x close

ตามหาความสุขกับพยาบาลน้ำพอง สมจิตร์ สมหวัง


ความรัก

 



ตามหาความสุขกับพยาบาลน้ำพอง ... สมจิตร์ สมหวัง (มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์)

โดย : ศรีสุภา ส่งแสงขจร

          "ความสุข" เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ตามหา แต่ใช่ว่าทุกคนจะค้นพบได้ 

          สำหรับ สมจิตร์ สมหวัง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เธอได้พบแล้วว่าความสุขของเธออยู่ที่ใด

          ฝันอยากเป็น "พยาบาลใจดี"

          เด็กหญิงสมจิตร์ ขวัญพรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วันนี้เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนน้ำพองตามปกติ แต่บ่ายของวันนั้นอนาคตของเธอก็เผยออกมาให้เห็นล่วงหน้า

          เมื่อจู่ๆ เธอรู้สึกไม่สบายตัว เพราะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณข้อมือ แถมมีอาการคันร่วมด้วย เธอจึงรีบไปหาหมอที่สถานีอนามัย ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงเรียนทันที

          ขณะที่กำลังเปิดประตูเข้าไปนั้น เธอก็ได้ยินเสียงดังเอะอะโวยวาย เหมือนคนกำลังทะเลาะกัน และภาพที่เห็นตรงหน้าก็ทำให้เธอต้องหยุดชะงัก 

          เมื่อพยาบาลประจำสถานีอนามัยเพียงคนเดียวในเวลานั้นแสดงกิริยาเกรี้ยวกราดโมโหอย่างรุนแรง พร้อมชี้หน้าและด่าตะโกนเสียงดังลั่น เมื่อมองไปฝั่งตรงข้ามก็เห็นเพียงชาวบ้านแม่ลูกอ่อนและเด็กเล็กอยู่ 3-4 คน ซึ่งได้แต่นั่งมองตาปริบๆ โดยไม่พูดโต้ตอบนางพยาบาลสักนิดเลย 

          ขณะที่นางพยาบาลยังคงด่าทอชาวบ้านอย่างไม่สนใจไยดี จังหวะเดียวกันนั้นมือของแกก็ปัดไปโดนยาขวดใหญ่ ซึ่งบรรจุยาไว้เต็มขวดประมาณพันเม็ด ตกกระจายทั่วพื้น 

          ความเงียบกริบเกิดขึ้นชั่วขณะ ไม่นานนักชาวบ้านที่นั่งอยู่ต่างอุ้มลูกเดินหนีไป นางพยาบาลคนเดิมตะเบ็งเสียงดังด่าทอตามหลังไปอีก 

          ถึงแม้ตอนนั้นเด็กหญิงสมจิตร์ยังอายุน้อย และไม่ได้เข้าไปช่วยเหลืออะไรมากนัก นอกจากช่วยเก็บยาเท่าที่ทำได้ แต่เธอก็รับรู้ถึงความรู้สึกของชาวบ้านที่มาอนามัยแห่งนี้ได้ทันทีว่า พวกเขาที่ป่วยนั้นไม่ได้ป่วยทางกายอย่างเดียว แต่ใจยังป่วยด้วยจากคำพูดคำจาและท่าทีของนางพยาบาล

          เธอเก็บเม็ดยาไปก็พลางนึกในใจไปว่า "ทำไมพยาบาลพูดไม่เพราะ ทำไมถึงต้องใช้ความรุนแรงกันด้วย ทำไมพยาบาลไม่ดูแลชาวบ้านดีๆ" แล้วก็เกิดคำถามหนึ่งขึ้นในใจของตัวเองต่อทันทีว่า “แล้วเราจะเป็นพยาบาลที่ดี โดยไม่ใช้ความรุนแรงกับคนไข้เช่นนี้ได้ไหม"

          คำถามในวันนั้นยังคงดังก้องอยู่ในใจของเด็กน้อย และกลายเป็นความฝันในอนาคตต่อมาว่า "สักวันฉันจะเป็นนางพยาบาลที่ใจดีให้ได้"

