x close

การเมืองไทยปี 54 ข้ามไม่พ้น ความขัดแย้ง

 



การเมืองไทยปี 54 ข้ามไม่พ้น "ความขัดแย้ง"(ไทยโพสต์)

          อีกไม่กี่วันก็จะผ่านพ้นปี "เสือดุ-2553" ไปแล้ว ผู้คนหลายแวดวงพากันให้ความสนใจกับทิศทางการเมืองไทยในปี "2554" ว่าจะเป็นปี "เถาะทอง" หรือ "กระต่ายเลือด" ที่คนไทยขัดแย้งกันเองจนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหมือนกับ 2 ปีที่ผ่านมาทั้ง "สงกรานต์เลือด 52" และ "เผาบ้านเผาเมือง 53"

          แม้หลายคนยังเชื่อว่าบทเรียนทั้ง 2 ครั้งที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดของคนไทยทุกฝ่าย น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่มีใครอยากเห็นอีก แต่เมื่อบางฝ่ายที่ประกาศว่า การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมาคือ สงครามครั้งสุดท้าย 

          แต่เมื่อผลการสู้รบยังไม่ได้ชัยชนะ และความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกจุดไฟให้เป็นสงครามชนชั้น เชื้อไฟยังคงอยู่ สงครามรอบใหม่ก็อาจถูกจุดได้ทุกเมื่อ หากแนวรบกลุ่มต่างๆ พร้อม

          โฉมหน้าการเมืองไทย ปี 2554 จึงเห็นเค้าลางได้ว่า แม้อาจไม่รุนแรงเหมือนเมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ความขัดแย้งยังมีอยู่ คู่ขัดแย้งทางการเมืองยังคงประกาศสู้ต่อไป-รบกันต่อไป

          การเมืองไทยปี 54 จึงข้ามไม่พ้นความขัดแย้งไปได้ 

          เพียงแต่พัฒนาการของความขัดแย้ง ประเมินแล้วจะไม่รุนแรงจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง เหมือนเช่นปี 2553 เพราะรัฐบาล-กองทัพคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีกแล้ว 

          โดยปี 54 ประเมินได้ว่า รูปแบบการต่อสู้และการเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร-พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ยังคงจะใช้รูปแบบและยุทธวิธีในการสู้รบทางการเมืองเหมือนเช่นเดิม 

          ทั้งการช่วงชิงอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งใหญ่ หรือการใช้มวลชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศเป็นกองกำลังหลักนอกรัฐสภา

          เพียงแต่การออกอาวุธของทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง จะไม่บ่อยเหมือนก่อนหน้านี้ แต่จะหวังผลเด็ดขาดทุกครั้งมากขึ้น

          โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2554 หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะประคองไปเรื่อยๆ จนถึงปลายปีแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง 

          ที่ผลการเลือกตั้งจะเป็นเดิมพันสูงยิ่งของพรรคเพื่อไทย เพราะหากครั้งนี้ยังไม่สามารถชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ได้กุมอำนาจรัฐ ก็ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากเตรียมพร้อมมานาน

          ทักษิณจึงต้องทำทุกวิถีทางในการทำให้พรรคเพื่อไทยต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้ 

          แม้วันนี้คำประกาศว่าจะชนะการเลือกตั้งแบบได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจะแผ่วเบาลง แต่ทักษิณก็ยังหวังได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 โดยทิ้งห่างประชาธิปัตย์สัก 40-50 เสียงขึ้นไป เพื่อให้ง่ายต่อการชิงตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

          จึงมีข่าวว่าทักษิณก็เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เช่น เปิดการติดต่อและพยายามยื่นเงื่อนไขต่างๆ กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อแผ่นดินเอาไว้แล้ว เพื่อให้หวังมาจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เนื่องจากทักษิณเชื่อว่ายังคงมี "อำนาจพิเศษ"

