x close

กลุ่มสามารถชนะประมูล 3G TOTคาดให้บริการ เม.ย.

3G

3G


ทรู ประเดิม 3จี 6พัน ล. ฮุบ ฮัทช์ หึ่งสัญญาขัดกม. (ไทยโพสต์)

          ทรู หยิบชิ้นปลามันทุ่ม 6.3 พันล้านฮุบ ฮัทช์ เบ็ดเสร็จได้ทำ 3G ก่อนใคร พร้อมยืดอายุสัมปทานยาวไปอีก 15 ปี คุยจะมีลูกค้าเพิ่ม 3 ล้าน "คณะทำงาน กสท" ผวา! รวบรัดเซ็นสัญญาหวั่นติดร่างแห ลาออกยกพวง 17 ราย ด้านกลุ่มสามารถ ชนะประมูล 3G TOT คาดให้บริการได้ เม.ย.นี้

          นายอานนท์ ทับเที่ยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ในฐานะประธานคระกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีทางการอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยถึง การประมูลโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของ ทีโอที ในวันนี้ว่า กลุ่มเอสแอล คอนซอร์เตียมซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น  บมจ.ล็อกซเล่ย์  บ.หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ บ.โนเกีย-ซีเมนส์ ได้เสนอราคาประมูลงานวางโครงข่าย 3G ที่ราคา 16,290 ล้านบาท  ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้  17,440 ลบ. หรือ คิดเป็นร้อยละ 6.59 

          โดยภายใน 1-2 วันนี้ ทีโอที จะเสนอให้ผู้มีอำนาจรับทราบผลการประมูล และคาดว่า จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทต้นเดือนกุมภาพันธ์จากนั้น จะเรียก กลุ่มเอสแอลฯ เข้าเจรจาและเซ็นสัญญาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการเฟสแรก กทม. และปริมณฑล ในเดือนเมษายน

          ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) ในแวดวงโทรคมนาคมมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในหลายส่วน โดยช่วงเช้า นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญากับบริษัทในกลุ่มฮัทชิสัน เข้าซื้อกิจการการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอ ภายใต้ชื่อ "ฮัทช์" ครอบคลุม 25 จังหวัดพื้นที่ภาคกลาง รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มูลค่า 6,300 ล้านบาท 

          พร้อมกันนั้น ทรูยังเซ็นสัญญากับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการดูแลเพื่อโอนถ่ายลูกค้าระบบซีดีเอ็มเอเข้าสู่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยีเอชเอสพีเอ โดยหลังเซ็นสัญญาเสร็จ นายศุภชัยได้เดินทางไปพบพนักงานและเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ฮัทชิสัน ประเทศไทย เพื่อแจ้งการบริหารด้านบุคลากรให้เกิดความสบายใจ
    
          "สัญญาสัมปทานที่ทรูทำกับ กสท เหลืออายุสัญญาเพียง 2 ปี ซึ่งจะหมดในปี 2556 การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้สัญญาเช่าใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการเครือ ข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเวลาเพิ่มขึ้นอีก 15 ปี โดยจะลงทุนอัพเกรดโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 3,000 สถานีฐาน เป็นโครงข่ายเทคโนโลยีเอชเอสพีเอในระยะเวลา 2 ปีนี้ ใช้งบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีลูกค้าที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว 3 ล้านราย" นายศุภชัยระบุ

          นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ กสท. ลงนามในสัญญากับทรู 2 ส่วน คือ

     1.สัญญาโอนถ่ายลูกค้าที่ใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ แบ่งเป็นสัญญาดูแลลูกค้าเพื่อถ่ายโอนไปยังเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ และสัญญาดูแลโครงข่ายเดิมในระบบซีดีเอ็มเอ ซึ่งเป็นสัญญาที่มีอายุ 2 ปี

     2.สัญญาให้ดำเนินการธุรกิจระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จีแบบเอชเอสพีเอ แบ่งเป็นสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์บางส่วนในการใช้บริการเครือ ข่าย และสัญญาขายส่ง-ขายปลีก ซึ่งเป็นสัญญาที่มีอายุ 15 ปี

          "ผลตอบแทนที่ กสท. จะได้รับคือส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการลูกค้าจำนวน 7 แสนราย ที่ 20%" นายจิรายุทธกล่าว

          เขายังชี้แจงถึงการลงนามสัญญาว่าเข้าข่ายพระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างรัฐกับ เอกชน พ.ศ.2535 หรือไม่ว่า สัญญาครั้งนี้เป็นการทำสัญญาที่ให้ทรูเช่าใช้อุปกรณ์บางส่วนไม่ใช่เช่าเน็ตเวิร์คเพราะ กสท. ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการเน็ตเวิร์คและได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งมีมติอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ให้ลงนามได้ทันทีหากอัยการตรวจสอบหนังสือลงนามแล้วเสร็จ

          "หลังหนังสือสัญญาผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด ผมจึงรีบลงนามสัญญาทันทีเพื่อหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กสท. เนื่องจากสัญญาที่ทำกับฮัทช์ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแต่การทำสัญญากับทรูจะทำให้มีรายได้จากสัมปทานที่เคยขาดทุนปีละ 1,000 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นกำไรทันทีปีละ 2,000 ล้านบาท" นายจิรายุทธกล่าว

          ขณะเดียวกัน พนักงาน กสท. ได้ยื่นหนังสือกับประธานคณะกรรมการ กสท. กรรมการผู้จัดการใหญ่คัดค้านลงนามตามสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับทรูโดยระบุว่าเร่งรัดผิดสังเกต สัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญายังมีประเด็นไม่ชัดเจนการลงนามอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

          แต่ นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงาน กสท. กลับมองว่าเห็นด้วยกับการเซ็นสัญญาและไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อ กสท. รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาวให้หากไม่เร่งเซ็นสัญญาก็จะทำให้สูญเสียรายได้และโอกาส

          "ดีลนี้ กสท. ได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ สหภาพฯ จึงไม่ได้ต่อต้าน" นายสุขุมกล่าวและว่า สหภาพฯ ขอเรียกร้อง 2 ข้อ คือ

     1.ให้ผู้บริหารเร่งรัดทรูโอนทรัพย์สินให้ กสท. ตามสัญญาสัมปทานโดยเร็ว

     2.การเซ็นสัญญาเช่าใช้โครงข่ายกับทรู คลื่นความถี่ในการให้บริการยังต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท. เท่านั้น

          ต่อมามีรายงานข่าวจาก กสท. ว่าหลังลงนามสัญญาคณะทำงานร่างสัญญาดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายร่วมการงาน และฝ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ ได้ตัดสินใจลาออกยกชุด 17 คน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเซ็นสัญญา โดยต้องการให้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อน รวมถึงให้บอร์ดเห็นชอบ แม้ที่ผ่านมามีการส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วก็ตามก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเซ็นสัญญา

          อีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ 3G เช่นกันนั้นในเวลาใกล้กันกิจการร่วมค้าแซดทีอีได้ยื่นฟ้องบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครองกลางในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้า หน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมประมูล 3G ทีโอทีมูลค่า 17,440 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันอังคาร บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัดได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้าแล้ว

          ด้านราคาหุ้นกลุ่มโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นก็ปรับตัวถ้วนหน้าตลอดทั้งวัน โดยหุ้นทรู (TRUE) ในช่วงเช้าเคลื่อนไหวในแดนบวกขึ้นไปที่ 6.95 บาท เพิ่มจากวันก่อน 0.15 บาท แต่หลังข่าวเซ็นสัญญาก็มีแรงเทขายทำกำไรจนราคาลงไปปิดที่ 6.65 บาท ลดลง 0.15 บาท หรือ 2.21% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,099.81 ล้านบาท

          ส่วนหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส มีแรงซื้อขายน้อยโดยปิดที่ 80.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 201.69 ล้านบาท

          หุ้นในเครือสามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ปิดที่ 8.20 บาท ลดลง 0.35 บาท หรือ 4.09% มูลค่าการซื้อขาย 60.24 ล้านบาท

          สามารถเทเลคอม (SAMTEL) ปิดที่ 12.20 บาท ลดลง 0.80 บาท หรือ 6.15% มูลค่าการซื้อขาย 243.92 ล้านบาท

          บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ปิดที่ 2.62 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือ  2.96% มูลค่าการซื้อขาย 30.17 ล้านบาท
 
          นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า "ได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้นเอไอเอสเพื่อขอความเป็นธรรม กรณีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะนำเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องสัญญาสัมปทาน เป็นเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง กมธ. จะตรวจสอบรายละเอียดว่าเรื่องทำถูกต้องหรือไม่ และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในสัปดาห์หน้า"

          นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหากนายจุตินำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ก็จะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ โดยเฉพาะการนำข้อมูลเรื่องการออกให้สัญญาเครือข่าย 3G ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งนั้น ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) หรือไม่ออกมาแถลงข่าว และจะใช้เป็นข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย





ขอขอบคุณภาพประกอบจาก facebook.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลุ่มสามารถชนะประมูล 3G TOTคาดให้บริการ เม.ย. อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2554 เวลา 12:47:31 17,997 อ่าน
TOP