          ความฝันของเด็กหญิงสมจิตร์ไม่เป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ เมื่อเธอได้เติบใหญ่กลายเป็นนางฟ้าในชุดสีขาวที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อยู่เต็มหัวใจ เธอตั้งใจร่ำเรียนจนจบพยาบาลเทคนิค และเข้าทำงานต่อที่โรงพยาบาลน้ำพองประจำบ้านเกิดทันที

          แม้ประสบการณ์ชีวิตในอาชีพนางพยาบาลตลอด 23 ปีจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความสุขใจที่ได้เดินตามเส้นทางความฝัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้หมายถึงความสุขที่แท้จริง 

          เข้าใจตนเอง เพื่อเข้าใจผู้อื่น

          จนกระทั่งปี 2533 เธอต้องเผชิญหน้ากับมรสุมชีวิตครั้งยิ่งใหญ่นั่นคือการสูญเสียเสาหลักครอบครัวอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุรถชน 

          เธอเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "ตอนนั้นลูกชายคนโตยังเล็กมากอายุแค่ 2 ขวบ เราจึงต้องเตือนสติและบอกย้ำกับตัวเองตลอดว่า เรายังมีลูกที่ต้องดูแล คนตายก็เหมือนแก้วที่แตกไปแล้วเอาคืนไม่ได้แล้ว เราจะเศร้าโศกเสียใจไปก็ไม่มีประโยชน์ จึงร้องไห้กับการสูญเสียสามีอยู่เพียงหนึ่งวัน แล้วลุกขึ้นยืนต่อทันที ไม่ร้องไห้อีก"

          หลังจากนั้นไม่นานนัก เธอพบรักและแต่งงานใหม่กับคุณพ่อของลูกสาวคนที่ 2 ที่เข้ามาเติมเต็มความรักและความอบอุ่นให้กับชีวิตครอบครัวของเธอ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตอีกครั้ง หลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก  

          นอกจากความเครียดจากการเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งเธอยอมรับว่าเรียนหนักมากแล้ว ปัญหาครอบครัวยังประเดประดังซ้ำเติมเข้ามา เพราะการเงินทางบ้านฝืดเคือง ประกอบกับเวลานั้นสามีของเธอตกงาน จากที่เคยทำงานในกรุงเทพก็ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ขอนแก่น และที่สำคัญเขาชอบดื่มเหล้าด้วยนี่สิ เป็นเรื่องที่เธอรับไม่ได้ 

          เธอเครียดมากและถึงขั้นเคยคิดจะเลิกกับสามี เพราะเงินก็ไม่มี แถมสามียังนำเงินเก็บไปลงกับขวดเหล้าเสียอีก เธอเกลียดคนดื่มเหล้ามากอยู่แล้ว ทำให้ทั้งสองทะเลาะเกือบทุกวัน

          แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีที่เธอได้พบหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาศัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จนเกิดความเข้มแข็ง ความอดทน ความปรองดองในชีวิตครอบครัว และแผ่ขยายถึงการปฏิบัติงานส่งผลให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 

          เธอทบทวนเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตว่า "ก่อนเกิดเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตช่วงที่สองนั้น เหมือนเราถูกเตรียมมาแล้ว เพราะในปี 2535 เป็นช่วงที่เราไปเรียนพยาบาลต่อเนื่อง ระดับปริญญาตรี มีวิชาหนึ่งที่ได้ลงเรียนนั่นคือวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา"

          จากการศึกษาในห้องเรียนครั้งนั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา 

          เธอเริ่มต้นสนใจธรรมะ ศึกษาหลักการของเหตุและผล รวมถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ทั้งค้นคว้าจากการอ่านหนังสือและการฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อต้องการให้เกิดทาน ศีล สมาธิและปัญญาของตนเอง

