x close

ขู่ฟันแหลก - ร้านเกมเป็นแหล่งมั่วสุม



ขู่ฟันแหลก - ร้านเกมเป็นแหล่งมั่วสุม (ไทยโพสต์)

          วธ.เร่งเครื่องแก้ปัญหาเด็กติดเกม จับมือกระทรวงไอซีทีแก้ไขกฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ลงดาบร้านเกมแหล่งมั่วสุมเยาวชน ป้องกันเด็กเล่นเกมรุนแรง พร้อมเปิดเว็บไซต์บำบัดเด็กหมกมุ่นเกมจนเสียการเรียน

          จากปัญหาเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบเกมที่มีเนื้อหารุนแรงนำไปสู่ปัญหาการก่อคดีอาชญากรรม เนื่องจากเด็กสามารถเข้าถึงเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้ง่าย และขาดภูมิคุ้มกันการติดเกม ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด จัดงานนิทรรศการเกมดี ปลอดภัย สร้างสรรค์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน โดยมีการแนะนำเกมดีที่เหมาะสมกับเยาวชนและครอบครัว ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการดำเนินงานแล้วว่าเป็นเกมที่สานสัมพันธ์ครอบครัว เสริมสร้างทักษะและพัฒนาการเรียนรู้ศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสนุกสนาน ไร้พิษภัยทั้งด้านความรุนแรง เพศและภาษา เพื่อช่วยชี้นำเยาวชนให้รู้เท่าทันในยุคเกมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

          น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ทุกวันนี้ร้านเกมหลายแห่งกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กนักเรียน ผู้ประกอบการมักจะอาศัยช่องว่างกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงความผิด ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมเนื้อหาใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อจัดระเบียบและควบคุมร้านเกม โดยออกประกาศเป็นกฎกระทรวงมีเนื้อหาหลักคือ ป้องกันเด็กเล่นเกมเกินเวลาที่กำหนด โดยไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกินวันละ 3 ชั่วโมง การป้องกันไม่ให้ร้านเกมเป็นแหล่งมั่วสุมเรื่องเพศ ยาเสพติด และก่อคดีอาชญากรรม

          น.ส.ลัดดา กล่าวว่า การควบคุมดูแลร้านเกมมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐหลายแห่ง แต่ยังขาดการบูรณาการส่งผลให้การทำงานขาดเอกภาพ กระทรวงวัฒนธรรมไม่สามารถจัดการได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงต้องปรับแก้กฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้มีเนื้อหาป้องกันเด็กติดเกมและการจัดเรตติ้งเกม ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงนี้ก็มีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนทั้งเยาวชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมจัดเรตติ้งเกม โดยมีอาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นแกนหลัก

          "การนำเกมดีมาแนะนำให้เยาวชนรู้จักถือว่าเป็นการเอาน้ำดีมาไล่น้ำเสีย การที่เด็กชอบเล่นเกมไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือพ่อแม่ปล่อยให้เด็กติดเกมจนมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบเกมที่ต่อสู้ฆ่ากันเลือดท่วมจอและทำให้เสียการเรียน พ่อแม่ต้องเข้าใจและสอนเด็กให้รู้จักควบคุมตัวเอง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรห้าม เพราะยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุยง" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

          รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แนวโน้มเด็กไทยติดเกมมีจำนวนมากขึ้น จากรายงานวิจัยการศึกษาหาปัจจัยเพื่อป้องกันการติดเกมในเด็กและวัยรุ่นเมื่อปี 2551 พบเด็กติดเกม 13.3% และในปี 2552 มีจำนวน 14.4% โดยพบว่าเด็กหมกมุ่นอยู่กับเกมตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ได้ เล่นเกินเวลา สูญเสียการเรียนและการเข้าสังคม พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นคนก้าวร้าว จนถึงขั้นรุนแรงคือก่อคดีอาชญากรรมตามที่เคยเป็นข่าวหลายครั้ง

          ดังนั้น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นฯ จึงได้ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ HealthyGamer.net  เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมแห่งใหม่ของประเทศไทย จากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาการติดเกมโดยเฉพาะ โดยมีแบบทดสอบสำหรับเด็กและผู้ใหญ่เพื่อประเมินผลว่าติดเกมหรือไม่ พร้อมกับมีคำแนะนำต่าง ๆ นำไปปรับใช้ได้จริง ขณะนี้มีผู้เข้าใช้บริการแบบทดสอบแล้ว 1 แสนราย

          "สังคมมักจะโทษเด็กไม่รักดี ติดเกม ร้านเกมและบริษัทเกมมุ่งหาผลประโยชน์จากเด็ก แต่ที่จริงแล้วการควบคุมดูแลเด็กเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองว่าให้เวลาเด็กแค่ไหน หรือปล่อยให้เกมเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ก็ทำให้เป็นคนติดเกมและเกิดผลเสียตามมา ถ้าพ่อแม่แบ่งเวลาให้ลูกได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน ก็จะช่วยลดการเข้าถึงเกมของเด็ก ๆ และสอนให้เขารู้จักเกมดีที่ปลอดภัยและเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดปัญหาร้ายแรง" รศ.นพ.ชาญวิทย์กล่าว

          นิทรรศการเกมดีได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นจำนวนมาก และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ คลินิกบำบัดเด็กติดเกม การให้ความรู้เรื่องเรตติ้งเกม การแข่งขันเกมอิเล็กทรอนิกส์ชิงทุนการศึกษา โดยใช้เกมที่สนุก ปลอดภัย เน้นการประลองความคิด ท้าทายไหวพริบ และทักษะควบคุมเกม โชว์เกมฝีมือคนไทย และประกาศผลรางวัลเกมดีอวอร์ดให้แก่ร้านเกม ผู้ปกครอง โรงเรียน ครู และเทศกิจพิทักษ์นักเรียน

          ส่วนสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้จัดประกวดออกแบบสร้างสรรค์เกมวัฒนธรรมในหัวข้อ "วัฒนธรรมเสริมสร้างความสุข" เพื่อรณรงค์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งเสริมให้เยาวชนได้ออกแบบสร้างสรรค์เกมวัฒนธรรมในรูปแบบเกมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเปิดพื้นที่ลานวัฒนธรรมบนโลกอินเทอร์เน็ต



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขู่ฟันแหลก - ร้านเกมเป็นแหล่งมั่วสุม อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2553 เวลา 15:40:40 21,851 อ่าน
TOP