x close

วีไอพี : ไผ่ จักรพงษ์ พ่อค้าขายหมึกย่าง ดีกรีนักศึกษาวิศวะ








เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการวีไอพี โพสต์โดยคุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

           เชื่อว่าหลายคนคงจะจำพ่อค้าปลาหมึกสู้ชีวิตอย่าง "นายจักรพงษ์ ประทุมมา หรือ ไผ่" นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ เครื่องกล ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ซึ่งเรื่องราวของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน ที่กำลังหมดหวังในชีวิตได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ เพราะถึงแม้ว่าน้องไผ่จะไม่มีคนอุปการะ และต้องสู้ทุกอย่างด้วยตนเองมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาก็เลือกที่จะทำอาชีพโดยสุจริต สู้โดยไม่อาย... เพื่อที่จะนำเงินมาใช้เลี้ยงตัวเอง และเลี้ยงคุณย่าของเขาด้วย

         และในค่ำคืนวานนี้ (3 กันยายน) รายการวีไอพี ก็ขออาสาพา ไผ่ จักรพงษ์ นักศึกษาวิศวะสู้ชีวิตคนนี้ มาพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตของเขา พร้อมกับแนวคิดดี ๆ ในการใช้ชีวิตมาให้พวกเราได้ฟังกันค่ะ...

          โดย ไผ่ จักรพงษ์ ขอเริ่มรายการด้วยการย่างปลาหมึกให้กับพิธีกรได้ชิม พร้อมกับบอกถึงเหตุที่เลือกอาชีพนี้ให้ฟังว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ขายหมึกย่างก็เพราะหมึกแห้งมันไม่ต้องทำอะไรมาก แถมยังเก็บได้นาน ไม่เน่า และไม่ยุ่งยาก อีกอย่างมันก็ไม่กระทบต่อเวลาการเรียนสักเท่าไร ส่วนไอเดียการปั่นจักรยานขายหมึกย่างนั้น เริ่มต้นจากตนอยากมีรายรับที่แน่นอน เพื่อเอาเงินไปเรียน เลยคิดว่าจะหาอะไรทำสักอย่างแล้ว พอดีประกอบกับตนเป็นคนที่สนใจรถโบราณ และได้เข้าชมรมจักรยานโบราณปากช่อง ซึ่งตนเห็นว่าจักรยานคันนี้มันใหญ่ น่าจะเอามาขายหมึกย่างได้ ตนจึงติดต่อขอซื้อมา

          ไผ่ จักรพงษ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องนั่งรถไฟไปเอาจักรยานโบราณจากโคราชมายังเชียงใหม่ให้ฟังว่า เป็นเหตุการณ์ที่ตนจำไม่ลืมเลย เพราะลำพังจักรยานก็ใหญ่และเกะกะแล้ว พอรวมพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ อะไร ๆ ก็ดูเกะกะไปหมด ตอนนั้นขบวนรถไฟคันแรกไม่ยอมให้ตนขึ้น ตนก็นึกในใจว่างานเข้าซะแล้วจะเอาจักรยานไปเชียงใหม่ได้อย่างไร เลยเลียบ ๆ เคียง ๆ ไปหาพี่ที่ดูแลสถานที่ โดยพยายามบอกเหตุผล และขอร้องให้เขาช่วยหน่อย ซึ่งเขาก็เต็มใจช่วย แต่พอรถไฟอีกขบวนมา รถไฟกลับเต็มไปไม่ได้ ตนนั่งรออยู่หลายขบวนเลยกว่าจะได้กลับเชียงใหม่


          หลังจากที่พิธีกรได้ชิมหมึกย่างฝีมือของ ไผ่ จักรพงษ์ แล้ว ก็ขอยกนิ้วให้ เพราะน้ำจิ้มรสชาติดีมาก ๆ ส่วนด้านพ่อค้าก็ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ พร้อมกับพาทุก ๆ คนตามไปดูชีวิตประจำวันของเขาว่า วัน ๆ หนึ่งเขาทำอะไรบ้าง และแบ่งเวลาทำงานกับเรียนหนังสืออย่างไร..

         ไผ่ จักรพงษ์ พ่อค้าหมึกย่างคนนี้ต้องตื่นนอนตั้งแต่ 06.30 น. ปั่นจักรยานเข้าตลาดไปซื้อวัตถุดิบเพื่อมาทำข้าวเช้า เขาบอกว่า เขาเป็นคนชอบทำกับข้าวอยู่แล้ว และการทำกับข้าวกินมันกินได้หลายมื้อมากกว่า ซึ่งเมนูที่เขาได้ทำในวันนี้ก็คือ ผัดผักบุ้งน้ำมันหอย เมนูง่าย ๆ แต่อร่อยสุด ๆ จากนั้นเขาก็รีบอาบน้ำแต่งตัว เพื่อที่จะไปเรียนต่อ แต่ก่อนที่จะเข้าเรียนนั้น เขาบอกกับทางรายการว่า จะขอแวะไปขอบคุณอธิการบดีที่เผยแพร่คลิปขายหมึกย่างของเขาในเว็บไซต์ยูทูบ จนสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเขาเลยทีเดียว เพราะหลังจากนั้นหมึกย่างของไผ่ก็ขายดีมากขึ้น มีคนรู้จักและจำได้ บ้างก็มีงานเกี่ยวกับการซ่อมมาเสริมรายได้ให้ตนทำ โดย ไผ่ จักรพงษ์ บอกว่า ตนก็จะให้หมึกย่างกับอธิการบดี ถึงจะไม่มีค่าราคาอะไร แต่ก็เป็นสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตนพอมอบให้ได้




         ทั้งนี้ เมื่อ ไผ่ จักรพงษ์ ขับเจ้าจักรยานคู่ใจ ซึ่งข้างหลังเต็มไปด้วยแผงหมึกไปยังมหาวิทยาลัย ด้านอาจารย์และเพื่อน ๆ ก็ช่วยอุดหนุน ก่อนที่เขาจะนำหมึกย่างที่ย่างอย่างสุดฝีมือไปให้อธิการบดีได้ชิม ทางด้านอธิการบดีก็กล่าวขอบใจกับน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขามอบให้ และขออวยพรให้เขาเจริญ ๆ แถมยังบอกอีกด้วยว่า น้ำจิ้มอร่อยมาก ๆ 

          ส่วนอาจารย์ที่สอน ไผ่ จักรพงษ์ ก็ได้กล่าวถึงการเรียนของเขาว่า ถึงแม้เขาจะมีภาระเพิ่มขึ้น แต่เรื่องการเรียนของเขานั้นไม่ต่างกับเพื่อนคนอื่น ๆ เลย ส่งการบ้านครบ และไม่เคยเข้าสาย อีกทั้งยังตั้งใจเรียนมาก ๆ ซึ่งอาจารย์ทุกคนเอาใจช่วย และสนับสนุนเขาทุกคน

         และเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนของ ไผ่ จักรพงษ์ เขาก็รีบกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดและขอยืมจักรยานยนต์ของเจ้าของหอ ขี่ไปตลาดเพื่อไปซื้อวัตถุดิบเตรียมขายหมึกย่าง พอได้ของครบแล้ว ไผ่ จักรพงษ์ ก็กล่าวว่า ในส่วนของหมึกตนไม่ต้องทำอะไรมาก แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจนั้นก็คือน้ำจิ้ม สำหรับน้ำจิ้มตนก็มีสองแบบด้วยกันคือน้ำจิ้มเปรี้ยวและน้ำจิ้มหวาน ซึ่งตนเป็นคนเคี่ยวเองทำเองทุกอย่าง    

         ไผ่ จักรพงษ์ กล่าวต่อว่า ฤกษ์งามยามดีในการออกขายหมึกย่างของเขาก็คือเวลา 1 ทุ่มตรง พอเตรียมข้าวของเสร็จ ก็ขนใส่จักรยานพร้อมขายในทันที ซึ่งระหว่างทางก็มีลูกค้าโบกเรียกบ้างอะไรบ้าง ส่วนเพื่อน ๆ เขาก็มาช่วยอุดหนุน นอกจากนี้ยังมีรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือประชาชนทั่วไปที่เคยดูคลิป ก็จะช่วยอุดหนุนเช่นเดียวกัน

         ส่วนรุ่นน้องที่เคยดูคลิปดังกล่าว กล่าวว่า พอตนเห็นคลิปดังกล่าวแล้วรู้ว่าเป็นพี่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็เลยอยากจะมาอุดหนุน ตนชอบประโยคที่พี่ไผ่พูดว่า "เลือกที่จะอาย หรือเลือกที่จะอด" ซึ่งคำนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ตนฮึดสู้เหมือนกัน ทั้งนี้ ตนก็ถือเอาพี่ไผ่เป็นไอดอลในการใช้ชีวิต และก็ขออวยพรให้พี่ไผ่ขายดี ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้เสมอ

         เมื่อเราได้ดูชีวิตประจำวันของ ไผ่ จักรพงษ์ กันไปแล้ว ทางพิธีกรก็ขอปักหลักสัมภาษณ์พูดคุยจริง ๆ จัง ๆ กับพ่อค้าหมึกย่างคนนี้ ถึงความอดทนและสู้ชีวิตของเขา...