          เพราะตั้งแต่ปี 2539 เธอได้เข้าคอร์สปฎิบัติธรรม 7 วัน ของ คุณแม่ดร.สิริ กรินชัย ถึงแม้จะยังไม่เจอสภาวะทุกข์มากมายอะไร ชีวิตยังปกติ แต่หลังจากปฏิบัติธรรมกลับมา สิ่งที่ได้คือศรัทธาอย่างแรงกล้า และตั้งปณิธานกับตัวเองตั้งแต่นั้นมาว่าจะปฏิบัติธรรมทุกปี วันลาวันพักผ่อนทั้งหมดที่มีจะใช้เป็นวันปฏิบัติธรรมทั้งหมด 

          จนกระทั่งเธอพบทุกข์หนักเมื่อต้นปี 2541 ทุกอย่างมาพร้อมกัน แต่จากที่หนักก็กลายเป็นเบาได้ด้วยธรรมะ ซึ่งช่วยให้เข้าใจตนเอง และช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างตัวเรากับผู้อื่น จนทำให้เข้าใจผู้อื่นตามมาได้ เธอเล่าถึงบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้นว่า

          "ปัญหาการเงินเริ่มคลี่คลาย เพราะเราเอาที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ไปขาย ถึงบรรเทามาได้ ถ้าไม่เช่นนั้นไม่รู้ทำอย่างไร ส่วนเรื่องการเรียนก็เรียนจนจบปริญญาโทและพยาบาลเวชปฏิบัติ ทำให้เราสามารถเปิดคลินิกรักษาคนไข้และกลายเป็นรายได้เสริม จนการเงินเริ่มดีขึ้น"

          ในปี 2545 สามีของเธอเริ่มหันมาทำเพาะปลูกเกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญเขาเลิกเหล้าได้และหันมาปฏิบัติธรรมเองด้วย

          "ถ้าไม่เจอธรรมะมาก่อน ไม่รู้ว่าจะเลิกกันตอนนั้นหรือเปล่า เพราะช่วงที่เราปฏิบัติธรรมนั้น เขาจะต่อต้านตลอด และหาเรื่องทะเลาะทุกครั้งที่เราจะไปปฏิบัติ 

          "แต่พอเราเปลี่ยนตัวเองคือเราเข้าใจตัวเองก่อน จากที่เคยโกรธเขามากๆ ความโกรธก็ลดลงๆ กลายมาเป็นการแผ่เมตตาให้เขา ทำให้เขาเปลี่ยนด้วย พอเลิกโกรธ เขาก็เปลี่ยนเลย แต่ใช้เวลานานอยู่หลายปี เขาถึงเลิกดื่มเหล้า เลิกอบายมุข และหันปฏิบัติธรรม โดยที่เราไม่ได้บังคับ"

          ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าใจตัวเองยังทำให้เธอเข้าใจถึงธรรมชาติของทุกๆ ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิต เธอเล่าถึงแนวคิดในการให้กำลังใจตัวเองว่า 

          "ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเดี๋ยวจะผ่านไป ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็ดับไปเป็นธรรมดา เพราะทุกข์ไม่มีทุกข์ตลอดเวลาหรอก มีทุกข์ก็ต้องมีสุข และทุกวันนี้ที่คนอื่นเห็นเรามีความสุข เราก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความสุข แต่อยากเรียกว่าทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ ทุกข์น้อยเพราะเราเข้าใจ 

          "ยกตัวอย่างมีคนพูดนินทาว่าร้ายและบังเอิญเราได้ยินสิ่งที่เขาพูด ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะเดินไปหาและพูดโต้ตอบทันที เพราะไม่ใช่คนยอมใครง่ายๆ แต่เดี๋ยวนี้จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะถ้ามีคนพูด เราจะฟังและนำมาพิจารณาไตร่ตรองดูก่อนว่าสิ่งที่เขาพูดมันผิดไหม ถ้าเป็นเรื่องจริง เราก็จะพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ดีก่อน 

          "แต่ถ้าสิ่งที่เขาพูดไม่เป็นความจริง เราจะทำความเข้าใจก่อนว่าที่เขาพูดเพราะเขาไม่รู้ ถ้าเขารู้คงไม่พูดเช่นนี้หรอก เราจะพิจารณาดูความเหมาะสมเช่นกันก่อนว่า ถ้าอธิบายด้วยเหตุผลและเขาเข้าใจก็จะพูดตรงๆ แต่ถ้าคิดว่าพูดอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็จะไม่พูด ปล่อยวาง และไม่ต้องไปโกรธเขา เราก็จะไม่ต้องทุกข์"

          แต่ความสุขของเธอไม่ได้หยุดแค่การได้พบความสุขในชีวิตตัวเองและครอบครัวเท่านั้น เมื่อเธอฝึกสร้างความเข้าใจตนเอง และช่วยให้ตัวเธอเข้าใจผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงหล่อหลอมจิตใจของเธอที่อยากช่วยเหลือเพื่อนที่ทุกข์ยากทวีคูณมากยิ่งขึ้น 

          คนสร้างค่า งานสร้างสุข 

          คนเราเกิดมาแล้วก็มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ช่วงสั้นๆ น่าจะทำอะไรที่เรามีความสุข ไม่ใช่ความสุขที่เราได้ "เป็น" แต่คือความสุขที่เราได้ "ทำ"   

          เธอพูดขึ้นด้วยสีหน้าท่าทางของคนสุขใจและภูมิใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นความสำเร็จให้ตัวเธอมีพลังใจที่ทำเรื่องนี้ต่อไป

          เธอหลับตาย้อนนึกถึงภาพคืนวันในอดีตเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากเธอจะทำหน้าที่เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำศูนย์สุขภาพชุมชนหรืออนามัย 4 วันในหนึ่งสัปดาห์แล้ว หนึ่งวันที่เหลือคือการทำงานที่โรงพยาบาลน้ำพอง รวมถึงงานให้คำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีด้วย

          ช่วงสายในวันหนึ่ง เธอได้รับแจ้งจากแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินว่ามีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและต้องการคำปรึกษา ภาพที่เห็นตรงหน้าคือหญิงวัยกลางคน อายุ 50 กว่าปี รูปร่างผอมสูง ผิวคล้ำ อยู่ในสภาพอิดโรยอย่างมาก และที่สำคัญตามร่างกายของเธอมีรอยฟกช้ำไปทั่ว

          เมื่อสอบถามจึงได้ทราบว่าแกชื่อสาย ถูกลูกชายทำร้ายมา เนื่องจากลูกชายติดยาเสพติดและเหล้า ชอบทำร้ายภรรยาและชอบเมาอาละวาดเพื่อนบ้านเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้สะสมมาเนิ่นนาน จนทำให้แกเครียดมากถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ เนื่องจากต้องคอยรองรับอารมณ์จากการอาละวาดของลูก เพราะเขาจะทำร้ายทั้งคนทั้งสิ่งของ 

          แกเห็นแล้วก็สงสารลูกสะใภ้ จึงออกอุบายส่งลูกสะใภ้และหลานทั้งสองคนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ที่นี้พอลูกชายรู้ก็โมโห เมื่อวานตอนเย็น ขณะที่แกกำลังทำสวนอยู่ที่หลังบ้าน ลูกชายก็ตรงเข้ากระชากคอเสื้อของแม่บังเกิดเกล้า แล้วลากร่างของแกไปตามแปลงผักที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นร่อง

          ไม่ใช่แค่ลากไปตามพื้นเท่านั้น แต่ลูกชายยังคว้าไม้ท่อนใหญ่มาตีแกอย่างแรงอีกด้วย ป้าสายเล่าไปก็ร้องไห้ไป แกบอกว่าพยายามหลบหลีกและร้องให้คนช่วยอย่างสุดชีวิต แต่ก็ยังถูกผู้เป็นลูกที่อยู่ในอาการคลุ้มคลั่งตีเข้าตามร่างกายหลายแห่ง ส่วนพ่อและญาติที่เข้ามาช่วยก็ถูกตีและชกต่อยจนบาดเจ็บไปตามๆ กัน

          เมื่อชาวบ้านคนอื่นได้ยินก็วิ่งมาจับลูกชายไว้ได้ ด้วยความหวาดกลัวว่าจะไม่มีทางหยุดอาการคลุ้มคลั่งของลูกชายได้ แกก็แจ้งความให้ตำรวจมาจับดำเนินคดี แม้ในใจจริงของแกและสามีจะไม่อยากให้ตำรวจจับลูกชายไปก็ตาม 

