เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก psu.ac.th
มอ. ค้นพบ ฮาลมายแรบซูเดส กูตุย สัตว์ใต้พื้นน้ำชนิดใหม่ คล้ายกุ้งขนาดเล็ก อาศัยอู่ในป่าชายเลนหาดดิลี จ.สตูล มีส่วนช่วยสำคัญบรรเทาความเน่าเสียในทะเล วอนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศด้วย
วานนี้ (1 มีนาคม 2557) ศ.ดร.เสาวภา อังสุภานิช ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้พบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ของโลกที่ชายฝั่งเกาะลิดี จ.สตูล มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ "ฮาลมายแรบซูเดส กูตุย" เป็นสัตว์คล้ายกุ้งขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ในตะกอนดินร่วนเหนียวปนทรายในป่าชายเลนของหาดลิดี ห่างจากฝั่งท่าเรือปากบารา อำเภอละงู ประมาณ 7 กิโลเมตร
โดย ศ.ดร.เสาวภา กล่าวว่า แม้ ฮาลมายแรบซูเดส กูตุย จะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก แต่ในบางฤดูกาลมีความชุกชุมเกือบ 10,000 ตัวต่อตารางเมตร จึงเป็นกลุ่มสัตว์ที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้ง ปู หอย ปลิงทะเล บนหาดของเกาะลิดี ทั้งยังเป็นตัวการสำคัญในการกินซากอินทรีย์ในตะกอนดิน ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความเน่าเสียให้ท้องทะเลด้วย และสัตว์ชนิดนี้จะไม่สามารถดำรงชีพได้หากในตะกอนดินมีสารอินทรีย์และของเสียอื่นเช่นคราบน้ำมันปนเปื้อนมากเกินไป
ทั้งนี้ ศ.ดร.เสาวภา ยังระบุว่า สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตรอบเกาะลิดีด้วย เนื่องจากเป็นเกาะที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการฯ และยังเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางเชิงระบบนิเวศสูง มีทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล สาหร่าย ปะการัง หาดหิน หาดทราย เหมาะแก่การเรียนรู้ธรรมชาติ
หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลล่าสุด เมื่อเวลา 12.43 น. วันที่ 2 มีนาคม 2557
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก