x close

วิจัยชี้ หัวหน้าชมมากกว่าติ 5 ต่อ 1 ครั้ง ทำให้ผลงานของลูกน้องดีที่สุด


วิจัยชี้ หัวหน้าชมมากกว่าติ 5 ต่อ 1 ครั้ง ทำให้ผลงานของลูกน้องดีที่สุด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ผลวิจัยชี้ การให้คำชมมากกว่าคำตำหนิ ในอัตรา 5 : 1 ครั้ง แก่ลูกน้อง จะส่งผลให้ผลงานของทีมออกมาดีที่สุด

            เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ฮาร์วาร์ บิสสิเนส รีวิว ได้มีรายงานถึงงานวิจัยใหม่ ที่พบว่า การที่หัวหน้าแสดงความคิดเห็นในด้านบวก มากกว่าการแสดงความคิดเห็นในด้านลบต่อลูกน้องในอัตราส่วน 5:1 นั้น จะส่งผลให้ผลงานที่ได้ออกมาดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยศึกษาจาก 60 กลยุทธ์ของผู้นำทีมย่อยในบริษัทประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และวัดผลจากประสิทธิภาพทางการเงิน อัตราความพึงพอใจของลูกค้า และผลตอบรับจากลูกทีมแบบรอบด้าน
   
            จากการวิจัยที่นำทีมโดย นักวิชาการ เอมิลี่ เฮไซ และ ที่ปรึกษา มาร์เชียล โลซาดา นั้น พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มที่มีผลการทำงานดีที่สุด และกลุ่มที่มีผลการทำงานที่ด้อยที่สุด โดยพบว่าอัตราส่วนระหว่างความคิดเห็นในด้านบวกต่อความคิดเห็นในเชิงลบ ของกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุดนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 : 1 หรือคำชม 5 ครั้งต่อคำตำหนิ 1 ครั้ง ทีมที่มีผลการทำงานปานกลาง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 : 1 ขณะที่ทีมซึ่งมีผลงานด้อยที่สุดนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.36 : 1 หรือ คำชม 1 ครั้ง ต่อคำตำหนิ 3 ครั้ง

            ในการวิจัย เราจะพบว่า การที่หัวหน้ามอบคำชมหรือความคิดเห็นในด้านบวกแก่ลูกน้องนั้น จะทำให้ลูกน้องดำเนินงานในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้วต่อไป ทั้งยังจะทำงานนั้นด้วยความกระฉับกระเฉง มุ่งมั่น และสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งนี่เองก็คือเหตุผลที่ทำให้เราพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นในด้านบวกมากกว่า ในกลุ่มที่มีผลการทำงานดีที่สุด

            ขณะที่การมอบคำตำหนิ โต้แย้ง หรือความคิดเห็นในด้านลบแก่ลูกน้องนั้น จะมีประโยชน์อย่างมากก็ต่อเมื่อหัวหน้าต้องการเตือนให้ลูกน้องหยุดกระทำในบางสิ่งที่เลวร้ายจริง ๆ หรือต้องการให้พวกเขาเริ่มทำในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ นั่นเพราะแม้ว่าจะสามารถทำให้ลูกน้องสามารถปรับปรุงตัวขึ้น สามารถทำงานได้ดีอย่างที่สุด หรือเกิดช่องที่จะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น แต่ความคิดเห็นในด้านลบนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่แตกแยก ทั้งยังเป็นการกัดกร่อนความเชื่อมั่นในตนเองและความคิดใหม่ ๆ ของลูกน้อง ซึ่งแม้จะทำให้พวกเขามีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้ลูกน้องมีความพยายามในการทำงานมากขึ้น

            และนอกเหนือไปจากผลงานวิจัยของทั้ง 2 คนนี้แล้ว ยังมีผลวิเคราะห์อีกชิ้นหนึ่งที่ได้ผลออกมาเหมือนกัน คือผลวิเคราะห์คู่สมรสที่หย่าร้างและไม่หย่าร้างของ จอนห์ โกธแมน ที่ศึกษาจากข้อกำหนดคือการแสดงความคิดเห็นในด้านบวก และด้านลบที่คู่สมรสมีให้แก่กัน ซึ่งผลที่ได้นั้นคือคู่สมรสที่ไม่หย่าร้าง มีอัตราส่วนระหว่างความคิดเห็นด้านบวกต่อความคิดเห็นด้านลบอยู่ที่ 5 : 1 ขณะที่คู่สมรสซึ่งหย่าร้างนั้น มีอัตราส่วนอยู่ที่ 0.77 : 1 หรือคำชม 3 ครั้งต่อคำตำหนิ 4 ครั้ง

            ทั้งนี้ จากผลการศึกษาทั้ง 2 ชิ้น จะทำให้ได้ข้อสรุปว่า การมอบความคิดเห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบนั้น ต่างก็ต้องมีความเหมาะสมในตัวของมันเอง ความคิดเห็นด้านบวกจะทำให้ลูกน้องสามารถพัฒนาตัวเองได้ต่อไป แต่หากต้องการให้อีกฝ่ายหยุดพฤติกรรมบางอย่าง หรือหากเขาทำงานล้มเหลวตลอดเวลา ก็สมควรที่จะมอบคำตำหนิให้อย่างมีเหตุผล เป็นรูปธรรม และใจเย็น ไม่มุ่งที่จะโจมตีอีกฝ่าย เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงตัวได้ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นในด้านบวกและด้านลบนั้นจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ต้องรู้จักนำมาใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งหัวหน้าที่ต้องการให้ลูกน้องมีผลงานที่ดีที่สุดนั้น จะต้องพยายามให้คำชมและคำตำหนิในสัดส่วน 5 : 1 หรือใกล้เคียงสัดส่วนนี้มากที่สุดนั่นเอง




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยชี้ หัวหน้าชมมากกว่าติ 5 ต่อ 1 ครั้ง ทำให้ผลงานของลูกน้องดีที่สุด โพสต์เมื่อ 19 มีนาคม 2556 เวลา 15:51:07 1,741 อ่าน
TOP