เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทีวีบูรพา
ความกตัญญู คือ เครื่องหมายของคนดี อาจเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในสังคมเมืองปัจจุบัน แต่คำว่า "กตัญญู" นี้กลับเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ ที่จะนิยามให้แก่ เด็กชายสรวิศ ไชยสัจ หรือ มาร์ค และเด็กหญิงณมล เทพโสภา หรือ ปาน สองเด็กชายหญิงยอดกตัญญูแห่งดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี
น้องมาร์ค หรือ สรวิศ ไชยสัจ เด็กหนุ่มวัย 14 ปี แห่งบ้านดงพลอง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา คือตัวอย่างแรกของความกตัญญู โดยชีวิตย่างเข้าวัยรุ่นของน้องมาร์ค ช่างแตกต่างจากเพื่อน ๆ คนอื่นอย่างสิ้นเชิง
ทุกวัน มาร์ค จะตื่นนอนตั้งแต่ไก่โห่ เพื่อไปเด็ดผักบุ้งท้ายทุ่งนามาหุงหาอาหารเตรียมไว้ให้คนที่มาร์คเรียกว่า "พ่อและแม่" หรือจริง ๆ ก็คือ ปู่และย่าแท้ ๆ ของเขา นั่นเพราะพ่อแม่ที่แท้จริงของมาร์คแยกทางกัน มาร์ค จึงต้องอาศัยอยู่กับปู่และย่ามาตั้งแต่จำความได้
ทุกวันเด็กชายชั้น ม.3 คนนี้ จะคอยเป็นหมอและพยาบาล ดูแลปู่ที่ล้มป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ ที่ทำได้เพียงนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนเตียงมานานหลายปี ซ้ำร้าย "ย่า" ยังป่วยด้วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรงจนลามถึงตา ทำให้ดวงตาของย่าดูเลือนราง และยังมีโรคแทรกซ้อนกระหน่ำซ้ำเติมอีก ซึ่ง มาร์ค ก็คอยดูแล และทำหน้าที่เป็นหมอคอยฉีดอินซูลินให้ย่าอยู่เป็นประจำ ทั้งหมดนี้คือภารกิจของ มาร์ค ในช่วงเช้า
ในช่วงพักกลางวัน หลังจากมาร์คเรียนหนังสือเสร็จสิ้นในช่วงแรก มาร์ค ก็ไม่ได้อยู่วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ หรือกินข้าวที่โรงเรียน แต่จุดหมายของ มาร์ค หลังจากออดพักเที่ยงดัง คือการรีบกลับมาที่บ้าน เพื่อป้อนข้าวให้ปู่ ตรวจเช็กเบาหวานและฉีดอินซูลินให้ย่า โดย มาร์ค ต้องรอให้ปู่และย่าทานข้าวเสร็จก่อน จึงทานส่วนที่เหลือ เพราะกลัวว่าข้าวที่มีอยู่จะทำให้ปู่ย่าไม่พออิ่ม
จากนั้น มาร์ค จะกลับไปเรียนต่อในช่วงบ่าย และเมื่อเลิกเรียนในตอนเย็น มาร์ค ก็ยังต้องทำกิจวัตรเหล่านี้เช่นเดิมในทุก ๆ วัน ส่วนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจดูแลปู่ย่าแล้ว เด็กชายคนนี้ยังต้องไปรับจ้างทำงานร้านเชื่อมเหล็ก เพื่อแลกเงินวันละ 140 บาท มาประทัง 3 ชีวิตให้อยู่รอดต่อไป ซึ่งแม้ว่าจะลำบาก แต่มาร์คก็บอกตัวเองว่าไม่เหนื่อย และจะไม่ท้อกับชีวิต แต่หากเขารู้สึกเหนื่อยขึ้นมาเมื่อใด มาร์ค จะบอกตัวเองเสมอว่า ปู่และย่ายังดูแลเขามาตั้งแต่เล็กได้ นี่คือเวลาที่ต้องตอบแทนบุญคุณพวกท่านบ้าง
ในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ยังมีเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเด็กหญิงยอดกตัญญู ปรากฎอยู่เช่นกัน
น้องปาน หรือ เด็กหญิงณมล เทพโสภา วัย 12 ปี ทำหน้าที่เป็นพยาบาลตัวน้อย คอยเฝ้าดูแลพ่อที่ล้มป่วยด้วยอัมพาตมานานหลายปี ขณะที่แม่ของปาน กลับทิ้งพวกเขาไป ตั้งแต่วันที่พ่อของปานเริ่มป่วย พร้อมกับทิ้งภาระอันหนักอึ้งให้กับน้องปาน เด็กหญิงวัย 6 ขวบในขณะนั้น
เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ ปาน ต้องเป็นผู้จัดการดูแลทุกอย่างในบ้าน เป็นทั้งแม่บ้าน เป็นพยาบาล ก่อนจะไปเรียนหนังสือในช่วงกลางวัน และกลับบ้านมาดูแลผู้เป็นพ่อในช่วงพักกลางวัน จากนั้น ปาน จะกลับไปเรียนต่อในช่วงบ่าย และเมื่อเลิกเรียน ปาน จะกลับมาดูแลพ่อต่อในตอนเย็นต่อ ทำอย่างนี้ทุกวันจนเป็นกิจวัตร บางวันก็ต้องขับรถทางไกลกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อพาพ่อไปโรงพยาบาล และถ้ามีเวลาว่าง ปานก็จะช่วยพ่อทำเปล หารายได้เสริมอีกทาง เรียกได้ว่าทุกวัน ปาน ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ มากกว่าจะออกไปวิ่งเล่น หรือดูโทรทัศน์อย่างเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเสียอีก
ปาน พูดเสมอว่า ถ้าปานไม่ทำก็ไม่มีใครทำ เพราะแม่ก็ทิ้งพวกเขาไปตั้งนานแล้ว และ ปาน ก็อยากดูแลพ่อ เพื่อให้พ่ออยู่กับปานไปนาน ๆ ซึ่งแม้ว่าภาระที่เด็กหญิงคนนี้ต้องทำทุก ๆ วัน จะหนักหนาสาหัสเพียงใด แต่ปานก็ไม่เคยปริปากบ่น เพราะเธอต้องการให้พ่อมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยปานบอกว่า "เป็นบุญของเธอที่ได้เกิดเป็นลูกของพ่อ"
พ่อบอกปานเสมอว่า ปานคือส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา หากไม่มีปานเขาก็คงอยู่ไม่ได้ ซึ่งพ่อก็เชื่อว่า ความดีของปาน แม้จะไม่มีคนเห็น แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องเห็น และสุดท้ายเธอต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตอบแทนกลับไปแน่นอน
ได้เห็นเรื่องราวชีวิตของน้องมาร์ค และน้องปาน แล้ว เชื่อว่าคงทำให้ใครหลาย ๆ คนมีกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิต เพราะเพียงแค่เด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง กลับสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า "ความกตัญญู" ในขณะที่คนมากมายกลับทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่เทียบเท่าน้องทั้งสองคนเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสือ ฅ คน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (49) พฤศจิกายน 2552