x close

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ประวัติ นักธุรกิจหญิงเหล็ก ผู้บุกเบิก KPN

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช

 เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Instagram kornnarongdej, สปริงนิวส์

          ประวัติ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช หรือ พรทิพย์ พรประภา หญิงเหล็กแห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้บุกเบิกเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ-อาณาจักรเคพีเอ็น ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในวัย 67 ปี

          เป็นข่าวใหญ่และข่าวเศร้าของตระกูลณรงค์เดช แห่งเคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น เมื่อต้องสูญเสีย คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งบริษัท เคพีเอ็นฯ และอดีตรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ในวัย 67 ปี ไปด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ซึ่งทางครอบครัวได้กำหนดจัดพิธีศพที่บ้านพัก ในซอยสุขุมวิท 49 เป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังสุสานประจำตระกูลที่จังหวัดชลบุรี

          ...หากเอ่ยชื่อ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช แล้ว ในแวดวงนักธุรกิจคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะคุณหญิงพรทิพย์ ถือเป็นหญิงเหล็กที่นั่งแท่นบริหารบริษัท สยามกลการ บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของครอบครัว และยังดูแลปลุกปั้นอีกหลายสิบบริษัทมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งกระปุกดอทคอม จะขอย้อนประวัติ และเส้นทางสายธุรกิจของหญิงเหล็กคนนี้ให้ได้รับรู้กัน

          สำหรับ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เดิมชื่อ พรทิพย์ พรประภา เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรของ ดร.ถาวร พรประภา และนางรำไพ พรประภา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท สยามกลการ ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน โดยหลังจาก คุณหญิงพรทิพย์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ในชั้นมัธยมศึกษา ก็ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย แล้วไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโกลเดนเกต ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้กลับมาช่วยคุณพ่อดูแลกิจการของครอบครัว

          เมื่อคุณหญิงพรทิพย์ได้เข้ามาทำงานในสยามกลการ คุณหญิงได้มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้น เพราะเป็นหัวเรือใหญ่ในจัดกิจกรรมที่ช่วยทำให้คนจดจำชื่อรถยนต์นิสสันได้มากมาย รวมถึงรุกวงการมอเตอร์สปอร์ตเป็นเจ้าแรก ๆ ของเมืองไทย มากกว่านั้นเธอยังต้องดูแลบริษัทลูกในเครือของสยามกลการอีกกว่า 40 บริษัท จึงได้ชื่อว่าเป็น "หญิงเหล็กแห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์"

          อีกหนึ่งกิจกรรมที่คุณหญิงส่งเสริมอย่างเต็มที่ เพราะมีความสนใจอยู่เป็นทุนเดิมก็คือ การจัดเวทีประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ "นิสสัน อวอร์ด" พร้อมกับจัดประกวดร้องเพลงในระดับยุวชน ในชื่อว่า "ยามาฮ่า อวอร์ด" แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกเวทีนี้ว่า "เวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ" เสียมากกว่า

         ในยุคนั้น เวทีประกวดร้องเพลงแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างยิ่ง สามารถสร้างชื่อให้กับผู้เข้าประกวดหลายคนจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย, ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย, รัดเกล้า อมระดิษ, นันทนา บุญหลง, เจเนต เขียว, นนทิยา จิวบางป่า, ปนัดดา เรืองวุฒิ, เจนนิเฟอร์ คิ้ม, ฟอร์ด สบชัย, อู๋ ธรรณธรณ์ , เจิน เจิน บุญสูงเนิน, ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด รวมทั้งสาวน้อยมหัศจรรย์ (ในยุคนั้น) อมิตา ทาทายัง

          ถือได้ว่า "สยามกลการ" ในยุคของคุณหญิงพรทิพย์นั้นเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เพราะคุณหญิงเดินหน้าส่งเสริมการจัดกิจกรรมหลาย ๆ ประเภทอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บริษัทต่าง ๆ ในเครือยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อบริษัทลูกเกิดขึ้นมากเท่าไร การดูแลก็ยิ่งไม่ทั่วถึง ส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นภายในบริษัทเครือข่ายขึ้น หลังจากฝ่ามรสุมอย่างหนักในช่วงนั้นมาได้สำเร็จ ในที่สุดแล้ว คุณหญิงก็ตัดสินใจวางมือจากสยามกลการในปี พ.ศ. 2538 แล้วมอบหมายให้ ดร.พรเทพ พรประภา น้องชาย ขึ้นมากุมบังเหียนสยามกลการแทน

          หลังจากแยกตัวออกมาจากสยามกลการ คุณหญิงพรทิพย์ ได้นำบริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด และ เคพีเอ็น ออกมาดำเนินธุรกิจเอง ร่วมกับสามีคือ ดร.เกษม ณรงค์เดช ซึ่งทั้งคู่สมรสกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2512 และมีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช, นายณพ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช

          บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันสอนดนตรีเคพีเอ็น ภายใต้การดูแลของคุณหญิงพรทิพย์สามารถดำเนินไปได้อย่างดี เนื่องจากคุณหญิงมีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานด้านนี้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมานานหลายสิบปี ก่อนจะถ่ายทอดประสบการณ์นี้ให้ลูกชายได้รับช่วงต่อไป

