x close

รวมมิตรศัพท์ฮิตติดหูในช่วงน้ำท่วม






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

            ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ที่เราได้ติดตามข่าวสารอุทกภัยอย่างใจจดใจจ่อ ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าวของ ศปภ., กทม., กปน. (จะเยอะไปไหน) ก็ทำเอาบางคนสะดุดหูกับคำศัพท์แปลก ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แบบว่า เพิ่งจะมาได้ยินเป็นครั้งแรกก็ช่วงน้ำท่วมนี่แหละ แถมยังได้ยินคำนั้นบ่อย ๆ วันละสามเวลา จนต้องขอไปเสิร์ชหาความหมายกันเสียหน่อย ไหนลองมาดูซิว่า หน้าน้ำยามนี้ มีคำ ๆ ไหนที่เราได้ยินกันจนเบื่อบ้าง

            ศปภ. : หรือ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม" ที่แรงตั้งแต่ออกสตาร์ท เพราะถูกชาวบ้านวิจารณ์อย่างหนัก ว่า ให้ข้อมูลไม่ตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริง แถมยังมีนักวิชาการกล่าวหาว่า ปกปิดข้อมูลอีกต่างหาก งานนี้ทำเอาชาวอินเทอร์เน็ตหลงรัก ศปภ.กันเป็นแถว แอบตั้งชื่อใหม่ให้ ศปภ. มากมาย ไม่ว่าจะเป็น "ศูนย์ปกปิดภัยพิบัติแห่งชาติ", "ศูนย์ปั่นป่วนพิภพแห่งชาติ", "ศูนย์ปล่อยข่าวโกลาหลซ้ำเติมภัยพิบัติแห่งชาติ", "ศูนย์ปัญญาอ่อนและเป็นภัยต่อประเทศชาติ" และอื่น ๆ ที่ฟังแล้วแสบจริง ๆ

            เอาอยู่ : คำฮิตติดหูของผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทุกท่าน บ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ว่าน้ำจะทะลักจุดนี้ไหม กรุงเทพมหานครจะรอดพ้นน้ำท่วมหรือไม่ คำว่า "เอาอยู่" จะหลุดออกมาจากปากของท่านทั้งหลาย สุดท้ายแล้ว "เอาอยู่" สมพรปากหรือไม่ พิจารณากันเอาเองนะจ๊ะ

            ไซฟ่อน : ศัพท์ที่สุดแสนจะไม่คุ้น ปรากฏให้เราได้ยิน หลังจากน้ำเริ่มทะลักลงมาจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์แล้ว หลายคนฟังเผิน ๆ คิดว่าเรียกว่า "ไซง่อน" ชื่อเมืองของเวียดนามไปซะอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้ว "ไซฟ่อน" หมายถึง ท่อที่ใช้สำหรับระบายน้ำ โดยการสอดท่อใต้แนวคันกั้นน้ำ หรือวางไว้บนคันกั้นน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำไปอีกด้านหนึ่ง รู้แล้วก็อย่าเรียกผิดล่ะ อายเค้า (555)

http://www.krobkruakao.com/store/news/47060/1320297429.jpg

            บิ๊กแบ๊ก : อย่าฟังผิดเป็นบิ๊กแบงวงดนตรีเกาหลีนะจ๊ะ เพราะ บิ๊กแบ๊ก เป็นคำที่ใช้เรียกกระสอบทรายใหญ่บิ๊กเบิ้มที่แบบว่ามีขนาดความกว้างถึง 1 เมตร ยาว 1 เมตร สูงเมตรครึ่ง ซึ่ง ศปภ. สั่งทำพิเศษ เพื่อวางทำเป็นกำแพงกั้นน้ำไม่ให้ไหลทะลักกรุงเทพมหานครชั้นในนั่นเอง จะช่วยได้มากแค่ไหนต้องรอดู

            EM Ball : กำลังเป็นที่ต้องการของแทบจะทุกบ้านที่ประสบภาวะน้ำ (เน่า) มาเยือนโดยมิได้รับเชิญ เพราะเจ้า EM Ball นี้ เป็นก้อนจุลินทรีย์ที่ถูกผลิตขึ้น เพื่อจะมาช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำเน่าเสียให้กลับมามีสภาพดีขึ้น ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำเน่าจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับกลิ่นสุดจะทนอีกต่อไป

