x close

เตรียมออกหมายจับผู้ลักลอบนำชาวโรฮีนจา 856 คน เข้าไทย


 






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการข่าว 3 มิติ โพสต์โดยคุณ OhoLakorn3 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

             ตำรวจสงขลา เตรียมออกหมายจับเพิ่มอีก 6 คน คดีกักขัง-ค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา เผยสถิติจับกุมปีละกว่า 2 พันคน ผลักดันกลับประเทศก็ลำบาก เพราะพม่าไม่ยอมรับ หวั่นเป็นปัญหาอันตรายหากถูกว่าจ้างจากกลุ่มก่อความไม่สงบ เหตุคนกลุ่มนี้อดอยาก

             สืบเนื่องจากความคืบหน้าคดีมุสลิมโรฮีนจา 3 กลุ่ม ได้รับการช่วยเหลือระหว่างถูกนำมาพักพิงไว้ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา พล.ต.ต. สุวิทย์ เชิญศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรสงขลา  เปิดเผยว่า  นายประสิทธิ์ หรือ เบต เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรี เมืองปาดังเบซาร์ และนายจามานาดิน สัญชาติพม่า ที่ถูกตั้งข้อหานำพาและให้ที่พักพิง ยังคงหลบหนี และเตรียมออกหมายจับผู้ต้องหาชาวพม่าเพิ่มอีก 6 คน ในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวให้ที่พักพิง และนำบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนชาวโรฮีนจา 856 คน ยังอยู่ในขั้นตอนการคัดแยกว่า มีการบังคับใช้แรงงาน หรือเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่

             ด้าน พ.ต.ต. จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ลงพื้นที่มาร่วมตรวจสอบ กล่าวว่า หากผลการคัดแยกพบเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือองค์การอาชญากรรม จะทำเรื่องถึงอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษต่อไป

             ขณะที่สถานีตำรวจภูธรสะเดา คณะครูและนักเรียน และชาวบ้าน ต่างนำอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค มาบริจาคให้กับชาวโรฮีนจาที่ถูกควบคุมตัวอยู่  ด้านนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สั่งคัดแยกเด็กและผู้หญิง จำนวน 137 คน ไปดูแลในสถานสงเคราะห์เด็กและคนชรา จ.สงขลา รอการผลักดันกลับประเทศ

             สำหรับกรณีที่มีผู้ลักลอบนำโรฮีนจาเข้าไทยนี้ พบว่า เคยเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นของประเทศมาแล้ว โดยมีข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระนอง ระบุว่า ชาวโรฮีนจาเริ่มอพยพเข้าประเทศไทยด้าน จ.ระนอง ครั้งแรกเมื่อปี 2548 แต่ไม่มีการบันทึกสถิติไว้ ส่วนปีต่อมามีสถิติดังนี้

 
              ปี 2549 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา ได้จำนวน 1,225 คน

             ปี 2550 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา จำนวน 2,763 คน

             ปี 2551 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา จำนวน 4,886 คน

             ปี 2552 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา จำนวน 93 คน

             ปี 2553 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา จำนวน 2,351 คน

             ปี 2554 มีการจับกุมชาวโรฮีนจา จำนวน 2,552 คน

             ซึ่งข้อมูลในข้างต้นนี้ ยังไม่นับรวมชาวโรฮีนจาที่เล็ดลอดการจับกุมไปได้ และยังไม่รวมข้อมูลของจังหวัดอื่น ๆ ในจังหวัดแถบชายฝั่งอันดามัน ซึ่งมีการจับกุมชาวโรฮีนจาอย่างต่อเนื่อง และจากการตรวจสอบด้านการข่าวของหน่วยงานด้านความมั่นคง พบว่า มีกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งใน และต่างประเทศ เป็นผู้สนับสนุน และแสวงหาผลประโยชน์กับการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮีนจา      
            
             ส่วนสาเหตุที่ชาวโรฮีนจาต้องหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยนั้น นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว ชาวโรฮีนจายังถูกกดดันจากทหารพม่า เนื่องจากพม่าไม่ยอมรับว่า โรฮีนจาเป็นพลเมืองของตน นอกจากนี้ มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า ประเทศไทยเปิดรับชาวโรฮีนจาให้เข้ามาทำงานในประเทศโดยถูกต้องจำนวนมากและสามารถเดินทางเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
            
             ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายระบุว่า เข้าช่องทางไหน ต้องผลักดันออกช่องทางนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะทางการพม่า ไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ และปัญหาของกลุ่มชาวโรฮีนจานั้น เนื่องจากการอยู่ในภาวะอดอยาก หากมีใครว่าจ้างให้คนกลุ่มนี้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสร้างเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เช่น การขอสัญชาติไทย เป็นต้น

     


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมออกหมายจับผู้ลักลอบนำชาวโรฮีนจา 856 คน เข้าไทย อัปเดตล่าสุด 16 พฤษภาคม 2558 เวลา 23:43:29 2,911 อ่าน
TOP