x close

จากปัจจุบันถึงอนาคต...ภาษาไทยในมุมมอง ดร.กาญจนา นาคสกุล


ดร.กาญจนา นาคสกุล


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


            ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้การใช้ภาษาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยตามกาลเวลา และสิ่งนี้ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นที่หลากหลายในสังคม บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็เห็นต่าง แล้วจริง ๆ จุดสมดุลของการใช้ภาษาควรจะอยู่ที่ตรงไหน การเปลี่ยนแปลงทำให้ "ภาษาวิบัติ" หรือไม่ ใครจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ นิตยสาร BE ซึ่งสนใจในเรื่องของการใช้ภาษาไทย จึงได้ไปพบกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตยสาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เพื่อขอความคิดเห็น

            เริ่มจากเรื่องแรก ลองย้อนไปตอนสมัยเด็ก ๆ หลายคนคงเคยถูกสอนให้เปิดพจนานุกรมเล่มโต เพื่อค้นหาความหมายของคำศัพท์ แล้วเคยสงสัยไหมว่า คำศัพท์เหล่านั้นอยู่ในพจนานุกรมที่หนัก และหนาขนาดนั้นได้อย่างไร แล้วศัพท์ใหม่ ๆ ล่ะ ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการบัญญัติลงไป ... ดร.กาญจนา ที่คร่ำหวอดอยู่กับราชบัณฑิตยสถานมานาน เล่าให้ฟังว่า การบรรจุศัพท์ใหม่ลงไปในพจนานุกรมนั้นเกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง ได้พบ ได้อ่านตามที่ต่าง ๆ แล้วเก็บรวบรวมคำเหล่านั้นมาเข้าห้องประชุม ก่อนจะเขียนคำนิยามให้กะทัดรัดชัดเจน

            ทั้งนี้ ศัพท์ใหม่ ๆ ที่ใช้กันในสังคมนั้น เกิดขึ้นจากกิจกรรมใหม่ ๆ พฤติกรรมใหม่ ๆ ที่กระทำกันเมื่อต้องการสื่อสารกันให้เข้าใจว่าแปลว่าอะไร โดยสังคมจะเป็นผู้ให้คำแปลเอง และความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา อยู่ที่คนเราจะนำไปใช้อย่างไร และยิ่งยุคสมัยนี้มีสื่อออนไลน์ มีโทรทัศน์ วิทยุ พูดแค่คำสองคำก็มีคนได้ยินกันเป็นล้าน ศัพท์ใหม่ ๆ จึงแพร่หลายได้เร็วกว่าสมัยก่อนมาก

ดร.กาญจนา นาคสกุล

            แล้ววิธีการเขียนล่ะ เราควรปรับเปลี่ยน หรือยึดรูปแบบเดิมดี? อาจารย์กาญจนา มองว่า ควรยึดจากบริบทเป็นหลัก เพราะภาษามีหลายระดับ เช่น ใช้ในราชการ ใช้กับเพื่อน ใช้ด่ากัน จึงต้องเลือกดูว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนถือเป็นวัฒนธรรมของภาษา อย่างที่คนถกเถียงกันว่า ในโลกไซเบอร์มักจะเขียนกันอย่างผิด ๆ เช่น หนู เป็น นู๋ อันนี้ถือว่าเป็นคนที่ไม่รักษาอักขระวิธี มองว่าเป็นภาษาวิบัติก็ได้ เพราะ น.หนู เป็นอักษรต่ำ ใส่ไม้จัตวาไม่ได้ การเปลี่ยนเช่นนี้ทำให้ภาษาเสีย แต่จริง ๆ แล้ว ภาษาสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีอยู่นิ่ง เพราะความสนใจของคนเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามคนใช้ อยู่ที่ว่าเราจะยึดหลักของเราอยู่ไหม

