x close

ก้าวย่างชีวิต พล.อ.สนธิ เวลาเปลี่ยน (คน) ก็เปลี่ยน

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน



ก้าวย่างชีวิต พล.อ.สนธิ เวลาเปลี่ยน (คน) ก็เปลี่ยน (มติชน)

          ในที่สุด "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ที่เคยเป็น "ผู้นำคณะทหาร" เตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) ร่วมกันเขียนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการ "รัฐประหาร-ยึดอำนาจ" รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายใต้ชื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ตัดสินใจประกาศจุดยืน "เล่นการเมือง" แบบเต็มตัว ด้วยการสังกัดพรรคการเมือง "น้องใหม่" อย่างพรรคมาตุภูมิ 

          แม้ว่าการตัดสินใจ "ลุยงานการเมือง" ครั้งนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะทุกก้าวย่างของ พล.อ.สนธิ ตั้งแต่เกษียณเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ก็ได้เดินสาย "นักศึกษาวิชาการเมือง" เต็มขั้นเสริมความรู้ทางวิชาการเมืองให้ตัวเอง 

          ด้วยการเข้าเรียนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเทียบเท่าระดับปริญญาเอก ถือเป็นหลักสูตรพิเศษที่เปิดเป็นรุ่นแรก และ พล.อ.สนธิ ก็เป็นประธานรุ่น

          นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ยังได้เข้าศึกษาอบรมหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนักการเมืองจากหลายพรรคร่วมเรียน พอมองเห็นจังหวะก้าวของ พล.อ.สนธิ 

          ดังนั้น การเปิดตัว "เล่นการเมือง" เป็นทางการ อาจมองได้ว่าเป็นการแสดง "ตัวตนแท้จริง" ได้ไม่น้อยเช่นกัน

          มองย้อนกลับไปในวันที่ พล.อ.สนธิ ยังอยู่บน "เก้าอี้แห่งอำนาจ" ในตำแหน่งประธาน คมช. ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า "ไม่สนใจการเมือง ไม่เล่นการเมือง และจะไม่รับตำแหน่งใดทางการเมืองทั้งช่วงที่เป็น คมช. และหลังสิ้น คมช."

          นี่คือการประกาศ "จุดยืนร่วมกัน" ของบรรดาสมาชิก คมช. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 หลัง "ยึดอำนาจ" ได้สำเร็จเพียงหนึ่งวัน ซึ่ง คมช.ทุกคนเห็นพ้องกันว่าจะ "ไม่แสวงอำนาจการเมือง" เป้าประสงค์เพียงเพื่อ "ยุติอำนาจ" รัฐบาลขณะนั้นที่บริหารประเทศแล้วเกิดปัญหา 

          ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ คมช.เรืองอำนาจทุกคนต่างรักษาจุดยืนได้ชัดเจน คือปล่อยให้รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารประเทศ "รักษาเกมการเมือง" แม้ว่าจะมี คมช.เป็นผู้ช่วยประคับประคอง 

          แต่สิ่งที่ถือเป็น "จุดเริ่มความเสื่อม" ของ คมช. คือ การตัดสินใจลาออกจากประธาน คมช. ของ พล.อ.สนธิ เพื่อเข้าไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงหลังเกษียณอายุราชการ และส่งไม้ผลัดให้ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำหน้าที่รักษาการประธาน คมช. แทนในช่วง "โค้งสุดท้าย" ก่อนการนำสังคมไทยเข้าสู่การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550

          และจากการที่พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะหลังการเลือกตั้ง ทำให้ คมช.แถลงจบภารกิจด้วย "ความพ่ายแพ้" ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ดูแลประเทศ ถือเป็นการ "ปิดตำนาน คมช." อย่างเป็นทางการ 

          ทั้งนี้ การตัดสินใจ "ทิ้งเรือ คมช." ของ พล.อ.สนธิครั้งนั้น ได้สร้างความ "เคลือบแคลงใจ" ให้แก่เหล่าสมาชิก คมช. ทั้งที่มีการทักท้วงว่า "ไม่เหมาะสม" เพราะอาจถูกข้อหาว่า "ผิดคำพูด" เหมือนสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนถูกนำมาโยงเป็นประเด็นได้ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่อาจเปลี่ยนใจ พล.อ.สนธิได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ คมช. เข้าสู่จุดเสื่อม และสุดท้าย คมช.ก็ต่างคนต่างไป..!?! 