         โดย ไผ่ จักรพงษ์  เล่าว่า ตนสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชีวิตในวัยเด็กของตนไม่สบายเท่าไรนัก เพราะคุณพ่อคุณแม่แยกทางกันตั้งแต่ตนอายุได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น ซึ่งคุณปู่และคุณย่าที่ไม่ใช่ย่าแท้ ๆ ของตน เลี้ยงดูมา ตอนนั้นตนก็ไม่รู้ว่าตนมีพ่อกับแม่ รู้เพียงว่าปู่กับย่าสองคนนี้เท่านั้นที่เลี้ยงตนมา แต่พอตนอายุประมาณ 13 ปี ช่วงจังหวะที่ทางจังหวัดมีการเลือกตั้ง สว. ซึ่งตอนนั้นนั่นเองที่ตนได้เห็นหน้าพ่อครั้งแรก ส่วนความรู้สึกที่เห็นพ่อครั้งแรกมันก็เขิน ๆ ทำตัวไม่ถูก ไม่กล้าสวัสดี ไม่กล้ากอด อย่างสมมติถ้าจะให้เรียกพ่อกินข้าว ตนก็ไม่กล้าพูดคำว่าพ่อ แต่จะบอกว่า ปะ กินข้าวกันเนอะ

         ไผ่ จักรพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่คุณพ่อกลับมาเลือกตั้งเขาก็ไม่ได้อยู่กับตนต่อ เพราะเขาก็มีครอบครัวของเขา คือมีลูกชายอีกคนซึ่งก็มีศักดิ์เป็นน้องชายของตน ส่วนทางด้านคุณแม่ตนเพิ่งมาเจอครั้งแรกตอนอายุ 19 นี่เอง ด้านคุณแม่ก็มีครอบครัวใหม่ แต่ก่อนหน้าที่เขาจะมีตนคุณแม่ก็มีลูกมาแล้วมีศักดิ์เป็นพี่ชายของตน และตอนนี้ก็มีลูกอีกคนเป็นลูกชายเหมือนกัน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวก็ไม่มีอะไรมาก ยังเป็นพี่น้องที่ดีต่อกัน

          สำหรับชีวิตการเรียนของ ไผ่ จักรพงษ์ นั้น เขาเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ การเรียนของเขาไม่ลำบากเท่าไร เพราะเขาเรียนโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเรียน มีหนังสือให้ยืม มีอาหารกลางวันฟรี ส่วนเรื่องเสื้อผ้า คนแถวบ้านเขาก็รู้ว่าตนไม่มีพ่อไม่มีแม่ ก็แบ่งมาให้ตนใส่บ้าง ซึ่งตนก็เรียนโรงเรียนนี้มาจนถึงชั้นมัธยมตอนต้น จากนั้นตนก็ได้โควต้าไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ในแผนกช่างยนต์ ตอนนั้นค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนก็เพิ่มมากขึ้นแล้วย่าก็ไม่ค่อยจะมีเงิน แต่พอดีในช่วงปิดเทอมพ่อได้เรียกตนไปช่วยงานที่กรุงเทพฯ ไปทำงานก่อสร้างช่วยแบกถังปูนบ้าง ล้างเครื่องไม้เครื่องมือบ้าง ก็ได้ค่าแรงวันละ 140 บาท ซึ่งก็พอมีเงินเก็บ และเปิดเทอมก็รับจ้างก่อสร้างตามไซต์งานในเวลาว่าง แต่ถ้าถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ตนก็จะช่วยงานย่าด้วยการทำนา ไถนา เป็นต้น

           ต่อจากนั้นเมื่อเรียนจบชั้น ปวช. ไผ่ จักรพงษ์ ก็อยากเรียนมหาวิทยาลัยต่อ แต่ขอต่อเป็นระดับ ปวส. เพราะกลัวส่งตัวเองเรียนไม่ไหว เลยขอลงแค่ระดับ ปวส. เพราะมันแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งการเข้ามหาวิทยาลัยครั้งนี้ของตน ตนก็ได้โควต้าเช่นเคย เนื่องจากตนเรียนได้เกรดดี 3.6 ติด 1 ใน 5 ของแผนกตลอด (แผนกมี 500 คน)

           แต่พอขึ้นระดับมหาวิทยาลัยค่าเทอมก็เพิ่มมากขึ้น ยิ่งตนเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ค่าเทอมเลยค่อนข้างสูง สำหรับเทอมแรกค่าเทอมสูงถึง 1.2 หมื่นบาทเลยทีเดียว ตนก็คิดว่าคงส่งตัวเองเรียนไม่ไหว จึงตัดสินใจยืมเงินจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเขาก็จ่ายค่าเทอมให้ตน และก็ให้เงินเป็นรายเดือนตนมา เดือนละ 2,200 บาท

