ผู้ว่าฯ ระยอง ประกาศ อ่าวพร้าว เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว-คาดฟื้นฟูกว่า 15 วัน






คลิกชมภาพใหญ่ คลิกที่นี่








เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3 , gistda.or.th, เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat, สปริงนิวส์

           คราบน้ำมันรั่วในทะเลระยอง ห่างเกาะเสม็ดแค่ 1-2 กม. กรมอุทยานฯ ตื่น หวั่นทำลายสภาพแวดล้อม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งควบคุมแก้ปัญหาด่วน ล่าสุด คราบน้ำมันทะลักถึงอ่าวพร้าวแล้ว นักท่องเที่ยวแห่เดินทางกลับ ด้านผู้ว่าฯ ระยอง ประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว คาดใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 15 วัน

           เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง แจ้งเหตุน้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ได้รั่วไหลออกจากท่อส่งน้ำมันดิบลงสู่ทะเล โดยคราบน้ำมันกำลังเคลื่อนตัวมายังอุทยานฯ เกาะเสม็ด โดยมีระยะห่างจากฝั่งเพียง 1-2 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากว่าจะกระทบกับประชาชนและสภาพแวดล้อมของเกาะเสม็ด โดยเฉพาะหาดทรายที่สวยงาม ทรัพยากรสัตว์น้ำและปะการังในพื้นที่

           อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรือของทางบริษัทเอกชน และเฮลิคอปเตอร์กำลังติดตามการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันอย่างใกล้ชิดเพื่อกันไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นฝั่งได้ ซึ่งได้มีการประสานกับทางอุทยานฯ เสม็ด และกรมควบคุมมลพิษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้แล้ว

           ขณะที่ทางด้าน นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการในการแก้ปัญหาว่า กมธ. ได้ขอให้ ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องมือทั้งหมดเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว รวมทั้งขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยีและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบระยะยาว ทั้งนี้ กมธ. จะได้เรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง ติดตามผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อไป

           อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เช้าวันนี้ (29 กรกฎาคม 2556)  นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 เปิดเผยว่า คราบน้ำมันดังกล่าวทะลักเข้าสู่บริเวณชายหาดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ดแล้ว เมื่อ เวลา 19.00 น. คืนวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ไม่มากนัก และเมื่อเวลา 22.00 น. ก็ได้รับรายงานว่า บริเวณหาดอ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมันจำนวนมาก เป็นระยะทางกว่า 600 เมตร ทั่วทั้งหาด ห่างจากฝั่งประมาณ 20 เมตร เป็นคราบน้ำมันมีความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร และห่างออกไปในทะเลประมาณ 200 เมตร คราบน้ำมันจะเป็นลักษณะคล้ายฟิล์มบาง ๆ โดย นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมันโดยด่วน

             นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่พักอาศัยอยู่บริเวณอ่าวพร้าว เตรียมเดินทางออกจากที่พักก่อนกำหนดในช่วงเช้าวันนี้ เพราะไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้

              ขณะที่  ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์จากคณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนข้อมูลพร้อมภาพถ่ายลงใน เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

              "ผมนำภาพถ่ายมาให้ดู เป็นภาพถ่ายจาก GISTDA เมื่อเย็นวานนี้ จะเห็นได้ว่า คราบน้ำมันที่เป็นปื้นสีดำ ขนาดใหญ่เกือบเท่าเกาะเสม็ด ความยาวนับสิบกิโลเมตร ความกว้าง 1.5-2 กิโลเมตร กำลังลอยเข้ามาหาชายฝั่ง จากการคาดการณ์น่าจะเข้ามาวันนี้แหละครับ"

              ผมจึงลองนำภาพของ GISTDA มาทำแผนที่เพิ่มเติม ใส่ระบบนิเวศทางทะเลลงไป ได้แก่ B หรือ Beach บริเวณนั้นเรียกว่าก้นอ่าว อันเป็นส่วนของหาดแม่รำพึงที่มาเชื่อมต่อกับเขาแหลมหญ้า C คือ Coral Reef เป็นแนวปะการังที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด Ben คือ Benthic Community หรือระบบนิเวศพื้นท้องทะเล



             เมื่อลองพิจารณาจากคราบน้ำมัน ดูจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อันเป็นแนวทางที่ควรใช้ในการวางแผนรับมือกับอุบัติเหตุทางทะเล เราประเมินความน่าเป็นห่วงของระบบนิเวศที่จะเกิดผลกระทบได้ ดังนี้ครับ (แนวคิดของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานใด)

            1. หาดทรายที่ก้นอ่าว คราบน้ำมันอาจจับกับเม็ดทราย เคลือบตามตัวสัตว์ทะเล ทำให้ระบบนิเวศบนหาดทรายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยว การกำจัดคราบน้ำมันบนหาดทรายค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณมาก ต้องดูกันต่อว่ามีมากน้อยแค่ไหน

            2. หาดหินที่เขาแหลมหญ้า รวมทั้งหาดทรายและแนวปะการังเล็ก ๆ และแนวสาหร่ายติดฝั่งที่อยู่ตรงปลายแหลม

