
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สิ้นพระชนม์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ท่ามกลางความโศกเศร้าอาวรณ์ของชาวพุทธทั่วโลก
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ชาวพุทธได้รับทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สร้างความโศกเศร้าอาดูรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราช ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อพุทธศาสนาอย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นทั่วโลก จนได้รับทูลถวายตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 2555



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ในครอบครัวคชวัตร ทรงเป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร เมื่อชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน)
ขณะทรงพระเยาว์ สมเด็จพระสังฆราชทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ จนญาติ ๆ ได้บนไว้ว่าหากหายป่วยจะให้พระองค์บวชแก้บน กระทั่งในปี พ.ศ. 2469 ขณะที่มีพระชันษาได้ 14 ปี พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนที่วัดเทวสังฆาราม ก่อนจะทรงมาศึกษาพระธรรมที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม ภายหลัง พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้พาพระองค์ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) จึงทรงประทานนามฉายาให้ว่า "สุวฑฺฒโน" มีความหมายว่า "ผู้เจริญดี"
เมื่อพระชนมายุครบอุปสมบท สมเด็จพระสังฆราชทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 จากนั้นทรงเดินทางเข้ามาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อนจะเข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2484
หลังจากพระองค์ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณร กระทั่งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ได้ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งเป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา
ในปี พ.ศ. 2490 ขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้ 34 ปี ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณคณาภรณ์ หลังจากนั้น พระองค์ก็ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโสภณคณาภรณ์ ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระสังฆราชเป็นรูปแรก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงเป็นผู้ถวายความรู้ในพระธรรมวินัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากนั้น พระองค์ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2504 จะทรงดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ พร้อมรับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
ในปี พ.ศ. 2506 พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร โดยเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้เป็นองค์แรก ในปี พ.ศ. 2363 และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย จนถึงปี พ.ศ. 2515

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2517 พระองค์ท่านได้รับตำแหน่งประธานกรรมการคณะธรรมยุต และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกทรงผนวชในปี พ.ศ. 2521 สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และถวายความรู้ในพระธรรมวินัย
กระทั่งในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถือเป็นสมเด็จพระญาณสังวรสังฆราชพระองค์แรกของประเทศไทย
สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมายาวนาน กระทั่งเริ่มมีอาการพระประชวรด้วยโรคชราภาพในช่วงปี พ.ศ. 2543 ต้องเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเสด็จเข้า-ออกโรงพยาบาลมาโดยตลอด ก่อนจะมีอาการทรุดลงในช่วงกลางปี 2556 ต้องพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการก็ทรุดลงตามลำดับ กระทั่งเมื่อเวลา 19.30 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 สมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ จากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต รวมพระชันษา 100 ปี นับเป็นพระสังฆราชที่ทรงดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 23 ปี และทรงมีพระชันษายืนยาวที่สุดในประวัติคณะสงฆ์ไทย


- พ.ศ. 2490 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโสภณคณาภรณ์
- พ.ศ. 2495 พระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2498 พระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2499 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. 2504 พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
- พ.ศ. 2532 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัญวาสี สมเด็จพระสังฆราช



ตลอดห้วงระยะเวลาที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาอย่างยาวนานนั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญต่อพระศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราชทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และยังทรงเป็นพระอาจารย์รุ่นแรก รวมถึงมีพระดำริส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ขยายการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ
ที่ผ่านมา พระองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท และประทานโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสามเณรบวชใหม่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อย่างไม่ว่างเว้น รวมทั้งได้นิพนธ์ตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอีกมากมาย ทั้งประเภทตำราเรียน พระธรรมเทศนา งานแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 100 เรื่อง และงานเขียนทั่วไปอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังเสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจและเยี่ยมเยือนพุทธศาสนิกชนในภาคต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี และด้วยทรงมีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาเป็นอย่างดี ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต พระองค์จึงได้นำความรู้ด้านภาษามาใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ
สำหรับพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาในต่างประเทศนั้น พระองค์ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และเสด็จไปดูงารพระศาสนาและการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย นับเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
พระองค์ท่านได้สร้างวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นการนำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก และยังให้กำเนิดคณะสงฆ์นิกายเถรวาทขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งยังช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน

สมเด็จพระสังฆราชทรงบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นประโยชน์จำนวนมาก อาทิ พระอารามวัดต่าง ๆ มณฑลประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ ขณะเดียวกันก็ยังทรงก่อสร้างอาคารเรียน 2 หลัง คือ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร และโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี อีกทั้งยังได้ประทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก

พระองค์ท่านทรงอำนวยการก่อสร้างตึกหลายแห่งในหลาย ๆ โรงพยาบาล อาทิ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปริณายก พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี



หลังจากพระองค์ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ก็ปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อการศาสนาและสาธารณประโยชน์มาโดยตลอดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2555 ผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทูลถวายตำแหน่ง "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด นับเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้ทรงเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติตั้งอยู่ธรรมะนำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองนับเป็นแบบอย่างของสากลโลก
จากพระประวัติโดยสังเขปที่ได้กล่าวมานี้ ก็ทำให้พุทธศาสนิกชนทราบได้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม และทรงปฏิบัติพระศาสนกิจในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์ พระพุทธศาสนา และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง แม้พระองค์ท่านจะจากไปแล้ว แต่คุณงามความดีและคำสอนของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่สืบไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


