พืชปลูกง่าย แถมกินได้ อาหารสำรองในยามวิกฤติ

 


การปลูกพืช อาหารสำรองในยามวิกฤติ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก rakbankerd.com , msu.ac.th , mokifood.com

 
          ตอนนี้โลกเผชิญวิกฤติธรรมชาติรุนแรง อย่างล่าสุด คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดแผ่นดินไหว และสึนามิที่ซัดเข้าใส่พื้นที่ชายฝั่งของประเทศ กวาดเอาบ้านเรือน ทรัพย์สิน รวมทั้งได้ทำลายแหล่งเกษตรกรรมของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศญี่ปุ่น ต้องเผชิญวิกฤติจากการขาดแคลนน้ำ ที่อยู่อาศัย และที่สำคัญที่สุดคือ อาหาร 

          เนื่องด้วยอาหารเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะอาหารเป็นเรื่องของปากท้องที่มนุษย์ต้องหามาประทังชีวิต เพราะไม่มีใครในโลก ที่อยู่ได้โดยไม่กินอะไรเลย เมื่อรู้แล้วว่า อาหาร คือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด วันนี้ ทีมงานกระปุกขอนำเสนออาหารสำรองในอนาคตที่อยู่ในดิน เพียงแค่ขุดขึ้นมาก็ทำกินได้ทันที เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับยามเกิดวิกฤติอาหารค่ะ 

          โดยอาหารสำรองที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้น ก็คือ พืชประเภทสะสมอาหารไว้ที่หัว และราก ที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง เมื่อทานเข้าไปก็ทำให้อิ่มท้องแบบไม่ต้องทานอะไรเพิ่มก็ได้ ซึ่งพืชประเภทสะสมอาหารไว้ที่หัวและรากนั้น ส่วนใหญ่เป็นพืชพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักดี เนื่องจากว่า มีการนำพืชประเภทนี้มารับประทานเป็นอาหารหลักก่อนที่มนุษย์ เราจะรู้จักการปลูกข้าวเสียอีก เอาล่ะ มาดูกันนะคะ ว่ามีพืชอะไรบ้างที่เราสามารถปลูกไว้ เตรียมเป็นอาหารสำรองในยามเกิดวิกฤติแบบนี้บ้าง


แยม หรือ มันพื้นบ้าน 

  แยม หรือ มันพื้นบ้าน                    

          เป็นพืชหัวที่มีแป้งอันสามารถนำมากินเป็นอาหารได้ คนไทยก็เรียกว่า "มัน" และอย่างในประเทศไทยก็มี "มัน" อยู่หลากหลายชนิด ซึ่งตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์จะพบว่า คนในเอเชียและแอฟริกาได้อาศัยขุดมันพื้นบ้านเหล่านี้กินเป็นอาหารมาช้านานแล้ว เนื่องจากว่าเป็นอาหารที่ทานเข้าไปแล้วอิ่มและหนักท้องเหมือนการทานข้าว และสำหรับการปลูกมันนั้น แต่ละชนิดมีวิธีการปลูกคล้าย ๆ กัน โดยมันที่มีเถาขนาดใหญ่ เราจะปลูกไว้บริเวณใต้ต้นไม้ หรือปลูกตามริมรั้วให้มันเลื้อยไปได้ สำหรับมันที่มีเถาขนาดเล็กและเถาไม่ยาวมาก เขาจะทำค้างให้มันเลื้อย และยกร่องเพื่อให้มันลงหัวได้ดี ฤดูกาลที่ปลูก จะเริ่มปลูกได้ช่วงที่ฝนเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน  และมันพื้นของไทยที่สามารถนำหัวมากินได้ อาทิ มันเสา , มันมือเสือ , มันขมิ้น  และมันเลือด ฯลฯ


บุก

  บุก         

          บุก หรือ ต้นบุก มีลักษณะเหมือนกับหัวมัน คือ มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ ขึ้นมาเป็นก้านใบทั้งนั้น แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า "ต้น" สามารถนำมา ประกอบอาหารได้หลายชนิด นอกจากนี้ บุก ยังมีคุณค่าในด้านสมุนไพรอีกด้วย


  เผือก         

          เป็นพืชป่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียและแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งต่อมามนุษย์ได้นำเอาเผือกมาปลูกไว้เพื่อกิน โดยคนไทยรู้จักและกินเผือกมานานแล้ว โดยเผือกมีลักษณะ เป็นมีหัว และมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ทั้งนี้ ต้นเผือก 1 ต้น จะประกอบด้วยหัวใหญ่ 1 หัว และมีหัวเล็ก ๆ แตกออกรอบ ๆ ขนาดรูปร่างของหัว สีของเนื้อเผือก มีความแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์   สำหรับวิธีการปลูกเผือกนั้น  อาจเลือกใช้พื้นที่ในสวน  พื้นที่ข้างบ้าน หรือตามคันนา ที่มีความชื้นสูงหน่อย รวมถึงต้องเป็นบริเวณที่มีดินซุย ๆ โดยขุดหลุมลงไปลึกประมาณสองคืบ และนำหัวเผือกวางลงไป หลังจากนั้นเผือกจะออกหัวขึ้นมาเหนือดินเอง 

  มันสำปะหลัง         

          เป็นพืชอาหาร ที่คนไทยรู้จักดี เพียงแต่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป อาทิ มันสำโรง มันไม้  ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า "มันหลา") ทั้งนี้ มันสำปะหลังยังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ทำให้ง่ายต่อการปลูกและการดูแล และได้มีการแบ่งชนิดของมันสำปะหลัง ออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดขม และชนิดหวาน



  กล้วย 

          กล้วย มีหลายพันธุ์ ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำไท กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยไข่ กล้วยตานี กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยนิ้วมือนาง กล้วยส้ม กล้วยนาค กล้วยหิน กล้วยงาช้าง ฯลฯ ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะการทำอาหารที่เราสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกล้วยมาประกอบได้อาหารได้มากมาย ทั้งหัวปลี หยวกกล้วย ผลกล้วยทั้งสุกและดิบ


     คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
cmu.ac.th , 108health.com , ไร่ดินใจดี
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พืชปลูกง่าย แถมกินได้ อาหารสำรองในยามวิกฤติ อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2554 เวลา 19:46:09 17,674 อ่าน
TOP
x close