          ในการสกัดกั้นไม่ให้ทักษิณ-เพื่อไทย ได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยเฉพาะ "อำนาจสีเขียว" ที่บิ๊กกองทัพที่คุมอำนาจอยู่ในเวลานี้จะต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้อำนาจเปลี่ยนขั้ว โดยเฉพาะการล็อกพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ให้ไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่ทักษิณยังมั่นใจว่าจะทำได้หลังเคยทำสำเร็จมาแล้วตอนหลังเลือกตั้งปี 2550 ที่แม้แกนนำ คมช.จะพยายามล็อกพรรคการเมืองหลายพรรคไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลกับทักษิณและพรรคพลังประชาชน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะตัวเลข ส.ส.พลังประชาชนห่างจากประชาธิปัตย์มาก

          แต่การที่ทักษิณจะทำเช่นนี้ได้ อันดับแรกก็คือต้องทำให้เพื่อไทยได้ตัวเลข ส.ส.ให้ได้มากและห่างจากประชาธิปัตย์ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ประชาธิปัตย์ชิงตั้งรัฐบาลก่อน 

          ณ เวลานี้ หลายเสียงยังเชื่อว่าเพื่อไทยยังคงจะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 อยู่ แต่จะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหรือไม่ แม้แต่คนในเพื่อไทยก็ยังบอกตรงกันว่า ถ้าไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านอีก 1 สมัย!

          ขณะที่แนวรบการเมืองฝั่งอื่นๆ ยังคงต้องมุ่งจุดโฟกัสหลักไปที่ "เสื้อแดง" ซึ่งแม้ยามนี้จะอ่อนกำลังลง เพราะขาดซึ่งหัวหมู่เข้ามานำทัพทะลวงฟัน แต่ "แนวร่วมเสื้อแดงยังคงทรงพลัง" อยู่ แม้จะยังไม่เหมือนเดิม แต่ก็พร้อมจะออกมาได้ทุกเมื่อหากมีการเป่านกหวีดเรียกระดมพล

          ยิ่งเมื่อข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น การปล่อยตัวคนเสื้อแดงและแกนนำทั้งหมดให้ออกมาสู้คดีนอกคุก หรือการเรียกร้องให้สอบสวนเอาผิดกับบิ๊กกองทัพที่สั่งทหารเข้ากระชับพื้นที่สลายการชุมนุมที่ 4 แยกราชประสงค์ เมื่อ 19 พ.ค. 2553 ที่จนถึงขณะนี้ยังคงไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลและกองทัพ 

          แกนนำเสื้อแดงก็จะใช้ความสูญเสียของประชาชนคนเสื้อแดงและการอ้างว่ามีการปกป้องผู้สั่งการสลายการชุมนุม ขึ้นมาเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวและนัดหมายชุมนุมไปเรื่อยๆ เพื่อเลี้ยงมวลชนของตัวเองเอาไว้จนกว่าจะสุกงอมเต็มที่

          อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาทิศทางการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วย เพราะดูแล้วฝ่ายเพื่อไทยที่เป็นแนวร่วมหลักของเสื้อแดงก็อาจต้องการให้

          เสื้อแดงสโลว์การเคลื่อนไหวไปก่อน เพื่อไม่ให้อภิสิทธิ์อ้างได้ว่า การเมืองในประเทศยังไม่สงบ ยังคงมีเค้าลางความรุนแรงและการเผชิญหน้ากันอยู่ 

          จนดึงเวลาในการ "ยุบสภา" ออกไปเรื่อยๆ 

          อันไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยแน่นอน หากการเลือกตั้งจะล่าช้าออกไปเรื่อยๆ เพราะคนเพื่อไทยรวมถึงทักษิณก็รู้ดีว่า กระแสนิยมของเพื่อไทยยามนี้ลดลงอย่างหนัก 

