x close

ติวเข้มพ่อแม่ รับมือลูกก้าวสู่วัยรุ่น

ติวเข้มพ่อแม่ รับมือลูกก้าวสู่วัยรุ่น

          เมื่อลูกกำลังก้าวย่างเข้าสู่การเป็น วัยรุ่น วัยที่พ่อแม่หลายๆ คนกังวลและลำบากใจ เพราะจะเลี้ยงดูอย่างไรไม่ให้ลูกเข้าไปเกี่ยวพันกับสารพันปัญหาของวัยรุ่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ทั้งเรื่องยาเสพติด ทะเลาะวิวาท มั่วสุม พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม

          นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เสนอวิธีการเตรียมพร้อมรับมือกับลูกวัยรุ่นที่จะช่วยให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกได้อย่างไร้ความกังวลและเข้าใจในตัวลูกมากขึ้น

เตรียมตัว เตรียมใจ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของลูก

          ในความเป็นจริง หลายๆ พฤติกรรมที่วัยรุ่นทุกวันนี้ เป็นหรือแสดงออกนั้น เป็นพัฒนาการตามวัยปกติของวัยรุ่น แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กวัยรุ่นไม่เข้าใจพัฒนาการของพวกเขา หลายคนยังใช้วิธีการดูแลลูกเสมือนลูกยังเป็นเด็กเล็ก เมื่อลูกไม่เชื่อฟังเหมือนตอนยังเล็ก ทำให้พ่อแม่หลายคนอาจจะยอมรับไม่ได้ และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กในที่สุด

          เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่สำคัญมาก สำหรับการดูแลเด็กวัยรุ่นก็ คือ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยรุ่น และเตรียมตัวเองสำหรับการเปลี่ยนแปลงในตัวลูกที่กำลังจะเกิดขึ้น

 เตรียมลูกเรื่องการดูแลร่างกายให้เหมาะสม

          ในช่วงวัยรุ่น ทั้งเด็กหญิงเด็กชายจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศ ทั้งรูปร่างทรวดทรง อวัยวะส่วนต่างๆ ที่จะบ่งบอกความเป็นเพศหญิงเพศชายชัดเจน สิ่งสำคัญอันดับแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวลูกคือ การดูแลสุขอนามัยของตนเอง เนื่องจากฮอร์โมนเพศที่ไม่ได้ใช้จะถูกขับออกมาตามรูขุมขนตามผิวหนัง

          ถ้าหากบริเวณที่เป็นซอกมุมอับในร่างกายอับชื้น จะเป็นอาหารของแบคทีเรีย ส่งผลให้บริเวณนั้นมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เด็กผู้ชายจะต้องทำความสะอาดบริเวณซอกรักแร้ และบริเวณขาหนีบและถุงอัณฑะให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ในขณะที่เด็กผู้หญิงต้องทำความสะอาดบริเวณซอกรักแร้ และบริเวณอวัยวะเพศเช่นกัน

          นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องเตรียมความพร้อมลูกชาย เรื่องการมีน้ำสีขาวขุ่นๆ ออกมาจากอวัยวะเพศซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี โดยอาจจะบอกถึงสาเหตุที่มาว่าเป็นเพราะในช่วงนี้ร่างกายจะผลิตอสุจิออกมามากจนอาจล้นถุงเก็บ จนบางครั้งอาจมีอสุจิไหลปนเปื้อนออกมาพร้อมปัสสาวะ รวมถึงบอกวิธีดูแลตนเอง หากเป็นลูกสาวพ่อแม่ก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการมีประจำเดือนว่าควรจะดูแลตนเองในช่วงที่มีประจำเดือนอย่างไร

 เตรียมลูกให้รู้เท่าทันอารมณ์เพศ

          ในช่วงวัยรุ่น ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระตุ้นเร้าทางเพศมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวัยที่ฮอร์โมนเพศทำงานมากที่สุด หากเป็นเด็กผู้หญิงมักมีอารมณ์เพศเมื่อถูกกระตุ้นเร้าผ่านทางผิวหนังบางส่วน เช่น ต้นขา ลำตัว หน้าอก ริมฝีปาก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะอธิบายให้ลูกเข้าใจและสอนให้ลูกวางตัวกับเพศตรงข้ามในระยะที่เหมาะสม