          แกบอกว่าที่มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปดี ถ้าจะให้ลูกชายกลับบ้านก็ยังหวาดกลัวว่าลูกจะกลับมาทำร้าย แต่พอแจ้งจับลูกชายก็ทุกข์หนัก ด้วยความเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก กลัวลูกต้องพบความลำบากในห้องขัง

          ป้าสายเล่าไปก็ร้องไห้ระบายความรู้สึกอัดอั้นไปด้วย เธอรู้สึกสงสารหญิงผู้เป็นแม่ตรงหน้าอย่างจับใจ จึงยื่นมือไปแตะที่ตักของแกเบาๆ และพูดให้กำลังใจกับป้าสายว่า 

          "หมอเข้าใจความรู้สึกของป้านะ คงไม่มีใครอยากให้ลูกตัวเองติดคุกหรอก แต่ในตอนนั้นป้าก็ทำดีที่สุดแล้วล่ะ เพราะถ้าไม่แจ้งตำรวจ เขาอาจจะทำร้ายใครต่อใครอีกก็ไม่รู้ อย่างน้อยตอนนี้เราก็หยุดเขาไว้ได้ ส่วนจะทำอย่างไรต่อไป เดี๋ยวค่อยๆ คิดกันนะ"

          ต่อมา เธอจึงนำเรื่องนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมเครือข่ายสหวิชาชีพของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีระดับอำเภอ ซึ่งจากการประชุมครั้งนั้นทำให้เธอกลับมาประเมินสภาพครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบด้านเพิ่มขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาต่อไป

          เธอเข้าไปเยี่ยมครอบครัวของป้าสายอีกหลายครั้ง ทำให้ได้พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเจ็ดปีก่อน ลูกชายของป้าเคยเข้ารักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชในขอนแก่น หลังจากเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ เพราะรถพลิกคว่ำจนสลบไปหลายวัน ซึ่งแพทย์ผู้รักษาบอกว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นอาจมีผลทำให้อารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวร้าวมากขึ้น 

          ขณะที่ป้าสายบอกว่าลูกชายไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชได้เพียงแค่ครั้งเดียวก็ไม่กลับไปอีกเลย เธอจึงตัดสินใจชักชวนเพื่อนๆ ทีมสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลไปเยี่ยมเขาในคุก เพื่อพูดคุยให้กำลังใจและประเมินสภาพจิตอีกครั้ง 

          มีครั้งหนึ่งที่เธอไปเยี่ยมได้ถามลูกชายของป้าสายว่า "อยู่ในนี้เหงาไหม" เขาบอกว่า "เหงา" เธอจึงถามต่อว่า "อยากได้หนังสือธรรมะไปอ่านไหม คราวหน้าจะเอามาฝาก" แต่ในใจของเธอก็ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่คิดว่าธรรมะอาจกล่อมเกลาจิตใจเขาได้บ้าง เขานิ่งคิดอยู่สักครู่ก่อนพยักหน้าและตอบกลับว่า "เอาที่มีบทสวดมนต์นะ ผมชอบสวดมนต์"

          หลังจากเอาหนังสือธรรมะให้ลูกชายของป้าสายอ่านแล้ว เธอยังคงแวะเยี่ยมเยียนและปลอบใจครอบครัวของป้าสายตามปกติ เธอบอกเล่าคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ระบุว่าลูกของป้าเป็นโรคจิตชนิดบุคลิกภาพแปรปรวน (Personality Disorder) ต่อมาเขาได้รับการบำบัดรักษา โดยทางโรงพยาบาลจิตเวชจะจัดรถมารับจากเรือนจำอย่างต่อเนื่อง จนอาการดีขึ้นตามลำดับ

          ก่อนจะครบกำหนดพ้นโทษประมาณ 1 สัปดาห์ เธอและทีมบำบัดของโรงพยาบาลได้นัดประชุมปรึกษากลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งผู้ป่วยกลับเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน

