x close

นายกรัฐมนตรี เปิดสภา ถกแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อนาคตประชาธิปไตยไทย" ในงานราตรี สังสรรค์ศิษย์เก่าสถาบันพระปกเกล้า ที่ รอยัล จูบิลี่ บอลรูม  เมืองทองธานี เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 5 กันยายน ว่า หลายคนยังมองอนาคตทางการเมืองที่มืดมน หากคิดกลับกันถือว่าประชาธิปไตยเดินหน้ามาไกลและในการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันปกป้อง สถานการณ์ปัจจุบันถือว่ามีความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านให้ได้

          นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 8 กันยายนนี้ จะขอให้พิจารณาเพื่อกำหนดวันขอเปิดประชุมรัฐสภาอภิปรายทั่วไป เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสะสางปัญหา ที่เป็นร่องรอยของรัฐประหาร ขณะเดียวกันเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของการแก้ไข ปัญหาความขัดแย้ง เพราะหัวใจของประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งคือความสามารถในการบริหารจัดการ ความเห็นต่างโดยปราศจากความรุนแรง นอกจากนี้อนาคตประชาธิปไตยจะมั่นคงได้ ต้องไม่นำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง

แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วใช่หรือไม่

          อภิสิทธิ์ : พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยบอกว่าไม่แก้ เพียงแต่บอกว่าประเด็นที่จะแก้ไขนั้นต้องเป็นเรื่องของหลักการ ระบบ และเป็นเรื่องของส่วนรวม ไม่ใช่เป็นการแก้เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความจริงคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่คิดว่าแนวทางนี้น่าจะดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการที่แต่ละพรรคไปพูดไปทำกันเอง เดี๋ยวจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้ ดังนั้น ให้สมาชิกทุกพรรคการเมืองและวุฒิสภามาร่วมอภิปรายกันเลยน่าจะดีกว่า

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมาขณะนี้ ถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง

          อภิสิทธิ์ : ขอยังไม่ไปวิจารณ์ในทุกประเด็น แต่บางประเด็นถ้าเป็นเรื่องของการทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารมากขึ้น เช่น มาตรา 190 ซึ่งอาจจะเข้มงวดกวดขันเกินไป ในแง่ที่ว่าทุกเรื่องอาจจะเข้าข่ายได้ ก็จะมีการปรับเพื่อให้มีความเหมาะสมเท่านั้น นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นความเห็นว่าตามระบบของสากลส่วนใหญ่ ก็เป็นเขตละคน ก็ว่าไปตามนั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์เองค่อนข้างเห็นว่าเขตใหญ่ดีกว่า แต่ว่าตนก็บอกว่าเรื่องนี้จะมาเป็นอุปสรรคว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันเลย ตนก็คิดว่าประเด็นอย่างนี้ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ว่าจะให้โอกาสในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพูดคุยเรื่องเหล่านี้

ก่อนหน้านี้ีเคยระบุว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เหตุใดตอนนี้จึงมีการดึงเรื่องขึ้นมาพิจารณา

          อภิสิทธิ์ : ตนพูดในขณะนั้นเพราะเป็นบรรยากาศของเศรษฐกิจที่มีปัญหาและรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีเวลาที่จะพิจารณา แต่ขณะนี้มีกระบวนการที่เราขอให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ซึ่งคณะกรรมการก็ทำงานเสร็จแล้วและได้สรุปรายงานมาให้ ก็ควรที่จะต้องมีการเดินหน้าต่อไป

แก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะมีการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เลยหรือไม่

          อภิสิทธิ์ : อยู่ที่ตอนแก้ไขอีกทีหนึ่งว่าเมื่อแก้ไขแล้วมีการเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น เรื่องที่มาของ ส.ส. ผู้แก้ก็จะไปพิจารณาเองว่าควรมีบทเฉพาะกาลหรือไม่ ถ้ามีบทเฉพาะกาลก็สามารถยืดต่อไปได้ แต่ถ้าไม่มีบทเฉพาะกาลก็เลือกตั้งกันใหม่

การขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาตอนนี้ เพื่อต้องการลดกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ใช่หรือไม่

          อภิสิทธิ์ : ไม่ใช่ แต่เรื่องนี้มีการทวงถามกัน และในสภาก็มีการอภิปรายกันในทำนองว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ซึ่งความจริงตนได้ประสานกับประธานรัฐสภามาก่อนแล้ว แต่ประธานรัฐสภาอยากจะรอรายงานของคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งก่อน แต่บังเอิญว่ายังไม่เสร็จ เมื่อฝ่ายค้านคิดว่าอยากจะเร่งเรื่องนี้ เราก็บอกว่าให้เอามาดูกัน โดยให้นำเข้ามาหารือในสภา

จะเป็นการส่งสัญญาณว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่

          อภิสิทธิ์ : ปีนี้จะเสร็จหรือไม่ ต้องอยู่ที่การอภิปรายก่อนว่าอยากจะไปในแนวทางไหน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกรัฐมนตรี เปิดสภา ถกแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2552 เวลา 17:23:59 2,834 อ่าน
TOP