x close

วิสัยทัศน์อาเซียน วงสมานฉันท์แห่ง ASEAN





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  nfe.go.th

            อีกเพียง 3 ปีเท่านั้น หรือปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยของเรา และประเทศในแถบอาเซียนรวมทั้งหมด 10 ประเทศ อันประกอบด้วย ประเทศบรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม  ก็จะทำการรวมตัวเป็น "ประชาคมอาเซียน" กันอย่างเป็นทางการแล้ว แน่นอนว่า เมื่อประชาคมอาเซียนได้รวมตัวกันเมื่อไหร่นั้น จะนำมาซึ่งความร่วมมือของเหล่าประเทศสมาชิกที่จะผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคอย่างมากมาย

            ทั้งนี้เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เตรียมความพร้อมกับการร่วมประชาคมอาเซียนกันมากขึ้น ทางกระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนมาฝากอีกเช่นเคย โดยสิ่งที่เรานำมาฝากในครั้งนี้ก็คือเรื่องของ "วิสัยทัศน์อาเซียน" เพื่อให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าใจตรงกันถึงแนวทางและจุดมุ่งหมายที่จะให้อาเซียนเป็นไปในอนาคต ส่วนจะมีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้างนั้นตามไปอ่านกันเลยค่ะ

            วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (The ASEAN Vision 2020) ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการจัดตั้งอาเซียน โดยที่ประชุมเห็นชอบต่อวิสัยทัศน์ในการให้อาเซียนเป็น


            1. วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (A concert of Southeast Asian Nations)

            2.  การมุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (An Outward-Looking ASEAN) 

            3. การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มั่นคง และรุ่งเรือง เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างมีพลวัต  (A Partnership in Dynamic Development) 

            4. การเป็นชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร ( A Community of Caring Societies)







            ความสำคัญของการศึกษาในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนปรากฎรูปธรรมอย่างชัดเจนในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ที่ได้เน้นยำความสำคัญของการศึกษาซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำอาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (พ.ศ. 2563) โดยกำหนดให้อาเซียนมีวิสัยทัศน์สู่ภายนอก มีสันติสุข และมีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในการเป็นหุ้นส่วนในสิ่งแวดล้อมของประชาธิปไตยและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน การพัฒนาที่มีพลวัตร และการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดและในสังคมที่เอื้ออาทร ที่ระลึกถึงสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นทางประวัติศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันและเชื้อมโยงในอัตลักษณ์ของภูมิภาค

            นอกจากนี้ วิสัยทัศน์อาเซียนได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนามนุษย์ โดยให้ประชากรสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกอบรม นวัตกรรม การส่งเสริมการป้องกันคุณภาพการทำงานและการประกอบการ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัย การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือทางด้านวิชาการและการพัฒนาซึ่งจะช่วยสนับสนุนกระบวนการรวมตัวของอาเซียน การเสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา ดังนั้น ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนจึงได้ทวีบทบาทมากขึ้นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอาเซียนให้มีความเจริญก้าวหน้าและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในหลากหลายด้านที่ส่งผลให้โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์

            เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ ได้ทราบเนื้อหาสาระเรื่องวิสัยทัศน์อาเซียนกันไปแล้ว เพื่อจะให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงสุด เราต้องทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริงนะคะ เพื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราจะได้ผนึกกำลังกันอย่างแข็งแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

inter.oop.cmu.ac.th

hcu.ac.th





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิสัยทัศน์อาเซียน วงสมานฉันท์แห่ง ASEAN โพสต์เมื่อ 12 กันยายน 2555 เวลา 16:29:35 106,161 อ่าน
TOP