          ยิ่งหากปล่อยให้รัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น สะสมคะแนนนิยมได้มากขึ้น พอกพูนสรรพกำลังโดยเฉพาะทุนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งได้มากขึ้น รวมถึงยังทำให้ค่ายกลเพื่อไทยในอีสานถูกตีกินพื้นที่เข้าไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่แถบอีสานใต้เท่านั้น แต่ "พื้นที่สีแดง" หลายจังหวัด ก็อาจต้องเสียคะแนนไปเรื่อยๆ

          แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะมีปัญหาหนักหลายเรื่องเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น และข้อกล่าวหาคนในรัฐบาลมีเอี่ยวกับเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตระเตรียมไว้เป็นทุนในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่ลุกลามรุนแรงจนทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้

          หากยุทธวิธีการให้แนวรบเสื้อแดงถอยตั้งหลักไว้ก่อน เพื่อให้ทักษิณ-เพื่อไทย ใช้กำลังส่วนใหญ่ไปที่การเตรียมการเลือกตั้งเป็นหลัก เป็นอย่างที่ยกมาข้างต้น

          ก็ต้องดูด้วยว่า แกนนำ นปช.-คนเสื้อแดง จะเอาด้วยหรือไม่ เพราะหากหยุดนิ่งทุกอย่าง แกนนำเสื้อแดงที่ก็คือคนของพรรคเพื่อไทยก็อาจเกรงว่าจะเสียมวลชน ขณะที่หากจะขยับแบบนัดหมายรวมตัวกันทุกเดือนที่ถนนราชดำเนิน-4 แยกราชประสงค์ โดยไม่มีทีเด็ดทีขาด มวลชนก็อาจเบื่อหน่ายที่แกนนำไม่รุกฆาตเสียที สุดท้ายก็อาจโบกมือลา 

          การบริหารกองกำลัง "เพื่อไทย-คนเสื้อแดง" ของทักษิณ ชินวัตร ในรอบปี 2554 จะออกมาในรูปแบบไหน จะให้เดินหน้าไปด้วยกัน หรือแยกกันเดิน แต่รักษาบาลานซ์เอาไว้ เพื่อใช้เป็นทัพใหญ่ในการแย่งชิงอำนาจรัฐ

          ทักษิณประกาศไว้กลางที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย เมื่อ 14 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา หลังเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครราชสีมา-สุรินทร์-อยุธยา-กรุงเทพมหานคร ว่าทุกอย่างจะเคาะออกมาให้ชัดในต้นปี 2554 โดยเฉพาะกับทิศทางการทำพรรคเพื่อไทยทุกเรื่อง ตั้งแต่ผู้นำพรรค นโยบายพรรค การปรับโครงสร้างการบริหารพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 

          ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบการเมือง แนวรบการเมืองหลายคู่ขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย ท่าทีของแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงทัศนคติทางการเมืองและความมั่นคงของบรรดาขุนทหารที่คุมกำลังหลักตอนนี้

          จึงสรุปได้ไม่ยากว่า การเมืองไทยปี 2554 จึงยังข้ามไม่พ้นความ "ขัดแย้ง-การเผชิญหน้า" ไปอีกปีหนึ่งแน่นอน เพียงแต่จะปะทะรุนแรงเหมือนสองปีที่ผ่านมาหรือไม่ ยังยากจะประเมิน 

          และ "การยุบสภา" จัดให้มีการเลือกตั้งปี 54 ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการคลี่คลายวิกฤติการเมืองไทยให้หายไปได้

          หากรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่ และการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในเวลานี้ที่อ้างประชาชนมาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองยังปรากฏ

          การเมืองไทยปี 54 วิกฤติหลายเรื่องจะคลี่คลายหรือรุนแรงมากขึ้น ย่อมไม่ใช่ฟ้าดินหรือดวงเมืองเป็นผู้กำหนด แต่คือประชาชนอย่างพวกเรานั่นเอง.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การเมืองไทยปี 54 ข้ามไม่พ้น ความขัดแย้ง อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2553 เวลา 17:15:23 15,376 อ่าน
TOP