            ตอนที่ตนย้ายไปเรียนที่เชียงใหม่ วันแรกก็เดินหาหอถูก ๆ หลังมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ได้เจอกับพี่โอ๋ เจ้าของหอ "ทักษิณภูพิงค์" เขาใจดีกับตนมาก ๆ ตอนแรกตนต้องไปอยู่ห้องเช่าราคา 1,500 บาท ซึ่งมันเหลือเพียงห้องเดียว ตนจึงตัดสินใจรีบเช่า แต่ตนก็บอกพี่เขาว่า ตนพอมีความรู้เรื่องช่างมาบ้าง ถ้ามีงานซ่อมหรืองานรับจ้างตนรับทำหมด พี่เขาก็ใจดีหางานมาจ้างเราตลอด


            ไผ่ จักรพงษ์ กล่าวต่อว่า พอตนอยู่ห้องราคาพันห้าได้สักพัก พี่โอ๋ก็เรียกไปคุยถามว่า มีห้องราคาแปดร้อยให้เช่านะ แต่อยู่ชั้น 4 แล้วเล็กมาก จะเอาไหม ตนก็รีบตอบตกลงไปเลย แล้วก็ย้ายของขึ้นไปทันที ส่วนข้าวของเครื่องใช้ของตนในห้อง ก็มีพี่ ๆ ที่ใจดีเอามาให้ตน อาทิ พัดลม พี่โอ๋ก็เอามาให้ตน มันเก่าแล้ว ตนก็เอามาซ่อมนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พัดเย็นดีเหมือนเดิม ส่วนทีวีก็เป็นของป้าร้านกล้วยทอดใต้หอเขาให้มา





          ด้านพิธีกร ทราบมาว่า ไผ่ จักรพงษ์ ถึงแม้จะรายได้น้อย แต่บางเดือนก็เก็บเงินส่งไปให้ย่าที่ จ.สกลนคร ด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าตัว เล่าว่า ตนก็มีเงินไม่มาก และที่ส่งไปก็ไม่ใช่เงินเยอะเท่าไร บางเดือนก็หนึ่งพัน บางเดือนก็พันห้าแล้วแต่จะหามาได้ ซึ่งตนบอกตรง ๆ ว่า ตนรักย่ามาก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้มีสายเลือดเดียวกับตน แต่ท่านก็เลี้ยงดูตนมาตั้งแต่เด็ก รักตนเหมือนลูกแท้ ๆ ให้ความรักความอบอุ่นตนมาเสมอ ตนเลยไม่รู้สึกว่าเป็นเด็กขาดความอบอุ่นเลย ทั้งนี้ตนรักย่าเหมือนแม่ของตนคนหนึ่งเลย

           สุดท้ายนี้ ไผ่ จักรพงษ์ ได้กล่าวถึงอาชีพขายหมึกสั้น ๆ ให้ฟังว่า การเริ่มขายตรงนี้ให้พูดง่าย ๆ คือถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพราะตนก็ต้องหาช่องทางทำงาน ไม่งั้นก็ไม่มีเงินเรียน ตั้งแต่เกิดมาตนก็มีเหตุการณ์แบบหลังชนฝามาตลอด มันถอยไม่ได้เลย ต้องเดินหน้า ต้องลุยทุกเรื่อง อาชีพนี้มันก็เลยเกิดขึ้น

           นอกจากนี้ พ่อค้าคนเก่งยังได้กล่าวถึงอนาคตให้ฟังว่า หากเรียนจบไปตนก็อยากจะเก็บเงินสักก้อน ไปทำกิจการของตนเอง อาจจะเปิดร้านซ่อมอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หรืออาจจะรับจ้างทำงานเป็นจ็อบ ๆ ไป ทั้งนี้ที่ตนไม่อยากทำงานประจำเพราะตนยังมีที่นาที่ต้องดูแล ซึ่งเรียกว่าเป็นงานของบรรพบุรุษที่ตนต้องสืบทอดไปพร้อม ๆ กับงานช่างที่ตนเรียนมา...

           อย่างไรก็ตาม กระปุกดอทคอมก็ปรบมือดัง ๆ ให้กับความขยันและความตั้งใจของ ไผ่ จักรพงษ์ ด้วยนะคะ ขอให้หมึกย่างขายดิบขายดี และเชื่อว่าความพยายามของ ไผ่ จักรพงษ์ ในวันนี้จะส่งผลในวันข้างหน้าอย่างแน่นอนค่ะ ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตนะคะ สู้ ๆ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วีไอพี : ไผ่ จักรพงษ์ พ่อค้าขายหมึกย่าง ดีกรีนักศึกษาวิศวะ โพสต์เมื่อ 4 กันยายน 2555 เวลา 16:05:21 16,274 อ่าน
TOP