            เรือดันน้ำ : ได้ยินครั้งแรกหลังจากมีข่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฟังคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องอนุมัติเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เป็น "เรือดันน้ำ" ไปซะนั่น ทำเอาคนแซวกันใหญ่ว่า "เรือดันน้ำ" มันมีที่ไหน ก่อนจะถึงบางอ้อว่า "เรือดันน้ำ" น่ะมีจริง ๆ นะ โดยเป็นความพยายามที่จะใช้เรือยนต์ขนาดใหญ่ผลักดันน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลเร็วขึ้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ไม่ใช่ว่าทีมโฆษกของนายกฯ ออกมาโบ้ยมั่ว ๆ แต่ประการใด

            เท้อ : ทุกครั้งที่เปิดไปฟังการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เรามักจะได้ยินอาจารย์พูดคำว่า "น้ำเท้อ" อยู่เสมอ หลายคนเข้าใจว่า คำว่า "เท้อ" อาจมาจากการผสมคำเอาเองระหว่าง "เอ่อ+ท้น" (ซะงั้น) แต่เมื่อตรวจสอบจากพจนานุกรมแล้ว "เท้อ" หมายถึง อาการที่นํ้าขึ้นมากเต็มที่แล้วไม่ลดลงชั่วระยะหนึ่ง เรียกว่า "นํ้าเท้อ" นั่นเอง มิใช่ศัพท์บัญญัติใหม่แต่ประการใด

            เจิ่ง : มาพร้อม ๆ กับคำว่า "เท้อ" หลายคนไม่เข้าใจว่า "น้ำเจิ่ง" แปลว่าอะไร เคยได้ยินแต่ "เจิ่งนอง" เราเลยไปเปิดความหมายในพจนานุกรมให้ ได้ความว่า "เจิ่ง" หมายถึง แผ่ไปมากกว่าปกติ ซึ่งจะใช้เฉพาะกับ "น้ำ" นั่นเอง

            น้ำตลบหลัง : ชาวฝั่งธนบุรี หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาคงจะคุ้นหูคำ ๆ นี้เป็นอย่างดี เพราะคำ ๆ นี้ มาพร้อมกับการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในฝั่งตะวันตก โดยเป็นความกังวลที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นว่า น้ำที่ไหลมาจากบางบัวทอง บางใหญ่ รุนแรงน่ากลัวเหลือเกิน และหากน้ำเดินทางไปลงคลองมหาสวัสดิ์ และทวีวัฒนา เพื่อไปลงแม่น้ำท่าจีนไม่ได้ เพราะแม่น้ำท่าจีนอยู่ในสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงพอดี งานนี้ ย่อมจะทำให้แม่น้ำท่าจีนตลบหลังกลับมาท่วมชาวฝั่งธนบุรีอย่างแน่นอน และก็เป็นจริงดังที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้

            มวลน้ำก้อนใหญ่ : คำ ๆ นี้ฮิตติดปากผ่านหน้าจอโทรทัศน์ และสื่อมวลชนมาตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553 ซึ่งก็ทำเอาคนสงสัยกันว่า น้ำนี่มันนับเป็น "ก้อน" ได้ด้วยหรือ??? แต่ก็เป็นคำที่เปรียบเทียบถึงการไหลและความรุนแรงของน้ำได้เห็นภาพดีจริง ๆ ว่ามั้ย...

            พื้นที่เฝ้าระวัง : เอิ่มมม...คงไม่มีใครอยากให้แขวง และเขตที่อยู่อาศัยของตัวเองถูกตีตราด้วยคำ ๆ นี้เป็นแน่แท้ เพราะนั่นหมายความว่า น้ำได้เริ่มไหลซึมมาในพื้นที่ของคุณแล้ว และกำลังจะไปพบกันที่บ้านของท่านในเร็ว ๆ นี้ อะจึ๋ยยย...

            เก็บข้าวของขึ้นที่สูง/เก็บข้าวของขึ้นชั้น 2 : มาพร้อม ๆ กับคำว่า "พื้นที่เฝ้าระวัง" เพราะเมื่อใดที่มีการประกาศให้เขตใดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่เสี่ยง นั่นหมายความว่า สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ "เก็บข้าวของขึ้นที่สูง" และสิ่งต่อไปที่จะตามมาคือ "อพยพไปยังศูนย์พักพิงที่ทางการจัดไว้ให้" (ว่าแต่อยู่ที่ไหนอ่ะ???)

            และนี่คือตัวอย่างคำฮิตติดหูในช่วงน้ำท่วมนี้ ใครนึกคำไหนออกอีก มาแชร์กันหน่อยนะจ๊ะ











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมมิตรศัพท์ฮิตติดหูในช่วงน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11:23:47 26,852 อ่าน
TOP