          ที่สำคัญ คือ ไม่ควรยอมให้ใครมาสัมผัสร่างกายของลูกเลย เพราะการสัมผัสจะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศได้ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัยนี้จะยังไม่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจตนเองในเรื่องเพศ เนื่องจากสมองส่วนหน้า (ส่วนการคิด ใช้เหตุผลและยับยั้งชั่งใจ) ยังเติบโตไม่เต็มที่ ส่วนเด็กผู้ชายอาจเกิดอารมณ์เพศได้เมื่อถูกกระตุ้นเร้าผ่านทางสายตา เช่น การดู/มอง ซึ่งกระตุ้นให้คิดเรื่องเพศ เด็กผู้ชายเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นเร้า อารมณ์เพศของเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก

          ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกชาย ควรจะสอนลูกไม่ใช่เพียงแค่ห้ามสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่ยังต้องสอนให้หลีกเลี่ยงการมองภาพต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ ในเด็กผู้ชายหากเกิดอารมณ์เพศจะมีโอกาสไปมีเพศสัมพันธ์ได้สูง เนื่องจากเด็กผู้ชายจะมีอารมณ์เพศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและควบคุมไม่ได้

          ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ลูกทั้งลูกสาวและลูกชายมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ก็คือ การพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกเรื่องการเกิดอารมณ์เพศ และการจัดการอารมณ์ของตนเองให้ได้ เช่น ให้ลูกหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ และให้ลูกรู้จักจัดการกับอารมณ์เพศอย่างเหมาะสม โดยให้ลูกหันมาใช้พลังไปกับสิ่งที่ตนเองสนใจหรือทำกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งสารความสุข ทดแทนการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เล่นกีฬา ดนตรี ทำงานศิลปะ แสดงละคร ร้องเพลง เต้นแอโรบิก ท่องเที่ยวเดินป่า กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ

 ฝึกทักษะการจัดการอารมณ์ให้ลูก

          อย่างที่ทราบกันว่า ในช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศทำงาน ทำให้เด็กวัยนี้อาจมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น จิตใจว้าวุ่น ห่อเหี่ยว หรืออารมณ์แปรปรวน อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการเริ่มทำงานของฮอร์โมนเพศนั่นเอง ดังนั้นเด็กวัยรุ่นจำนวนมากอาจจะแสดงออกทางสังคมที่ไม่เหมาะสม เช่น อาละวาด ก้าวร้าว เด็กหลายคนอาจเคยเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่ายเมื่อสมัยยังเล็กอยู่

          แต่พอก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เด็กอาจเปลี่ยนบุคลิกนิสัยจากที่เคยว่านอนสอนง่ายไปเป็นเด็กที่โต้เถียงพ่อแม่ บางครั้งเด็กอาจควบคุมตัวเองไม่ได้จนถึงขั้นอาละวาด เด็กวัยนี้อาจมีการทำร้ายเพื่อน รังแกสัตว์ รุกรานคนอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากจิตใจที่ว้าวุ่น

          พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องฝึกฝนให้ลูกสามารถติดตามอารมณ์ของตนเองให้ได้ เมื่อลูกโกรธก็ทำให้ลูกรู้ว่าลูกกำลังโกรธ พ่อแม่อาจตกลงกติกากับลูกว่าถ้าลูกโกรธพ่อแม่จะช่วยเตือน ซึ่งถ้าหากลูกยอมรับกติกานี้ การกระตุ้นเตือนของพ่อแม่จะช่วยทำให้ลูกรู้ตัว การที่พ่อแม่ช่วยกระตุ้นเตือนลูกจะช่วยให้สมองส่วนหน้า (ส่วนการคิดใช้เหตุผล) ทำงาน และสมองส่วนกลาง (ส่วนอารมณ์ความรู้สึก) ทำงานน้อยลง

          ดังนั้นการที่พ่อแม่ช่วยเตือนลูก และช่วยให้ลูกสามารถจำแนกอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง รวมถึงเรียนรู้ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ จะช่วยฝึกทักษะการจัดการอารมณ์ของตนเองให้ลูก นั่นคือลูกจะรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง รู้จักหลบหลีกปัจจัยเร้าที่จะทำให้เกิดอารมณ์ และรู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม

          การก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นโดยเฉพาะเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากจะมาจากสาเหตุที่ฮอร์โมนเพศทำให้อารมณ์แปรปรวนง่ายแล้ว ความรู้สึกมีอคติหรือหวาดระแวงว่าผู้อื่นจะท้าทายหรือคิดร้ายต่อตน ทำให้เด็กคอยจับผิดเด็กอื่นและเข้าไปก้าวร้าวข่มเหงเด็กอื่นๆ เป็นการรุกก่อนรับ ก็เป็นลักษณะปกติของเด็กวัยนี้เช่นกัน ทั้งนี้เป็นเหตุจากฮอร์โมนเพศที่กระตุ้นให้ก้าวร้าวประกอบกับการไม่คุ้นเคยกับความแตกต่างที่เด็กอื่นอาจมีพฤติกรรม ลักษณะนิสัยแตกต่างไปจากตน

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดทักษะทางสังคม ทำให้เด็กวัยนี้ไม่สามารถปรับตัว ให้เข้ากับเด็กวัยเดียวกันง่ายเหมือนวัยอื่นๆ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจัดให้เด็ก ยอมรับความแตกต่าง ด้วยการเพิ่มโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกันในแวดวงที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กระตุ้นให้เด็กจัดกิจกรรมชุมชน จัดงานพบปะสังสรรค์ในชุมชน จัดงานวันเด็ก วันครอบครัว เข้ากลุ่มทำกิจกรรมค่ายอาสาสมัคร การบำเพ็ญประโยชน์

          นอกจากนั้นยังควรฝึกทักษะทางสังคมให้เด็กมากเป็นพิเศษ แนะวิธีการสื่อสารกับเด็กวัยเดียวกัน หัดให้เด็กมองผู้อื่นทางบวกและทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างถ่องแท้ก่อนจะมีข้อสรุปอะไรต่อผู้อื่น จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมสุภาพเหมาะสมและเป็นมิตรต่อผู้อื่น

 เตรียมลูกเรื่องความผูกพันทางใจ

          เด็กวัยรุ่นมักจะมีความรู้สึกว่า เมื่อมีความผูกพันทางจิตใจจะต้องอยู่ใกล้ชิดทางกายเสมอ ดังนั้นเด็กอาจจะอยู่ด้วยกันหรือใกล้ชิดกับเพื่อนหรือคนที่รักตลอดเวลา พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำให้ลูกเข้าใจว่าการผูกพันทางจิตใจนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ทั้งกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน คนรัก ศิลปินคนโปรด

          พ่อแม่ควรให้ลูกเรียนรู้ว่าการนิยมชมชื่นศิลปิน ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางร่างกาย ไม่จำเป็นต้องใกล้ชิดสนิทสนม เพราะฉะนั้นเด็กวัยนี้ไม่ควรจะรู้สึกว่าชีวิตของเราผูกพันกับศิลปิน หรือนักร้อง หรือใครคนหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ถ้าปราศจากคนๆ นี้แล้วเราจะรู้สึกสิ้นหวัง เพราะจะทำให้เด็กมีภาวะซึมเศร้า และพยายามฆ่าตัวตายตามไป

          พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะเตรียมความพร้อมทางจิตใจของลูกว่า ในชีวิตจริงคนเราอาจมีการพลัดพรากกันได้ และการพลัดพรากจากกันไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นปัญหา ในขณะเดียวกันการอยู่ห่างกันและติดต่อสื่อสารกันเป็นระยะๆ ก็สามารถสร้างความผูกพันกันได้ เด็กต้องเรียนรู้ถึงระยะห่างที่เหมาะสมที่เด็กจะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ แม้ว่าจะมีความผูกพันกับเพื่อน/คนรัก/พ่อแม่/พี่น้อง และใช้การติดต่อสื่อสารเพื่อรักษาสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นแม้จะไม่อยู่ใกล้ชิดกัน

          สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐาน ที่พ่อแม่จะสามารถช่วยให้ชีวิตวัยรุ่นของลูก ดำเนินไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และลดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา สิ่งสำคัญที่พ่อแม่พึงระลึกไว้คือไม่ใช่เพียงแค่เตรียมตัวลูกในการก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเท่านั้น แต่ตัวเราเองต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของลูกด้วย

          สนใจ จุลสารทอฝันปันรัก จุลสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว หรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมลูก ติดต่อมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738, 0-2412-9834 www.thaichildrights.org

 

ข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติวเข้มพ่อแม่ รับมือลูกก้าวสู่วัยรุ่น โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2550 เวลา 00:00:00 20,723 อ่าน
TOP