x close

ข่าวนํ้าท่วม สถานการณ์นํ้าท่วมอีสาน - เหนือ - กลาง 1 พ.ย.

ข่าวน้ำท่วม



 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม



          สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคอีสานยังน่าเป็นห่วง โดยผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ทำให้โรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และ ยโสธร หลายโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ออกไปอีก 7 วัน ทั้งนี้ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
 



 น้ำท่วมกาฬสินธุ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น  เฉลี่ย10 เซนติเมตร/วัน

          จากการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำชี ในพื้นที่อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตรต่อวัน ทำให้ระดับน้ำอยู่ห่างริมตลิ่งพนังกั้นแม่น้ำชีเพียง 30 เซนติเมตรเท่านั้น ขณะที่กระแสน้ำเริ่มไหลเชี่ยวและน้ำเริ่มหลากเข้าพื้นที่ลุ่ม ซึ่งเป็นนาข้าวที่กำลังออกรวง ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนบ้านเรือนราษฎร มีการเตรียมอพยพขึ้นที่สูง เนื่องจากน้ำก้อนใหญ่จะเข้ามาในพื้นที่ในวันนี้

          ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้งหญิงและชาย เจ้าหน้าที่ อปภร. อาสาสมัครกู้ภัย รวมถึงกำลังจากปกครอง ได้ร่วมกันเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งคืน โดยมีการผิงไฟ เพื่อไล่ความหนาวเย็น ซึ่งชาวบ้านฆ้องชัย ระบุว่า ปีนี้โชคดี ที่ทางจังหวัดและชาวบ้านได้ช่วยกันเสริมพนัง ที่จะพอบรรเทาความเสียหายได้บางส่วน แต่ก็ยังกลัวว่า น้ำที่ไหลเชี่ยวจะสร้างความเสียหาย เหมือนในหลายจังหวัดเพราะกระสอบทรายแนวกั้นไม้ไผ่ ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถยับยั้งความแรงของกระแสน้ำได้หรือไม่ ซึ่งทั้งวันก็ยังคงเฝ้าติดตามดูสถานการณ์น้ำต่อไป ซึ่งหากไม่รุนแรง คาดว่า กาฬสินธุ์ จะสามารถพ้นวิกฤติไปได้

 น้ำท่วมร้อยเอ็ด น้ำก้อนแรกถึงร้อยเอ็ด-อากาศหนาวเร็วขึ้น

          นายน้อย สมุทรเขต อายุ 77 ปี บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 6 บ้านตำบลเหล่า อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า อากาศหนาวเย็นมาก และมาเร็วกว่าทุกปี เครื่องนุ่งห่มกันหนาว ลูกหลานนำมาให้ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าเก่ามือ 2 ตามตลาดโดยทั่วไป ที่เป็นเครื่องห่มกันหนาวได้ ก็คือก่อไฟผิง แก้หนาว น้ำอุ่นผู้สูงอายุ จะหนาวกว่าคนหนุ่มสาว

          ขณะที่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำชี ตั้งแต่อำเภอจังหาร เชียงขวัญ โพธิ์ชัย ธวัชบุรี เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง อาจสามารถ และอำเภอพนมไพร ระดับน้ำก้อนแรกมาถึงอำเภอจังหาร ส่วนน้ำชีตอนล่างลดลงเพียงเล็กน้อย นาข้าวน้ำท่วมมาพร้อมกับอากาศหนาว 

          ทางด้านนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ฝากถึงประชาชนห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำตลอด 24  ชั่วโมงทางด้านความห่วงใยนั้น ทั้งอุทกภัยและภัยหนาว พร้อมให้การดูแลประชาชน สั่งการให้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ดูแลประชาชนร่วมกัน

น้ำท่วมสุรินทร์ 3 อำเภอยังหนัก

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ยังไม่คลี่คลาย โดยน้ำยังคงทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ของอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ทำให้ประชาชน รวมทั้งโค กระบือ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้กว่า 700 ตัวได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารมานานกว่า 7 วันแล้ว

          โดยนายนครินทร์ กองทุน นายอำเภอชุมพลบุรี เผยว่า พื้นที่ความเสียหายในอำเภอชุมพลบุรี ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 69 หมู่บ้าน ใน 9 ตำบล จำนวน 8,463 ครัวเรือน มีราษฎรเดือดร้อนกว่า 33,000 คน และขณะนี้น้ำกำลังไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ของตำบลนาหนองไผ่ และตำบลหนองเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ลำน้ำมูลติดกับอำเภอท่าตูม โดยมีจำนวน 42 หมู่บ้านถูกน้ำท่วมถนนตัดขาด รถไม่สามารถเดินทางได้

น้ำท่วมหนองบัวลำภู

          ผู้สื่อข่าวได้ลงเรือสำรวจบริเวณริมเขื่อนอุบลรัตน์ ฝั่งบ้านโคกกลาง ต.โนนสัง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ภายในหมู่บ้านพบว่า น้ำได้ไหลท่วมเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว โดยน้ำได้ท่วมสูง 3 เมตร ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในบ้านตัวเองได้ ต้องเข้ามาพักอาศัยนอนรวมกันที่ศาลากลางบ้าน และขณะนี้ข้าวสารอาหารแห้ง ที่หน่วยงานราชการ นำเข้าไปมอบให้เริ่มจะหมดแล้ว เกรงว่าวันสองวันนี้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือไม่มีข้าวบริโภคแน่นอน เนื่องจากถนนที่ตัดขาดและที่นาเสียหายกินวงกว้างหลายหมื่นไร่ ซึ่งปกติทุกปีสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ชาวบ้านบางคนถึงกับบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ลำบากที่สุดในชีวิตตั้งแต่เกิดมาถึงกับหมดเนื้อหมดตัวแน่นอน