          "เราไม่ได้ทำงานแค่ต้องการผลการรักษาแล้วก็จบ ความฝันสูงสุดคือการที่ผู้ป่วยต้องกลับมาเป็นที่ยอมรับของสังคม และอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ"

          เธอและทีมงานทั้งหมดจึงได้ช่วยกันเตรียมชุมชน โดยการเชิญชวนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พระ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในชุมชนมานั่งพูดคุยปรึกษากัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการได้ช่วยเหลือผู้ชายคนหนึ่งที่หลงผิดไปกับอารมณ์ชั่ววูบที่บัดนี้ต้องการกับมาเป็นคนดีของสังคม 

          การประชุมในวันนั้นผ่านไปด้วยดี จนถึงช่วงสุดท้ายของการประชุมคือการให้พ่อและแม่ได้พบลูก เพื่อปรับความเข้าใจต่อกัน 

          บรรยากาศของความรักและการให้อภัยกันและกันอบอวลไปทั่วห้อง เมื่อลูกชายก้มลงไหว้พ่อและแม่ พร้อมบอกว่าเขารู้สึกผิดที่ได้ทำร้ายพ่อแม่ ต่อไปจะไม่กระทำอีก 

          เธอนั่งมองเหตุการณ์ตรงหน้าด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังนึกหวั่นกลัวในใจว่าเขาจะไม่สามารถทำตามที่พูดไว้ได้ จึงคิดหาวิธีเสริมกำลังใจ โดยแนะนำให้เขาบวชทดแทนคุณพ่อแม่อีกอย่างน้อย 7 วัน 

          เขาตอบตกลงทันที และบอกว่า “ขอไปบวชที่วัดอัมพวันของหลวงพ่อจรัญที่จังหวัดสิงห์บุรี” ผู้เป็นพ่อสงสัยว่าทำไมต้องบวชไกลบ้านนักล่ะ เขาตอบทับทีว่า “รู้จากหนังสือที่คุณหมอเอามาให้ อ่านแล้วรู้สึกดีครับ” ลูกตอบกลับพ่อด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

          จากวันที่ลูกผู้ชายคนนี้เคยหลงผิดก็กลับมาอยู่ในสังคม โดยอุทิศตนเข้าสู่ใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน  แต่ที่น่าดีใจกว่านั้นคือพ่อแม่ของเขา ซึ่งบัดนี้มีหน้าตาเปี่ยมไปด้วยริ้วรอยแห่งความสุขใจ ป้าสายบอกกับเธอพร้อมน้ำตาแห่งความปิติยินดีว่า "ชีวิตของป้าเหมือนตายแล้วได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่นี้ไปป้ากับลุงคงนอนตายตาหลับแล้ว"

          แต่คงไม่ใช่เพียงป้าสายและลุงผู้เป็นสามีเท่านั้นที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำในใจของนางพยาบาลคนนี้ให้รู้สึกเฉกเช่นเดียวกัน 

          ถึงแม้ป้าสายจะไม่ใช่คนไข้รายแรกที่เธอให้คำปรึกษา แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกชายที่บวชไม่สึก ลุงและป้าที่หันมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม ชีวิตของคนในครอบครัวป้าสายและคนในชุมชนที่เปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุข หายทุกข์หายโศกนั้นก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรมากมาย

          จากกระดาษไร้ค่าสู่อุดมการณ์ชีวิตจริง

          เธอตอกย้ำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตด้วยการจดลงสมุดบันทึกส่วนตัวว่า 

          "การได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้ตัวเราเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งได้เรียนรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีใครจะทำให้เราทุกข์ได้ นอกจากตัวเราเอง ต้องแก้ไขตัวเอง พอพัฒนาตัวเองได้แล้ว จึงพัฒนาคนอื่นต่อไป 

          "และที่สำคัญความเจ็บป่วยไม่ได้เกิดแค่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่เกี่ยวพันไปถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนเกี่ยวข้องด้วย