          ทั้งนี้ หลังลงจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ ก็เก็บตัวเงียบเป็น "นักเรียนการเมือง" แม้จะมีกระแสข่าวต่อเนื่องว่าจะเล่นการเมือง ด้วยการตั้งพรรคทหารขึ้นมา หลังส่ง "นักประสานสิบทิศ" อย่าง พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการ คมช. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 คนสนิท ไป "ระดมทุน" 

          ด้วยความที่ พล.อ.วินัย มีคอนแทคท์ทางการเมืองไม่น้อย อาทิ จากกลุ่มเพื่อนเซ็นต์คาเบียลของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กลุ่มทุนเซ็นทรัลกรุ๊ป กลุ่มทุนคอมลิงค์ และพ้องเพื่อน วปรอ. 4111 ที่มีนักการเมือง กลุ่มนายทุนเข้าเรียนจำนวนมาก

          และเมื่อผนวกกับ "ทุน คมช.เดิม" ทำให้แนวคิดตั้งพรรคเกือบเป็นจริง ด้วยการให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตนายทหารรบพิเศษรุ่นพี่ที่ พล.อ.สนธิ นับถือ ไปร่วมกับ ร.อ.ขจิต ทัพนานนท์ เปิดตัวพรรครักชาติขึ้นมา แต่สุดท้ายเมื่อ พล.อ.สนธิ ไม่ยอมเปิดตัวและจ่ายทุนตามสัญญา ทำให้ "โมเดล" พรรครักชาติต้องกลายเป็นหมัน และสัมพันธ์ พล.อ.พัลลภ กับ พล.อ.สนธิ ก็หันหลังให้กันนับจากวันนั้น 

          แม้ว่าการเปิดตัว "เล่นการเมือง" ของ พล.อ.สนธิ ครั้งนี้จะผ่านพ้นการเมืองยุค คมช. มากว่า 3 ปี อีกทั้งสถานะทางสังคมของ พล.อ.สนธิ เวลานี้คือ "ประชาชนเต็มขั้น" ดังนั้น อาจจะมีความชอบธรรมในการเปิดหน้า "เล่นการเมือง" เต็มตัว

          แต่หากมองย้อนกลับไปถึง "ถ้อยคำพูด" และ "จุดยืน" ของผู้ที่เคยมีอำนาจยุคหนึ่งของสังคมไทย ณ ช่วงเวลาหนึ่งพูดอย่าง มาถึงวันนี้พูดอีกอย่าง ก็ย่อมสะท้อนตัวตนของคนนั้นได้อย่างดี และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 พล.อ.สนธิ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "มติชน" และพูดถึงอนาคตการเมืองไว้ว่า "ถึงอย่างไรก็จะไม่เป็นหัวหน้าพรรค และไม่เป็นนายกรัฐมนตรี" 

          มาถึงวันนี้ นอกจาก พล.อ.สนธิแถลงเปิดตัวเล่นการเมืองแล้ว "เจ้าตัว" ยังเปิดตัวการเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิอีกด้วย ไม่รู้ว่าทุกก้าวย่างของ พล.อ.สนธิ จะยึดติดอยู่กับปฏิบัติการ "ลับ ลวง พราง" จนลืมจุดหลักของความเป็นคนไทยที่ไม่ค่อยพิสมัยคนที่ชอบ "การโกหก" หรือ "การไม่พูดความจริง" เช่นเดียวกัน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก้าวย่างชีวิต พล.อ.สนธิ เวลาเปลี่ยน (คน) ก็เปลี่ยน อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:46:21 14,994 อ่าน
TOP