x close

อดัม คาเฮน แนะคนไทย ร่วมยุติความขัดแย้ง

อดัม คาเฮน

อดัม คาเฮน 

อดัม คาเฮน

อดัม คาเฮน เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล



บรรยากาศงาน งานสัมมมา เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน โดย อดัม คาเฮน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Siam Intelligence UnitSociety for Organizational Learning, @iwhale, รัฐบาลไทย

          แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น "สยามเมืองยิ้ม" แต่ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งขั้นรุนแรง อันเกิดจากความคิดต่าง เห็นต่าง และอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน ที่ก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมกลางเมือง รวมถึงความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว มีทั้งนักคิด นักวิชาการ และบุคคลจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กร ร่วมกันผนึกกำลังเพื่อหาวิธีขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างสันติ แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างยังคลุมเครือ ไม่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก

          เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอดัม คาเฮน (Adam Kahane) ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเสวนาในหัวข้อ "เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน" ณ สถาบันวิชาการป้องประเทศ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยบอกเล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของเขา ซึ่งหลายคนมองว่าการมาถึงของ อดัม คาเฮน อาจทำให้คนไทยคิดอะไรได้มากขึ้น...ก็เป็นได้

          อดัม คาเฮน โด่งดังจากการนำกระบวนการจำลองสถานการณ์ในอนาคต (scenario) มาช่วยสร้างสันติภาพในประเทศแอฟริกาใต้ยุค 90s ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคแบ่งแยกสีผิว ซึ่งขณะนั้นมีความวุ่นวาย และเกิดการจราจล เช่นเดียวกับสงครามการเมืองในโคลัมเบีย การแก้วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา และปัญหาความขัดแย้งถึงขั้นเข่นฆ่ากันในกัวเตมาลา ซึ่งการทำงานของเขามีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวคละเคล้ากันไป ทำให้เขามองเห็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาถึงทางตัน และวิธีการที่ทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าหาทางออกร่วมกันอย่างได้ผล โดยปราศจากความรุนแรง

          นักแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก บอกว่า แม้เหตุผลในความขัดแย้งจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ยังมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ ดังนั้น หลักการแก้ปัญหาต้องค่อย ๆ แก้ทีละอย่าง มองการแก้ปัญหาเป็นรายประเด็น แต่ใช้วิธีการแก้เป็นองค์รวม โดยต้องนำผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาด้วย ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม และจำเป็นต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียวได้

          สิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาในมุมมองของ อดัม คาเฮน คือ การรับรู้เชิงลึกซึ้ง โดยเฉพาะกระบวนการฟังและการพูด เขาบอกว่า การฟังและการพูดในที่นี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าตัวเองคิดอะไรอยู่ แต่ต้องพยายามอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ ความคิดเหล่านี้มาจากไหน ส่วนการฟังก็ต้องใส่ใจที่จะฟังในทุกรายละเอียด ไม่ใช่ฟังเพื่อตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องพยายามสร้างความเข้าใจว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ซึ่งเรียกว่า การสานเสวนา

          อดัม คาเฮน กล่าวว่า ปัจจัยมูลฐานในแก้ปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นต้องใช้ความรัก (Love) เป็นสิ่งช่วยเชื่อมประสานรอยร้าว และพลังอำนาจ หรือ Power ที่เป็นพลังขับเคลื่อน โดยทั้งสองส่วนต้องผนึกเข้าหากัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติปัญหาความขัดแย้งก็จะไม่มีทางสำเร็จ

          สำหรับ ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทย อดัม คาเฮน ตั้งข้อสังเกตและคาดว่าสถานการณ์ของประเทศไทยมีความซับซ้อนในหลาย ๆ ด้าน และเพิ่มพูนขึ้นมา ไม่ใช่แค่ปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น เป็นความแตกต่างหลากหลายในสังคม และไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ด้วยนักวิชาการหรือภาครัฐ แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม โดยใช้ทั้งความรักและอำนาจ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าท่ามกลางความขัดแย้งมีความโกรธ การแย่งอำนาจกัน เมื่อมีการแบ่งขั้วกันชัดเจน ต้องหาว่าสิ่งใดดีที่สุดที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา





งานสัมมมา เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน @iwhale


          อดัม คาเฮน กล่าวว่า วิธีการสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งเดินมาถึงทางตัน คือการดึงทุกฝ่ายมาร่วมจำลองเหตุการณ์ในอนาคต โดยเขายกตัวอย่างความสำเร็จของแอฟริกาใต้ ที่มีการจัดระดมความเห็นคนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล คนผิวขาว ผิวดำ ทั้งที่มีแนวคิดซ้ายสุดจนถึงขวาสุด เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งมีการจำลองเหตุการณ์ในอนาคต 3 ขั้นตอน คือ 

          1. ริเริ่มการเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากได้ก็จะเดินหน้าต่อไป แต่หากไม่ได้ โดยรัฐบาลคนขาวทำตัวเหมือนนกกระจอกเทศ คือมุดหัวอยู่แต่ในทราย พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาและไม่ยอมรับฟัง แม้จะทำได้ แต่ก็เพียงชั่วคราว และไม่แก้ปัญหาอะไรเลย

          2. กระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจเร็วเกินไปหรือไม่ เช่น การจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ การเปิดให้คนผิวดำเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล หากเร็วเกินไปหรือมากเกินไป รัฐบาลก็จะกลายเป็นเป็ดง่อย แต่ถ้าดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ก็จะเดินหน้าไปในขั้นตอนต่อไปได้

          3. การจัดการของรัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านมีความเข้มแข็งยั่งยืนหรือไม่ ถ้าเข้มแข็งก็จะมีโอกาสเดินหน้าสู่สันติภาพ แต่ถ้าไม่เข้มแข็งยั่งยืน กระบวนการทั้งหมดก็ต้องถอยหลัง

          นอกจากกนี้ อดัม คาเฮน ยังแยกแยะระดับของการสนทนาเป็น 4 ขั้น ได้แก่

          1. Downloading หรือ การที่ใครคนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์ใด ๆ ในอดีต แต่เพียงผู้เดียว ผู้ฟังคนอื่น ๆ ทำหน้าที่ดูดรับข้อมูล เหมือนกับการดาวน์โหลดไฟล์บนอินเทอร์เน็ต

          2. Debating เป็นการพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ว่ามีผู้พูดหลายคน และแต่ละคนมีมุมมองหรือจุดยืนที่ต่างกัน จึงต้องมาถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุปในอดีต

          3. Dialoguing พัฒนาการอีกขั้นจาก Debating แต่เป็นการคุยถึงเรื่องในอนาคตอย่างเปิดใจรับฟังกัน แต่ยังมีข้อจำกัดว่าเป็นการเข้าใจเฉพาะส่วน

          4. Presencing เป็นจุดสูงสุดของการสนทนา คือทั้งองค์คณะผู้ร่วมการสนทนา พูดถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้าอกเข้าใจกัน

          อดัม คาเฮน บอกด้วยว่า สถานการณ์ความขัดแย้ง ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถใช้กำลังมาแก้ไขได้ ไม่ใช้การกดขี่ปราบปรามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยความรัก เพื่อความสมานฉันท์และเปิดพื้นที่สานเสวนาและสร้างกิจกรรมเพื่อความปรองดอง


          ดังเช่นคำกล่าวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ที่ว่า..."อำนาจโดยไม่มีความรักจะระห่ำและกดขี่ แก้ปัญหาด้วยอำนาจโดยไม่มีความรัก จะไม่มีทางสำเร็จ" 





VTR เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน



คลิปวีดีโอ สัมนา เราจะส่งมอบ ประเทศไทย แบบไหนให้ลูกหลาน 1



คลิปวีดีโอ สัมนา เราจะส่งมอบ ประเทศไทย แบบไหนให้ลูกหลาน 2



คลิปวีดีโอ สัมนา เราจะส่งมอบ ประเทศไทย แบบไหนให้ลูกหลาน 3



คลิปวีดีโอ สัมนา เราจะส่งมอบ ประเทศไทย แบบไหนให้ลูกหลาน 4



คลิปวีดีโอ สัมนา เราจะส่งมอบ ประเทศไทย แบบไหนให้ลูกหลาน 5





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   Siam Intelligence Unit
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดัม คาเฮน แนะคนไทย ร่วมยุติความขัดแย้ง อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2553 เวลา 13:34:28 8,127 อ่าน
TOP