x close

สมัคร สุนทรเวช เสียชีวิต ข่าวสมัคร สุนทรเวช ประวัติสมัคร สุนทรเวช


สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช

สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์ , ไทยรัฐ

          หากพูดถึงนักการเมืองรุ่นเก๋า ที่มีลีลาการพูดจัดจ้าน ดุเด็ดเผ็ดมัน เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึง สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. และอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของไทยคนนี้แน่นอน และหลังจาก สมัคร สุนทรเวช ลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2551 ข่าวคราวของ สมัคร สุนทรเวช ก็เงียบหายไปพักใหญ่ ก่อนจะมีข่าวว่า สมัคร สุนทรเวช รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งตับ 

          ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย. อดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช วัย 74 ปี ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ด้วยโรคมะเร็งตับ โดยญาติจะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเบญจมบพิตร

          ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หลังจากได้เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งขั้วตับ ที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และกลับมาเมืองไทย วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2552

          โดยเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ก็พักฟื้นที่บ้านพักมาตลอดและไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลย และไม่มีข่าวความเคลื่อนไหว หรือการรักษาตัวแต่อย่างใด ก่อนเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในเวลาต่อมา และถึงแก่อสัญกรรมในที่สุด

           และเมื่อเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา พญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์โรงพยา บาลบำรุงราษฎร์  ได้อ่านแถลงการณ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรณีการถึงอสัญกรรมของ ฯพณฯ สมัคร สนุทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขอแจ้งให้ทราบว่า ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเช้าวันนี้ (24 พ.ย.) เวลา 08.48 น. ด้วยอาการสงบ หลังจากที่เข้ารักษาตัวด้วยอาการของโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องของพิธีการทางศาสนานั้น ทางญาติจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ส่วนเวลาของการเคลื่อนย้ายศพ ยังไม่สามารถแจ้งเวลาที่แน่นอนให้ทราบได้

         พญ.จามรี กล่าวอีกว่า สำหรับอาการนายสมัครนั้น ได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายและปกติเวลาคนเป็นมะเร็งตับ ตับจะไม่ทำงาน เมื่อตับไม่ทำงานร่างกายจึงรับไม่ไหว จึงทำให้ไม่รู้สึกตัว

          ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมัครไม่รู้สึกตัวมานานกี่วันแล้ว พญ.จามรี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ นายสมัคร จะรู้สึกตัวดี และสามารถพูดคุยกับครอบครัวได้ เพิ่งจะมาไม่รู้สึกตัวในตอนเช้าของวันนี้ ที่ผ่านมาการรักษาของแพทย์ในระยะหลัง ๆ จะใช้วิธีการแบบประคับประคองตามอาการ

          ทั้งนี้ ทางญาติได้เตรียมเคลื่อนศพ นายสมัคร สุนทรเวช ไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พร้อมจัดให้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน  ศกนี้

          ทั้งนี้ ทีมงานกระปุกดอทคอมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช อย่างสุดซึ้ง และขอให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติด้วยเถิด . . .  ขอเชิญร่วมระลึกและไว้อาลัยครั้งสุดท้าย แด่นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย อดีตนักการเมืองผู้เลื่องชื่อคนนี้กันค่ะ

 

สมัคร สุนทรเวช

สมัคร สุนทรเวช

 

เปิดประวัติ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของไทย


          สมัคร สุนทรเวช เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2478 ที่กรุงเทพมหานคร บ้านหน้าวังบางขุนพรหม ถนนสามเสน ปัจจุบันอายุ 74 ปี สมัคร สุนทรเวช มีบิดา คือ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) มารดาคือ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก โดย สมัคร สุนทรเวช เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้ง 6 คน

 

 

 

สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช



ประวัติด้านการศึกษา สมัคร สุนทรเวช

          ด้านการศึกษา สมัคร สุนทรเวช ได้เข้าเรียนชั้นก่อนประถมที่โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม และศึกษาต่อระดับชั้นประถมที่โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา ระดับศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ระดับศึกษาระดับอาชีวะที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ และเรียนระดับอุดมศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งยังได้ศึกษาเพิ่มเติม ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ BRYANMT & STRATION INSTITUTE ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา

 

สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช



ประวัติด้านการทำงานทางการเมืองของ สมัคร สุนทรเวช

          หลังจาก สมัคร สุนทรเวช เรียนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เข้าทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียนบทความและความคิดเห็นทางการเมือง ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ก่อนที่ สมัคร สุนทรเวช จะเข้าสู่ถนนการเมืองในปี พ.ศ.2511 โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเริ่มจากลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2514 และในปี พ.ศ.2516 สมัคร สุนทรเวช  ก็ลาออกจากงานประจำทุกอย่าง เพื่อมาทำงานด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว

          ในปี พ.ศ.2518 สมัคร สุนทรเวช ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลผสมของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่ทั้งนี้ สมัคร สุนทรเวช ก็ยังคงเขียนบทความการเมืองให้กับหนังสือพิมพ์อยู่ ทั้งหนังสือพิมพ์ประชาไทย (พ.ศ.2517 – พ.ศ.2520) และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2521 จนถึง พ.ศ. 2537

          ชื่อของ สมัคร สุนทรเวช เป็นที่โดดเด่นเมื่อครั้งจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ในปี พ.ศ.2519 เนื่องจากครั้งนั้น สมัคร สุนทรเวช ได้จัดรายการกล่าวโจมตีบทบาทของขบวนการนักศึกษาสมัย 6 ตุลาคม พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และเป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษา จนถูกมองว่าเป็นพวก "ขวาจัด" จากนั้นในปี พ.ศ.2519 สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกสมัย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์



ภาพครั้งอดีตเป็นรัฐมนตรี ของ สมัคร สุนทรเวช


 
สมัคร สุนทรเวช


 
ลีลา สมัคร สุนทรเวช



 สมัคร สุนทรเวช
เจ้าพ่อข้อมูล - ตัวเลขแห่งสภาฯ

 
 
สมัคร สุนทรเวช


 
เมื่อครั้งหาเสียงในนามพรรคประชากรไทย 

บทบาทผู้ว่ากรุงเทพฯ



          ในปี พ.ศ.2522 สมัคร สุนทรเวช ก่อตั้งพรรคประชากรไทยขึ้น และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ฐานเสียงหลัก สมัคร สุนทรเวช นำพรรคประชากรไทยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาหลายสมัย และตัว สมัคร สุนทรเวช เองก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทั้งนี้ ด้วยลีลาการพูด และน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ สมัคร สุนทรเวช ได้รับฉายาจากสื่อมวลชน เช่น ดาวสภา,น้าหมัก,ออหมัก,ชมพู่ (มาจากลักษณะจมูก) และชาวนา (จากกรณีกลุ่มงูเห่า) เป็นต้น

          ต่อมาช่วงหลัง ความนิยมของพรรคประชากรไทยลดน้อยลง แต่ สมัคร สุนทรเวช ก็ยังคงได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขตดุสิต อย่างไม่มีใครล้มได้ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2543 สมัคร สุนทรเวช ได้ลาออกจากพรรคประชากรไทย และเบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 1,016,096 คะแนน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนจะพ้นตำแหน่งไปในปี พ.ศ.2547 พร้อมกับมีคดีการทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงติดตัวไปด้วย

          เมื่อพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัคร สุนทรเวช ได้หันมาจัดรายการโทรทัศน์ ดำเนินรายการอาหาร "ชิมไป บ่นไป" แต่ที่ฮือฮาคือ รายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ที่จัดรายการร่วมกับ ดุสิต ศิริวรรณ โดยทั้งคู่ได้กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนรายการต้องปิดตัวลง

          จากนั้น สมัคร สุนทรเวช ได้ลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ.2549 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนั้น สมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 2 รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ แต่ยังไม่ทันที่ สมัคร สุนทรเวช จะได้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ การเลือกตั้งวุฒิสภาก็ถูกยกเลิก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ขึ้นมาก่อน และข่าวคราวของ สมัคร สุนทรเวช ก็เงียบหายไป

          ต่อมาศาลตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย จากกรณี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กให้ลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการลงสมัครพรรคเดียว ที่จะต้องได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น  พร้อมกับการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยคนอื่น ๆ ที่ไม่โดนหางเลขไปด้วย ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน พร้อมกับเชิญ สมัคร สุนทรเวช มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดย สมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้โทรศัพท์มาเชิญด้วยตัวเอง


สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช


          ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ผลปรากฎว่า พรรคพลังประชาชน ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงทั้ง ส.ส.แบ่งเขตและ ส.ส.สัดส่วน รวม 233 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเสียง 165 ที่นั่ง และเมื่อถึงเวลาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 คะแนน ชนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ 163 คะแนน ทำให้นาย สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ท่ามกลางกระแสที่พูดกันว่า สมัคร สุนทรเวช คือนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

          ในช่วงที่ สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เกิดวิวาทะกับสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือคำที่นาย สมัคร สุนทรเวช ย้อนถามนักข่าวว่า "เมื่อคืนไปเสพเมถุนกับใครมา?" จนในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ที่เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อจึงได้แถลงผลการศึกษาเรื่อง "(วิ) วาทกรรมสมัครกับสื่อ" และสรุปว่า สมัคร สุนทรเวช ใช้ภาษาข่มขู่ รุนแรง ดุเดือด พูดเท็จบ่อย ๆ สร้างเรื่องใหม่ขึ้นมากลบประเด็นสำคัญเสมอ ๆ

          นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ สมัคร สุนทรเวช กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ว่ามีคนตายเพียงคนเดียว ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินให้ สมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไป บ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ซึ่งผิดต่อรัฐธรรมนูญ จากนั้น สมัคร สุนทรเวช ได้ลาออกจากพรรคพลังประชาชน และหลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ บทบาทของ สมัคร สุนทรเวช ก็เงียบหายไป

          ก่อนจะมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ฟ้อง สมัคร สุนทรเวช และดุสิต ศิริวรรณ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีพูดพาดพิง เมื่อครั้งจัดรายการ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5"  และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกจำเลยทั้ง 2 เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดย สมัคร สุนทรเวช ได้ใช้เงินสด 200,000 บาท ประกันตัวออกไป

          จากนั้นได้มีข่าวว่า สมัคร สุนทรเวช ได้เดินทางไปผ่าตัดมะเร็งขั้วตับที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเดินทางกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2552 และไม่มีข่าวคราวอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2552 ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิด สมัคร สุนทรเวช และนายนพดล ปัทมะ กรณีที่ประชุม ครม. รัฐบาลนายสมัคร มีมติออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้รัฐบาลกัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก 
 
          และล่าสุดยังเกิดข่าวลือว่า สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ สมัคร สุนทรเวช เข้าพักรักษาตัวอยู่ ออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง และคณะแพทย์ยังไม่มีนโยบายเปิดแถลงข่าวถึงอาการป่วยของนาย สมัคร สุนทรเวช แต่อย่างใด

          ด้านชีวิตครอบครัว สมัคร สุนทรเวช สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช มีบุตรสาวฝาแฝด 2 คน คือ กานดาภาและกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่า สมัคร สุนทรเวช รัก "แมว" เป็นชีวิตจิตใจ

 



สมัคร สุนทรเวช

 


 

ประวัติการศึกษา

          ก่อนประถมศึกษา : โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม
          ระดับประถมศึกษา : โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา
          ระดับมัธยมศึกษา : โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
          ระดับอาชีวศึกษา : โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์
          ระดับอุดมศึกษา : นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ศึกษาเพิ่มเติม

          ประกาศนียบัตรวิชามัคคุเทศก์ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          BRYANMT & STRATION INSTITUTE, CHICAGO, U.S.A.
          DIP. IN ACCOUNTING AND BUSINESS ADMINSTRATION
 
ประวัติการทำงาน

          พ.ศ.2496 : เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd. (พ.ศ. 2496-พ.ศ.2497)
          พ.ศ.2497 : เสมียนแผนกรถยนต์ และภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd. (พ.ศ. 2497-2502)
          พ.ศ.2502 : ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd. (พ.ศ.2502-พ.ศ.2504)
          พ.ศ.2504 : Free Lance Guide, World Travel Service Co.,Ltd. (พ.ศ.2504-พ.ศ.2506)
          พ.ศ.2507 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ.2507-พ.ศ.2509)
          พ.ศ.2510 : Dietary Aid, Fox Rever Rehabilitation Hospital, Chicago U.S.A. (พ.ศ.2510-พ.ศ.2511)
          พ.ศ.2512 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด (พ.ศ. 2512-พ.ศ.2513)
          พ.ศ.2513 : ผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd. (พ.ศ. 2513-พ.ศ.2514)
          พ.ศ.2514 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2514-2516)
          พ.ศ.2516 : ลาออกจากงานประจำและทำงานการเมืองอย่างเดียวเรื่อยมา
 
