x close

หนังสารคดีเกย์-มุสลิม ถูกห้ามฉายใน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ

บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน


หนังสารคดีเกย์-มุสลิมถูกห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ชี้กม.ใหม่ทำสับสน (มติชนออนไลน์)

          "บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน" ภาพยนตร์สารคดีเชิงทดลองของ "ธัญสก พันสิทธิวรกุล" เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ประจำปี พ.ศ.2550 จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่นำเสนอปัญหาของกลุ่มชายรักร่วมเพศและกลุ่มคนมุสลิมในสังคมไทย ถูกห้ามฉายใน "เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายนนี้ สืบเนื่องมาจากเนื้อหาอันสับสนของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

          โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน" ถูกคัดเลือกให้ได้รับการจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ แต่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฯ ฉบับใหม่ ผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ต้องจัดส่งเรื่องย่อของหนังทุกเรื่องที่จะถูกจัดฉายในเทศกาล ไปให้ "คณะอนุกรรมการ" สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาว่าหนังเรื่องใดที่ควรส่งไปให้ "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" พิจารณากำหนดเรตติ้งก่อนจัดฉาย และหนังเรื่องใดสามารถจัดฉายในเทศกาลได้เลย โดยมิต้องผ่านการพิจารณาเรตติ้ง โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว

          เมื่อคณะอนุกรรมการ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้อ่านเรื่องย่อและชมภาพยนตร์สารคดีของธัญสกแล้ว ก็มีความเห็นว่าหนังควรได้รับการพิจารณาเรตติ้งก่อนจะถูกจัดฉายในเทศกาล จึงแนะนำให้ผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ยื่นภาพยนตร์เรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พิจารณากำหนดเรตติ้งเสียก่อน


บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน


          อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว คณะกรรมการกลับเห็นว่าทางผู้จัดเทศกาลไม่ได้ยื่นเอกสารที่เหมาะสมมาให้พวกตนพิจารณา ดังนั้น จึงไม่รับพิจารณากำหนดเรตติ้งให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้

          แต่คณะอนุกรรมการที่แนะนำให้มีการจัดส่งภาพยนตร์เรื่องนี้ ไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณา ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของตนเองที่เห็นว่าหนังควรได้รับการจัดเรตติ้งก่อนถูกจัดฉายได้ เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้คณะอนุกรรมการชุดนี้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยใหม่ ส่งผลให้ "บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน" ต้องถูกห้ามฉายไปโดยปริยาย

          "กระบวนการดังกล่าวยุ่งยากและซับซ้อนมาก เรามีหน้าที่เพียงแค่แนะนำให้ผู้จัดเทศกาลยื่นหนังไปให้คณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณาเรตติ้ง แต่เราเองไม่มีอำนาจพิจารณาเรตติ้งให้แก่หนัง เราไม่ได้ต้องการให้มีการห้ามฉายหนังเรื่องนี้ แต่ระบบที่เป็นอยู่เหมือนต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น" หนึ่งในคณะอนุกรรมการที่เสนอให้ผู้จัดเทศกาลยื่นหนังสารคดีเรื่องนี้ไปให้ คณะกรรมพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดเรตติ้ง กล่าว

          ทางด้านนายเกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ แสดงความเห็นว่า รู้สึกเสียใจที่หนังซึ่งทีมงานคัดเลือกไว้จะไม่ได้ถูกจัดฉายในเทศกาล ทั้ง ๆ ที่เป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การดู โดยทางเทศกาลต้องการฉายหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะว่าหนังจะนำไปสู่ความขัดแย้งใด ๆ แต่เพราะหนังได้เล่าเรื่องราวที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์เรื่องอื่น โดยเฉพาะในส่วนที่มีการอ้างอิงกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2547

          "กระบวนการของกฎหมายสับสนมาก และไม่ได้มอบวิธีการแก้ปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เราพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตลอดมา แต่เราก็ยังไม่เคยเห็นเสรีภาพดังกล่าว" ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ กล่าว

          ทั้งนี้ วงการภาพยนตร์ไทยได้เริ่มใช้ระบบเรตติ้งภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง วัฒนธรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้พิจารณาเรตติ้งให้แก่ หนังที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เชิงพาณิชย์เพียงเท่านั้น


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนังสารคดีเกย์-มุสลิม ถูกห้ามฉายใน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:22:39 29,788 อ่าน
TOP