x close

สมี คืออะไร ไขข้อสงสัย ทำไม เณรคํา ถูกเรียก สมีคำ


เณรคำ

          ตกเป็นประเด็นที่สังคมต่างกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่อัยการและดีเอสไอ ได้คุมตัวอดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือ อดีตหลวงปู่เณรคำ แห่งที่พักสงฆ์ขันติธรรม ในตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ กลับมาจากสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อช่วงดึกของวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ด้วยเหตุนี้ทำให้สื่อมวลชนต่างขนานนาม "เณรคำ" ใหม่ว่า "สมีคำ"

          โดยในขณะนี้ สมีคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอคุมตัวส่งให้พนักงานอัยการเตรียมฝากขังที่ศาลอาญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สมีคำ

          ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีหลายคนไม่ทราบว่า เหตุใดจึงมีการเรียก เณรคำ ว่า สมีคำ และคำว่า สมี คืออะไร หรือมีความหมายอย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากฝากค่ะ
 
          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
          (๑)  [สะหฺมี] น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก
          (๒)  (โบ) น. คำใช้เรียกพระภิกษุ


          ขณะที่ พจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ระบุความหมายของคำว่า สมี ดังนี้
          สมี [สะ-หฺมี] น. คำเรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต
 
เณรคำ

          สำหรับรายละเอียดของการอาบัติปาราชิกนั้น ได้มีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระภิกษุอาบัติปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระภิกษุก็ตาม นอกจากนี้ ทางพระวินัยถือว่า พระภิกษุที่อาบัติปาราชิกแล้ว จะไม่สามารถทำกิจร่วมกับพระภิกษุอื่นได้ และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ ดังนี้
 
          อาบัติข้อที่ 1. เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรี หรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
 
          อาบัติข้อที่ 2. ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก
 
          อาบัติข้อที่ 3. ฆ่ามนุษย์ ทั้งฆ่าให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ คือ พระภิกษุมีเจตนาตั้งใจที่จะฆ่าอยู่แล้ว เช่น คิดและมีการวางแผนฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต
 
          อาบัติข้อที่ 4. พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่กลับอ้างตัวว่า บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น

เณรคำ
 
          อย่างไรก็ตาม การจะต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาและการกระทำของพระภิกษุเป็นเกณฑ์ โดยปกติแล้วจะมีการวินิจฉัยเป็นรายกรณีไป โดยอาจมีการยกเว้นแก่พระสงฆ์ที่กระทำการนั้นโดยไม่รู้ตัว มีจิตฟุ้งซ่าน หรือเป็นบ้า
 
          สำหรับคดีตัวอย่างอันโด่งดังของพระภิกษุสงฆ์ที่อาบัติปาราชิก และถูกเรียกว่า สมี นั้น พบว่า เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้แก่ กรณีของ อดีตพระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) หรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ พระสงฆ์นักปฏิบัติธรรมชื่อดัง ที่ขณะนั้นมีผู้คนให้ความศรัทธามากมาย ซึ่งในเวลาต่อมา อดีตพระยันตระ ได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหา ทั้งล่อลวงสีกาเพื่อเสพเมถุน ประพฤติตัวไม่สำรวม และพบหลักฐานว่า มีการใช้จ่ายเงินในสถานบริการทางเพศซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ
 
          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 อดีตพระยันตระได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุ แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ซ้ำยังพูดวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงขั้นหมิ่นองค์สมเด็จพระสังฆราช ก่อนลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมหลบหนีออกจากประเทศไทย ทำให้ต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน และถูกสื่อมวลชนเรียกขานว่า "สมียันตระ" หรือเรียกแบบเหน็บ ๆ ว่า "สมียันดะ"

เณรคำ

          จากคดีตัวอย่างในข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของอดีตพระยันตระและสมีคำนั้น มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ซึ่งล้วนตรงตามเกณฑ์ในการอาบัติปาราชิก ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้สื่อมวลชนเรียกขานเณรคำที่ถูกตัดสินพ้นจากสภาพพระภิกษุไปแล้วว่า สมีคำ นั่นเอง

ภาพจาก ข่าวช่อง 8, springnews

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



** หมายเหตุอัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.11 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม 2560




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมี คืออะไร ไขข้อสงสัย ทำไม เณรคํา ถูกเรียก สมีคำ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2560 เวลา 11:14:43 47,248 อ่าน
TOP