ประวัติทางการเมืองและการดำรงตำแหน่งสำคัญ

          พ.ศ.2511 : เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2511 – พ.ศ.2519)
          พ.ศ.2514 : สมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร (ได้รับเลือกตั้ง เมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2514)
          พ.ศ.2516 : สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ.2516) และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ.2516)
          พ.ศ.2518 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (มกราคม พ.ศ.2518)
          พ.ศ.2518 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          พ.ศ.2519 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เมษายน พ.ศ.2519)
          พ.ศ.2519 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
          พ.ศ.2519 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.2519 – พ.ศ.2520)
          พ.ศ.2522 : ก่อตั้งพรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค 
                   - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เมษายน พ.ศ.2522) 
                   - ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง และสถาบันการเงิน (พ.ศ. 2523 – พ.ศ.2526)
          พ.ศ.2526 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เมษายน พ.ศ.2526) 
                   - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พ.ศ.2526 – พ.ศ.2529)
          พ.ศ.2529 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม พ.ศ.2529) 
                   - ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง (พ.ศ.2529 - 2531)
          พ.ศ.2531 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม พ.ศ.2531) 
                   - ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ (พ.ศ.2531 – พ.ศ.2533)
          พ.ศ.2533 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พ.ศ. 2533 – พ.ศ.2534)
          พ.ศ.2535 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (มีนาคม พ.ศ.2535) (กันยายน พ.ศ.2535) 
                   - ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม (พ.ศ. 2535 – พ.ศ.2538)
          พ.ศ.2538 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (กรกฎาคม พ.ศ.2538)
          พ.ศ.2539 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (พฤศจิกายน พ.ศ.2539)
          พ.ศ.2543 : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2543 - 2547)
          พ.ศ.2550 : รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (พ.ศ.2550 - 30 กันยายน พ.ศ.2551)
          พ.ศ.2551 : นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (29 มกราคม พ.ศ.2551 - 9 กันยายน พ.ศ.2551)
 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ

          พ.ศ.2517 ตริตาภรณ์มงกุฏไทย
          พ.ศ.2518 ตริตาภรณ์ช้างเผือก
          พ.ศ.2519 ทวีติยาภรณ์มงกุฏไทย
          พ.ศ.2520 รัตนาภรณ์ (ชั้นที่ ๒ )
          พ.ศ.2522 ประถมาภรณ์มงกุฏไทย
          พ.ศ.2524 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
          พ.ศ.2526 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
          พ.ศ.2527 ทุติยจุลจอมเกล้า
          พ.ศ.2527 มหาวชิรมงกุฏ
          พ.ศ.2539 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์
          พ.ศ.2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
 
ผลงานอื่น ๆ

          เขียนบทความ และความคิดเห็นทางการบ้านการเมืองแบบไม่ประจำใน สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ.2516
          เขียนบทความการเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย (พ.ศ.2517 - พ.ศ.2520)
          เขียนบทความในคอลัมน์ประจำ (มุมน้ำเงิน) หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2521 จนถึง พ.ศ.2537
          ผู้ดำเนินรายการ ชิมไปบ่นไป
          ผู้ดำเนินรายการ เช้าวันนี้..ที่เมืองไทย ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
          ผู้ดำเนินรายการ สนทนาประสาสมัคร ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
 
ผลงานหนังสือ

          สมัคร สุนทรเวช พูด
          สันดานหนังสือพิมพ์
          การเมืองเรื่องตัณหา
          จวกลูกเดียว
          จากสนามไชยถึงสนามหลวง
          การเมืองเรื่องตัณหา 2
          สมัคร ๖๐
          ชิมไปบ่นไป
          เรื่องไม่อยากเล่า
          คนรักแมว
          จดหมายเหตุกรุงเทพฯ
          ใครๆ ก็ชอบไทยฟู้ด
          สมัคร สุนทรเวช และดุสิต ศิริวรรณ. ตำนานหนองงูเห่า และการเมืองเรื่อง CT
 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมัคร สุนทรเวช เสียชีวิต ข่าวสมัคร สุนทรเวช ประวัติสมัคร สุนทรเวช อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13:53:56 243,619 อ่าน
TOP