            "ทุกวันนี้คนไม่ค่อยระวังในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ที่ได้ยินบ่อยมากเลยคือตัวควบกล้ำ หายไปหมด คำว่า โครงการ ก็เป็น โคงการ คนฟังเข้าใจเพราะมันมีคำอื่นช่วยให้เข้าใจได้ แต่มันทำให้ภาษาเสีย ต่อไปเราจะแยกไม่ออก เช่น ก๋วยเตี๋ยวแคะ หรือ ก๋วยเตี๋ยวแคระ คนเข้าใจว่าใช้ "แคระ" หมด แต่จริง ๆ ต้อง "แคะ" เพราะมันหมายถึงชาวจีนแคะ" อาจารย์กาญจนา แสดงความเห็นถึงการใช้ภาษาไทยในสังคมปัจจุบัน

            การที่ภาษาไทยมีคำให้ใช้ได้หลากหลายถือเป็นอีกสิ่งที่ อาจารย์กาญจนา มองว่า นี่คือเสน่ห์ของภาษาไทย อาจบอกได้ว่า ภาษาไทยคือภาษาอัจฉริยะ เพราะมีเสียงครบ สามารถออกเสียงอะไรที่เราต้องการได้หมด สามารถผสมคำได้มาก สร้างคำใหม่ก็ง่าย มีสัมผัสคล้องจองที่ไพเราะ อย่างการแต่งบทประพันธ์ บทกวี จะเห็นว่าสามารถทำให้คำธรรมดา ๆ มีการเปรียบเทียบฟังแล้วเพราะได้ และยังมีคำที่มีความหมายคล้ายกันให้เลือกใช้มากมาย แต่ละคำก็ใช้แตกต่างกันละเอียดยิบ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความปราณีตของไทย และบ่งบอกถึงความมีศิลปะของภาษาเป็นอย่างดี

ดร.กาญจนา นาคสกุล

            อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนสมัยนี้กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาเท่าไรนัก ทั้งการพูด การเขียน รวมทั้งการอ่านที่ผลสำรวจในช่วงหลัง ๆ ออกมาระบุว่า ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดเท่านั้นเอง...เรื่องนี้ ดร.กาญจนา ขอแย้งว่า ไม่จริงแน่นอน เพราะคนอ่านน้อยก็มี แต่คนที่อ่านเยอะก็มี คนที่อ่านน้อยอาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงหนังสือ เช่น ไม่มีเงินซื้อ หรือต้องทำมาหากิน เลยไม่มีเวลา

            เมื่อเป็นเช่นนั้น หากจะทำให้เมืองไทยเป็นเมืองแห่งการอ่านตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ก็ต้องตั้งห้องสมุดประชาชนให้มาก ๆ ให้ประชาชนได้อ่านหนังสือดี ๆ ไม่ใช่ว่าหนังสือดี ๆ แพง ๆ ถูกล็อกอยู่ในตู้ คนไม่ได้อ่าน สมัยนี้ต้องยอมรับว่า หนังสือดี ๆ แพงมาก คนก็เข้าไม่ถึง แถมหนังสือยังพิมพ์ด้วยอักษรตัวเล็ก กระดาษก็ไม่ดี สีสันไม่สวย ไม่ดึงดูดให้คนอยากอ่านเหมือนกับหนังสือของต่างประเทศ หากรัฐบาลจะส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน รัฐบาลต้องสนับสนุนให้หนังสือขายในราคาที่ไม่แพงมาก

            "แต่ขณะนี้มันสวนทางกัน รัฐบาลกลับไปสนับสนุนให้เด็กเล่นแท็บเล็ต เด็กมันจะอยากอ่านหนังสือได้อย่างไร แท็บเล็ตสนุกกว่าตั้งเยอะ มีเกม มีรูป ง่ายกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นมันผิดทาง ถ้าให้เครื่องมือนี้กับเด็ก ม.5-ม.6 ก็ยังเห็นด้วย แต่เด็กเล็ก ๆ ควรต้องให้อ่านเองก่อน เขียนเองก่อน จับปากกาให้เป็นก่อน หากมาจิ้ม ๆ บนหน้าจอ เด็กก็คงไม่อ่านหนังสือ..." ราชบัณฑิตยสาขาวิชาภาษาไทย แสดงความกังวลถึงอนาคตของภาษาไทยที่อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง...


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

นิตยสาร BE Magazine ฉบับที่ 41



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากปัจจุบันถึงอนาคต...ภาษาไทยในมุมมอง ดร.กาญจนา นาคสกุล โพสต์เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:02:11 11,691 อ่าน
TOP