          นอกจากการดูแลธุรกิจส่วนตัวแล้ว คุณหญิงพรทิพย์ก็ยังทำงานด้านสังคมอีกนับไม่ถ้วน โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิรามาธิบดี มูลนิธิช่วยการศึกษากรุงเทพมหานคร มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัลเกียรติยศอีกมากมาย

         กระทั่งเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีข่าวว่าคุณหญิงพรทิพย์ล้มป่วยจนต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งหลังจากพักรักษาตัวนานร่วมปี สุขภาพของคุณหญิงก็กลับมาเป็นปกติ และมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 เมื่อครอบครัวณรงค์เดชต้องสูญเสีย คุณหญิงพรทิพย์ ไปด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในวัย 67 ปี ถือเป็นการปิดตำนานหญิงแกร่งแห่งวงการธุรกิจ ผู้สร้างอาณาจักรเคพีเอ็น



คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช

ประวัติ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช

 ชื่อเดิม : พรทิพย์ พรประภา

วันเกิด :
7 กรกฎาคม พ.ศ. 2489

ครอบครัว : สมรสกับ ดร.เกษม ณรงค์เดช มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นายณพ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช

ประวัติการศึกษา

          โรงเรียนอนุบาลสมถวิล

          โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ แล้วไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย

          มหาวิทยาลัยโกลเดนเกต สหรัฐอเมริกา

          ปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี และการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา (พ.ศ. 2551)

ประวัติการทำงาน

          รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด

          ประธานกรรมการ บริษัท นิสสันดีเซล (ประเทศไทย) จำกัด

          ประธานกรรมการ บริษัท ไดกิ้นแอร์คอนดิชันนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

          ประธานกรรมการ บริษัท เงินทุนพรประภา จำกัด

          ผู้อำนวยการ โรงเรียนดนตรีสยามกลการ

          กรรมการ บริษัท กลการและนิสสัน จำกัด

          กรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมรถยนต์ จำกัด

          กรรมการ บริษัท บางกอกมอเตอร์เวอคส์ จำกัด

          กรรมการ บริษัท กลการ จำกัด

          กรรมการ บริษัท เอ็น เอส เค แบริ่งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

          กรรมการ บริษัท กีฬาสยาม จำกัด

          กรรมการ บริษัท ทุนถาวร จำกัด

          กรรมการ บริษัท สมบัติถาวร จำกัด

          กรรมการ บริษัท ทองถาวรอุตสาหกรรม จำกัด

          กรรมการ บริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด

          กรรมการ บริษัท ไทยคลังสินค้า จำกัด

          กรรมการ บริษัท สยามพัทยา จำกัด

          ประธานกรรมการปฏิบัติการ บริษัท สยามกลการ จำกัด


รางวัลและเกียรติประวัติ

          กงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเม็กซิโกประจำประเทศไทย ปี 2526

          รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" สาขาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ปี 2531

          ประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศนักเศรษฐกิจแห่งปี 2532

          เหรียญ FIDOF จากสมาคม INTERNATIONAL FEDERATION OF FESTIVAL ORGANIZATION (FIDOF) ประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2532 รางวัลเกียรติยศ นักธุรกิจชั้นนำแห่งปี 2532

          ได้รับการคัดเลือกเป็นนักธุรกิจชั้นนำแห่งปี 2534

          ได้รับการคัดเลือกเป็นนักธุรกิจสตรีตัวอย่าง ประจำปี 2534 ของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย

          โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ได้รับรางวัล "ซิลเวอร์อะวอร์ด" ปี 2534

          ได้รับรางวัลสตรีนักธุรกิจผู้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำปี 2535

          รางวัลนักธุรกิจแห่งปี 2535 จากหนังสือพิมพ์หลักไท

          รางวัล International Federation of Festjval Organizations ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2536

          รางวัลสดุดี FIDOF AWARD จากองค์กรนานาชาติ FIDOF ปี 2536

          รางวัลพระเกี้ยวทองฝังเพชรสดุดี จากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2536

          รางวัลสตรีดีเด่น สาขานักธุรกิจสตรี จาก คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ ปี 2536

         รางวัล "The Leading Women Entrepreneurs of the World for 1998"- 2541 โล่เกียรติยศ นักธุรกิจสตรีดีเด่น จากรายการเวทีผู้หญิง

          รางวัลแม่ดีเด่น "ประเภทแม่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม" โดยได้รับพระราชทานรางวัลแม่ จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และรางวัลนักธุรกิจสตรีดีเด่นของโลก ปี 2543

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ

          เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (ปี 2522)

          จตุตถจุลจอมเกล้า (คุณหญิง) (ปี 2523)

          เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (ปี 2523)

          ตริตราภรณ์ช้างเผือก (ปี 2525)

          เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม จากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย (ปี 2527)

          ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ปี 2528)

          ตติยจุลจอมเกล้าฯ (ปี 2530)

          ปรมาภรณ์ช้างเผือก (ปี 2535)

          เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ORDEN MEXIKANA DEL AGUILA AZTECA ซึ่งเป็น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด สำหรับชาวต่างชาติ จากสาธารณรัฐเม็กซิโก (ปี 2536)






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ประวัติ นักธุรกิจหญิงเหล็ก ผู้บุกเบิก KPN อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2556 เวลา 11:24:20 34,190 อ่าน
TOP