          "ดังนั้น การทำให้ผู้อื่นรู้สึกเห็นคุณค่าแห่งตน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและการปรับเปลี่ยน ต่อมาเมื่อตัวเขาเปลี่ยน ครอบครัวเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน และสุดท้ายโลกจะเปลี่ยนไปได้อย่างน่าเหลือเชื่อ"

          เธอเขียนย้ำคำพูดที่เคยบอกใครหลายว่า "เรามีความสุขได้ ไม่ใช่ความสุขที่เราได้ "เป็น" แต่คือความสุขที่เราได้ "ทำ"

          "แต่ทำในที่นี้คือได้ทำงานด้วยการวางจิตวางใจอย่างถูกต้อง หมายถึงรู้จักการปล่อยวางตัวตน ไม่ยึดติดว่าเป็นเราหรือของเราหรือทำงานด้วยจิตว่างนั่นเอง งานก็จะสำเร็จ ส่วนคนทำก็จะมีความสุขด้วย เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองพร้อมกับความสำเร็จที่เกิดกับส่วนรวม 

          "แม้จะเป็นการทำงานเล็กๆ แต่ควรระลึกว่าเราได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมและช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ได้ ขณะเดียวกันงานที่เราทำก็มีส่วนในการสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับชีวิตด้านในหรือจิตใจของเราไปด้วย"

          เธอเปิดสมุดบันทึกเล่มหน้าต่อไปก็พบกับเศษกระดาษแผ่นน้อยที่มีสีเหลืองซีดจางตามกาลเวลา เธอมองไปยังกระดาษไร้ค่าแผ่นนั้นด้วยแววตามุ่งมั่น ในนั้นมีรอยขีดเขียนว่า

         "ไม่จมอยู่กับเงินตรา       ไม่บ้าอยู่กับอำนาจ 

          ฉลาดรู้ทันสิ่งสมมติ         บริสุทธิ์ไม่ทุจริต 

          คิดแผ่เมตตา                 ศรัทธาสร้างกุศล 

          เห็นทุกคนมีคุณค่า          กล้าเผชิญความจริง 

          ไม่ละทิ้งอุดมการณ์         รักงานเท่าชีวิต                

          พูดทำคิดยึดคุณธรรม"

          เธออ่านบทกลอนข้างต้นแล้วแอบอมยิ้มนึกถึงที่มาของกระดาษใบน้อยที่กลายเป็นอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของชีวิตก่อนนึกในใจกับตัวเองว่า 

          "เราอ่านเจอบทกลอนนี้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ตอนที่เห็นเป็นเศษกระดาษแล้วนะ แต่ก็เก็บกลับมา เพราะคิดในใจว่าอยากเป็นแบบนี้ให้ได้ และจะพยายามทำให้เป็นจริง ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราจึงยึดถือบทกลอนนี้เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต"

          แม้อาชีพพยาบาลจะต้องเผชิญความทุกข์และความเจ็บป่วยทั้งกายใจของคนไข้วันแล้ววันเล่า แต่เธอก็ไม่เคยละเลยที่จะนำปรัชญานี้มาใช้ในชีวิตจริง

          เพราะการทำงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ทำให้เราภูมิใจที่ถือว่าเป็นผู้เริ่มต้นแล้วทุกอย่างเป็นไปได้อย่างสวยงาม เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ได้รับน้ำได้รับปุ๋ยที่เพียงพอ กลายเป็นต้นไม้แห่งมิตรภาพที่สวยงามที่ประกอบไปด้วยคนดีๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์และจรรโลงโลกได้อย่างสง่างาม 

          เธอได้พิสูจน์ให้ตัวเองและทุกคนที่รู้จักได้รับรู้แล้วว่า ความสุขคือความตระหนักรู้ว่าในทุกขณะเรากำลังอยู่บนหนทางที่ถูกต้อง เราไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อจะมีความสุข แต่เรามีความสุขได้ ณ ที่นี่ และในขณะนี้

          เหมือนเช่นการทำงานด้วยหัวใจของพยาบาลแห่งลุ่มน้ำพองคนนี้นี่เอง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามหาความสุขกับพยาบาลน้ำพอง สมจิตร์ สมหวัง อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 11:56:08 17,801 อ่าน
TOP