x close

ออก 3 มาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ATM

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ช่วงนี้เราคงได้ยินข่าวคราวแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกลวงประชาชน ให้ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มระบาดอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้ประชาชนหวาดหวั่นไปตาม ๆ กัน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (3 สิงหาคม) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวร่วมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) ตัวแทนฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนแบงก์ชาติ และผู้ให้บริการวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ) จำนวน 12 ราย ได้เข้าประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติของแก๊งคนร้ายคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานราชการหลอกลวงประชาชน เพื่อให้โอนเงินผ่านระบบเอทีเอ็ม

          โดยที่ประชุมได้ออกมาตรการเร่งด่วน 3 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ

          1.ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย ในการส่งเอสเอ็มเอสเตือนไปยังผู้ใช้ที่มีอยู่เกือบ 60 ล้านราย

          2.เปิดช่องทางรับร้องเรียนผ่านเลขหมายสายด่วน 1200 ของ กทช. สายด่วน 1155 ของตำรวจท่องเที่ยว และสายด่วน 1135 ของ ปคบ. โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง

          3. ขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยให้ไอเอสพีตรวจการใช้งานของลูกค้า ที่มีปริมาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (ทราฟฟิก) สูงผิดปกติ แล้วแจ้งให้ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ( สบท.) เพื่อประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนจับกุมต่อไป

          นอกจากนี้ จะมีการจัดระเบียบผู้ให้บริการโทรผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (วอยซ์โอเวอร์ไอพี) ด้วย เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่กลุ่มอาชญากรใช้ในการหลอกลวง

          ทั้งนี้ สำหรับการปราบปรามนั้น จะมี 2 มาตรการ คือ เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาตำรวจสอบสวนกลาง จะเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีทันที หรือถ้าเมื่อมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแจ้งเข้ามาว่า มีการส่งทราฟฟิกจำนวนมากจนน่าสงสัย แล้วประสานงานมายัง สบท. แล้ว ตำรวจสอบสวนกลางก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีโดยเร็ว

          โดย พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะประชาชนควรรู้ว่า บุคคลที่โทรมาหาเป็นใคร โทรมาจากที่ไหน ต้องสามารถตรวจสอบได้ หากตรวจสอบได้ แก๊งคนร้ายก็จะเกรงกลัวขึ้น และเจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าจับกุมได้ในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม การจับกุมที่ผ่านมามีข้อจำกัด เพราะกลุ่มมิจฉาชีพมีความรวดเร็วในการทำงาน และคอลเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ที่ต่างประเทศ ทำให้การติดตามไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าการร่วมมือกับผู้ให้บริการในครั้งนี้ จะช่วยให้ทราบที่ตั้งของคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะง่ายต่อการเข้าจับกุมมากขึ้น




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออก 3 มาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2553 เวลา 15:53:11 14,691 อ่าน
TOP