บุรีรัมย์คาดระดับน้ำเริ่มทรงตัว-ลดลง

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมาไหลมาสมทบลำน้ำมูล เอ่อท่วมบ้านเรือนและไร่นาของเกษตรกร ล่าสุดระดับน้ำที่อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง เพิ่มขึ้น 2-3 ซ.ม. ต่างจาก 2-3 วันที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มมากกว่า 50 ซ.ม. ต่อวัน คาดการณ์ว่าในไม่ช้า ระดับน้ำจะทรงตัว และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่อำเภอคูเมือง และอำเภอพุทไธสงระดับน้ำทรงตัว

          อย่างไรก็ตาม บ้านเรือนและนาข้าวของเกษตรกร ที่กำลังออกรวงกว่า 100,000 ไร่ ยังจมอยู่ใต้น้ำ คาดว่า หากน้ำท่วมนานานกว่า 1 สัปดาห์ ข้าวของเกษตรกรจะเสียหายทั้งหมด ด้านเจ้าหน้าที่อำเภอ อปภร. และกำลังทหาร จากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ได้นำเรือท้องแบน มาคอยให้ความช่วยเหลือบริการรับ-ส่งประชาชนที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดจากภายนอก ให้เข้าออกหมู่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่โรงเรียน 7 แห่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ โรงเรียนบ้านบุ่งเบา โรงเรียนบ้านเบาน้อย อ.พุทไธสง โรงเรียนบ้านโจด โรงเรียนบ้านวังปลัด อ.คูเมือง โรงเรียนบ้านโนนไฮ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ โรงเรียนบ้านยางทะเล อ.แคนดง และโรงเรียนชุมชนบ้านสะแก อ.สตึก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4 ถูกน้ำมูลเอ่อท่วมอาคารเรียน ระดับน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร - 1 เมตร อุปกรณ์การเรียนการสอนได้รับความเสียหาย จึงยังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามกำหนด ต้องประกาศหยุดต่ออีก 1 สัปดาห์ หากครบกำหนดแล้วระดับน้ำยังไม่ลดลง ทางโรงเรียนก็จะประกาศปิดเรียนต่อ ไปอีก 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ
  
  อ.ดอนพุด สระบุรีอ่วมหนัก น้ำสูงเกือบ3เมตร

          สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี น้ำที่เข้าท่วมสูงในพื้นที่อำเภอบ้านหมอ ซึ่งรับน้ำมาจากคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ในจังหวัดลพบุรี เริ่มไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อำเภอดอนพุด ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะแล้ว ทำให้ชาวบ้านรีบเก็บทรัพย์สินอพยพออกจากพื้นที่ โดยระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่บ้านหนองมน บ้านหลวง และบ้านไผ่หลิ่ว บางจุดน้ำสูงเกือบ 3 เมตร ทำให้ศูนย์อำนวยการช่วยเหลืออำเภอดอนพุด สั่งอพยพชาวบ้านกว่า 2,060 ครัวเรือน ไปอยู่ในเต็นท์ริมถนน แต่ผู้อพยพมีจำนวนมาก ทำให้เต็นท์ไม่เพียงพอ ต้องประสานขอจากจังหวัดใกล้เคียง

น้ำท่วมสุพรรณบุรี

          นายทวีชัย พลายชุมพล นายอำเภอสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี นำถุงยังชีพไปแจกให้ประชาชนชาวสุพรรณที่เดือดร้อน พร้อมมอบเรือจำนวน 4 ลำ และสุขาเคลื่อนที่อีก 2 หลัง ไปมอบให้ชาวบ้าน หมู่ที่ 5 และ 6 ที่ถูกน้ำท่วมบ้าน รวมกว่า 50 หลังคาเรือน หลังระดับน้ำสูงขึ้นกว่า 1 เมตร

น้ำท่วมสิงห์บุรี

          ปภ.สิงห์บุรี เผยยังมีน้ำท่วมอยู่ใน 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี รวม 5 เทศบาล 17 ตำบล ประชาชนประสบปัญหาอุทกภัย 165 หมู่ 18,069 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 77 สาย วัด 42 แห่งโรงเรียน 37 แห่ง สถานที่ราชการ 25 แห่ง นาข้าว จมน้ำเสียหาย 60,600 ไร่ บ่อเลี้ยงปลา 375 บ่อ โดยจังหวัดสิงห์บุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ประสบภัยมอบสุขาเคลื่อนที่ 7 หลัง เรือพลาสติก 20 ลำ เรือท้องแบน 3 ลำ อย่างไรก็ตามระดับน้ำในเขตจังหวัดสิงห์บุรีพื้นที่อำเภออินทร์บุรี( ตลาดสด ) มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.42 เมตร ปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 3,535 ลบ.ม./ วินาที


 เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย


          - ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784

          - ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7

          - ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690

          - สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830

          - กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ CallCenter1129 

          - สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
 

การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม 

          1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น

          2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย  เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม 

          3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)

          4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง

          5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
 
          6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ

          7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม

          8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

          9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด

          10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด

          11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน

          12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที

          13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย 

          14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์ 

          15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ 

          16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
           , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่าวนํ้าท่วม สถานการณ์นํ้าท่วมอีสาน - เหนือ - กลาง 1 พ.ย. อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10:00:29 13,297 อ่าน
TOP