เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก springnewstv.tv
ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งสวมกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ คนขับแท็กซี่เมาซิ่งรถจักรยานยนต์ประเดิมเป็นรายแรก พร้อมห้ามออกจากบ้านเวลา 22.00-04.00 น.
เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม 2557) ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก นายสุรจิตร ศรีบุญมา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครเหนือ เผยถึงความคืบหน้า กรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือ เริ่มนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้กับผู้กระทำความผิดในคดีเมาแล้วขับ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิด โดยวันนี้มีพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงพระนครเหนือนำชายไทย (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 41 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่มายื่นฟ้อง ฐานขับขี่รถจักรยานยนต์ขณะเมาสุรา
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 6 มีนาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน พบชายคนดังกล่าวขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาขณะตั้งด่านตรวจ โดยตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ 290 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูงกว่าเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และใบอนุญาตขับขี่ก็ขาดอายุ ดังนั้นศาลจึงสั่งจำคุก 2 เดือน ปรับ 3,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้สวมเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ แทนการบริการสังคม 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน จนถึงวันที่ 14 มีนาคม และห้ามออกจากบ้านพักหรือที่พัก ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04 .00 น. อีกด้วย
นายสุรจิตร กล่าวอีกว่า ชายรายนี้นับเป็นจำเลยคนแรกของศาลแขวงพระนครเหนือที่นำวิธีสวมกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หรือตัดสายรัดข้อเท้าทิ้ง เครื่องจะส่งสัญญาณไปที่ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่จะนำเรื่องไปรายงานให้ศาลทราบเพื่อนำตัวชายคนนี้มาจำคุกและตามคำพิพากษาของศาลที่สั่งรอลงอาญาไว้
อย่างไรก็ตาม ชายรายนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลางวันก็ออกไปขับรถแท็กซี่หาเลี้ยงครอบครัวได้ หรือหากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือเหตุสุดวิสัย ก็สามารถออกนอกบ้านตามเวลาที่ศาลห้ามได้ เช่น พาลูก ภรรยา หรือญาติป่วยหนักไปส่งโรงพยาบาล เป็นต้น
ส่วนคนขับรถรับจ้างสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถ 2 แถว รถบรรทุก 6 ล้อ รถ บรรทุก 10 ล้อ รถโดยสารประจำทาง หากพบว่าเมาแล้วขับ ศาลจะสั่งให้สวมกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์นาน 15 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยห้ามออกนอกบ้านหรือที่พักเป็นเวลา 15 วัน เพราะถือว่า เป็นอาชีพขับรถสาธารณะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก