกรัฐมนตรี นายกฯ ก็เห็นชอบ ให้เข้าที่ประชุม ครม. ในวาระทราบจร  ครม.ไม่มีความเห็นเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอมา เมื่อในส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ผิดกฎหมาย การมีมติของ ครม. ที่เห็นชอบตามกลั่นกรองฯ ก็เลยไม่ผิดกฎหมายไปด้วย

          ส่วนเรื่องการเอาเงิน คชก.ออกมาใช้นั้น คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ข้อ 19 (5) กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า  เงินกองทุนนี้ ให้ใช้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ ในข้อ 16 ตามมติ คชก. เฉพาะกรณีช่วยเหลือสินค้าเกษตรที่มีกฎหมายช่วยเหลืออย่างเป็นระบบอยู่แล้ว โดยผ่านกองทุนฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นการดำเนินการในเฉพาะคราว และมีความจำเป็นเร่งด่วน

          คตส. เห็นว่า โครงการกล้ายางพาราไม่เข้าเงื่อนไข ตาม ข้อ 19 (5) เพราะไม่ใช่ เป็นการใช้เฉพาะคราว แต่เป็นโครงการระยะยาวถึง 3 ปี และไม่ใช่เรื่องความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งกฎหมายระบุชัดเจนว่า ให้ช่วยเหลือโดยผ่านกองทุนตามกฎหมาย ซึ่งกรณีคือ กองทุนสงเคราะห์ฯ  แต่กรมวิชาการเซ็นใบเบิกเงินมาแล้ว แต่ไม่ผ่านกองทุนสงเคราะห์ฯ แต่อย่างใด

          นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุว่า ต้องใช้เป็นเงิน ทุนหมุนเวียน หมายถึงว่า แม้เบิกไปแล้วต้องเอามาคืน คนเสนอโครงการบอกไปเอาเงินเซสมาคืนใน 10 ปีข้างหน้า ในมติ ครม. บอกว่า ถ้าจะเอาเงินเซสมาคืน ต้องไปขอความเห็นชอบจาก  สกย.ก่อน ปรากฏว่า คชก.มีมติ ให้เอาเงิน คชก.มาใช้ 1.4 พันล้านบาท แต่ คชก.ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.ในการขอความเห็นจาก สกย.ก่อน

          ส่วนกระบวนการประกวดราคาเพื่อจ้างผลิตกล้ายาง นั้น กระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสองชุด คือ 1. คณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา

          จากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนพบว่า มีลักษณะเอื้อประโยชน์ อาทิ การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาไม่สอดคล้องกับประกาศประกวดราคาเนื่องจากเป็นการจ้างผลิตกล้ายางชำถุงแต่กลับมีการกำหนดว่า ผู้มีคุณสมบัติต้องเป็นผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช และไปเชื่อมโยงกับการแก้ไขการยื่นจำนวนแปลงระยะเวลาเสนอข้อมูลต่างๆ รวมถึงการย่นระยะเวลาการดำเนินการให้เร็วขึ้น ทำให้บางบริษัทไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

          นอกจากนี้ ในการพิจารณาผลการประกวดราคาพบว่า บริษัท 3 ราย ที่ผ่านเงื่อนไขประกวด คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ บริษัทเอกเจริญการเกษตร และบริษัทรีสอร์ทแสนด์  ในระหว่างนั้น มีการร้องเรียนว่า 3 บริษัทนี้ฮั้วกันหรือไม่ แต่คณะกรรมการพิจารณา ผลกลับไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลส่วนนี้อย่างละเอียด

          จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนพบว่า บริษัทรีสอร์ทแลนด์ ดำเนินธุรกิจโรงแรม ที่ จ.ระยอง ส่วนบริษัทเอกเจริญการเกษตร เลี้ยงไก่ชน ที่ จ.ชลบุรี

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องการนำเสนอเอกสารเป็นเท็จเพราะมีการกำหนดว่า บริษัทที่เสนอมาต้องมีแปลงยาง 1,000 ไร่ แปลงผลิตกิ่งตายาง 200 ไร่ ปรากฏว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ไม่มีประสบการณ์ผลิตมากก่อน แต่ไปรวบรวมจากเกษตรกร ที่ จ.ตรัง จ.สตูล เข้าข่ายเป็นเท็จ 2 ลักษณะคือ 1. ไปให้เกษตรกรเซ็นชื่อว่า จะให้บริษัทใช้ชื่อบางรายมี 10 ไร่ ไปเขียน 30 ไร่ 2. เกษตรกรบางรายไม่ได้เซ็นชื่อยินยอม แต่ก็มีการปลอมแปลงรายชื่อ

          ในส่วนขั้นตอนการเสนอราคา กับพบว่า  มีการฮั้วร่วมกันประโยชน์กัน กล่าวคือ มีพนักงาน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประกวดราคา มารับมอบอำนาจจากบริษัทรีสอร์ทแสนด์ และบริษัทเอกเจริญการเกษตร ในการยื่นเรื่องเพื่อเสนอประกวดราคาโครงการนี้

          ด้วยเหตุนี่จึงทำให้บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ถูกตั้งข้อกล่าวด้วย นอกจากจะมีความผิดตามพรบ.ฮั้ว แล้ว ยังมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามกฎหมายอาญาอีกด้วย

          ส่วนนายฉกรรจ์ และ เนวิน ชิดชอบ ถูกตั้งข้อกล่าวในฐานะเป็นผู้ร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินการโครงการนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยในส่วนของ เนวิน ชิดชอบ พบว่า ในวันที่กระทรวงเกษตร มีการเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ จากนายสรอรรถ กลิ่นประทุม มาเป็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการถวายสัตย์ปฏิญาณ เนวิน ชิดชอบ ได้รีบเร่งอนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ในนามรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  ทั้งที่โดยหลักการแล้ว โครงการที่ มีมูลค่าพันล้านบาท เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการเท่านั้น

          สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการฯ นี้ ได้แก่  เงิน คชก. ที่กรมวิชาการเกษตรเบิกไปจากกรมบัญชีกลางจำนวน 7 งวด และได้จ่ายให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด  ค่าเสียหายในส่วนที่คำนวณได้เป็นตัวเงินจำนวน 1,100.69  ล้านบาท ความผิดดังกล่าวนั้น บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในการชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ

          คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการ คชก. ในฐานะที่อนุมัติให้มีการใช้เงิน คชก. และให้นำเงิน CESS มาใช้คืน คชก. เนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว นายฉกรรจ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้น คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา  บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ฯ  บริษัทรีสอร์ทแลนด์ฯ  บริษัทเอกเจริญฯ  และกรรมการบริษัทเอกชนที่มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสามบริษัท นายสกล บุญชูดวง นายสำราญ ชัยชนะ นายญาณกร สิงห์ชุม ต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดโดยจะต้องรับผิดร่วมกันเต็มจำนวนความเสียหาย

          นอกจากความเสียหายดังกล่าวข้างต้นแล้ว  คตส. ขอให้ข้อสังเกตในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรในโครงการดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะในปีที่ 1 เป็นผลมาจากการส่งมอบกิ่งยางชำถุงไม่ครบและมีอัตราการตายสูงเนื่องจากมีการส่งมอบนอกระยะเวลาตามสัญญาและกรณีที่ส่งมอบในระยะเวลาตามสัญญามีอัตราการตายสูงเนื่องจากภัยแล้ง

          ในปีที่ 2  การดำเนินการส่งมอบกิ่งยางชำถุงครบถ้วน อัตราการตายถือว่าต่ำ  แต่ปีที่ 3 การส่งมอบขาดไปประมาณ 16 ล้านต้น ส่วนการตายยังไม่ทราบ โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้นมีการกำหนด TOR ให้ส่งมอบยาง 4 งวด ซึ่งการปลูกยางควรปลูกในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไม่ควรเกินเดือนสิงหาคม การส่งมอบเดือนสิงหาคม เป็นการส่งในปลายฤดูฝน จะเกิดปัญหายางตาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีต้นกล้ายางตายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หาก TOR กำหนดให้ส่งมอบต้นฤดูฝน เปอร์เซ็นต์การตายของยางจะลดลง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดสำนวน คตส.ย้อนรอยคดีกล้ายาง 1,400 ล้าน อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2552 เวลา 19:17:10 11,939 อ่าน
TOP