            3. แนวปะการังและหาดต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด
 
            4. ระบบนิเวศพื้นท้องทะเลตั้งแต่จุดที่น้ำมันรั่วตรงมาหาฝั่ง ระยะทางไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลเมตร

            5. หากคราบน้ำมันลอยผ่านช่องเสม็ด หาดแถวบ้านเพอาจได้รับผลกระทบ รวมถึงป่าชายเลนหย่อมเล็ก ๆ ตรงนั้น

            6. หากคราบน้ำมันกระจายตัวไปมากขึ้น อาจส่งผลกระทบบ้างต่อหาดอื่นที่อยู่เลยเกาะเสม็ดไปทางตะวันตก

            7. พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยังไม่ได้ประเมินครับ

         ย้ำอีกครั้งว่านี่คือแนวคิดด้านร้าย ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยนิยมใช้ ด้วยอ้างว่าเดี๋ยวประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ผมก็สงสัย...คราบน้ำมันไม่ใช่ก๊อตซิลล่าบุก ตื่นตระหนกแล้วเป็นไง ในกรณีนี้อย่างนี้ ควรโปร่งใสและชัดเจน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคราวนี้คงจะเป็นเช่นนั้น จะได้มาช่วยกันดูช่วยกันคิด

         เผอิญผมต้องไปทำธุระอื่น เขียนแบบเร็วจี๋ได้แค่นี้ เอาไว้มีเวลาค่อยลงรายละเอียด ขอบคุณ GISTDA ของพี่อานนท์อีกครั้ง หวังว่าจะติดตามหาข้อมูลมาบอกกล่าวให้เราฟังต่อนะครับ

          อ้อ ทุ่นกันน้ำมันของเรายาว 200 เมตร แนวน้ำมันกว้าง 2 กิโลเมตร อย่าถามว่ากันได้แค่ไหน ผมเคยถามเขาในที่ประชุมแล้ว เขาบอกว่ามีไว้ใช้ล้อมเรือที่จอดเทียบท่าแล้วพลาดทำน้ำมันหกลงมา ถ้าเป็นอุบัติเหตุทางทะเลก็คงต้องหวังพึ่งทุ่นจากสิงคโปร์ ก็หวังต่อไปนะครับ"

          สำหรับสถานการณ์ ล่าสุด (12.00 น.) นายวิชิต ชาตไพสิฐ  ผวจ.ระยอง ได้ประกาศให้พื้นที่บริเวณอ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเลแล้ว โดยในขั้นแรกจะต้องป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันกระจายไปยังชายหาดอื่นที่ใกล้เคียง พร้อมกับประสานงานไปยังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ เพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 100 นาย มาช่วยเหลือดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมันโดยด่วน และคาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 15 วัน ในการเก็บกู้คราบน้ำมันและฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

          ส่วนทางด้าน นายพรเทพ  บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  ได้ลงพื้นที่พร้อมจัดเจ้าหน้าที่นำแผ่นซับคราบน้ำมันมาเก็บคราบน้ำมันทั่วชายหาด นอกจากนี้ ทางบริษัทได้ใช้เรือฉีดพ่นสารเคมีสลายคราบน้ำมัน พร้อมกับนำบูมยางมากั้นในวงจำกัด เพื่อไม่ให้คราบน้ำมันหลุดออกไปยังอ่าวบ้านเพ


อ่าวเพ

           นอกจากนี้ นายพรเทพ ยังกล่าวอีกว่า ในขณะนี้ได้เตรียมถังพลาสติกสีขาว ถังละพันลิตร จำนวน 20 ถัง และปั๊มดูดอีกหลายตัว ทยอยมาทั้งวัน เพื่อเร่งดูดคราบน้ำมันเก็บใส่ถัง ส่วนการเก็บคราบที่เกาะอยู่บนทรายชายหาดที่เหนียวหนืด จะใช้กระดาษฟิล์มซับน้ำมันและพลั่วตักออก

           กรณีที่น้ำมันเข้ามาเร็วนั้นเกิดขึ้น นายพรเทพ กล่าวยอมรับว่า ไม่คิดว่าคราบน้ำมันจะลอดใต้ทุ่นที่ล้อมไว้ถึง 2 ชั้นรวดเร็วถึงเพียงนี้ ในส่วนของประชาชนและชาวประมงที่ตื่นตระหนกขอให้มั่นใจได้ว่า คราบน้ำมันจะไม่กระจายออกไปสู่อ่าวเพหมู่บ้านชาวประมงอย่างแน่นอน ด้านนักท่องเที่ยวที่ต่างก็ไม่มีใครลงเล่นน้ำ เพราะยังไม่มั่นใจกับกรรมวิธีการกำจัดที่ล่าช้าและสารที่ใช้กำจัด









อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ว่าฯ ระยอง ประกาศ อ่าวพร้าว เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว-คาดฟื้นฟูกว่า 15 วัน โพสต์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:44:38 6,813 อ่าน
TOP
x close