วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือเมื่ออยู่ในภัยพิบัติฉุกเฉินต่าง ๆ ที่หลายคนอาจพบเจอได้ มีอะไรที่เราควรทำบ้าง ลองอ่านคู่มือเอาชีวิตรอดที่เรานำมาฝากกัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของเรา ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือสึนามิ การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเอาตัวรอด และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเมื่อภัยมา เราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ในบทความนี้เราได้รวบรวมแนวทางเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ และวิธีเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งวิธีเตรียมอุปกรณ์จำเป็น การตัดสินใจในช่วงวิกฤต และขั้นตอนปฏิบัติหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป เพราะเมื่อถึงเวลาคับขัน การมีสติและความรู้คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้รอดพ้นจากอันตราย เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างมั่นใจ ดินถล่ม เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา ที่ลาดเชิงเขาที่มีทางน้ำไหลผ่าน หรือบริเวณที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง เพราะดินที่อุ้มน้ำมากเกินไปอาจสูญเสียความมั่นคงและพังถล่มลงมา ส่งผลให้บ้านเรือน ถนน และพื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อันตรายจากดินถล่มจึงไม่ใช่แค่แรงกระแทกของดินที่เคลื่อนตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำป่า โคลนถล่ม และเศษซากที่พัดพามาด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำวิธีเอาตัวรอดจากดินถล่มไว้เป็นแนวทาง ดังนี้ รีบอพยพออกจากพื้นที่ทันที แล้วไปยังสถานที่ปลอดภัยพ้นจากแนวทางไหลของดิน หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว หรือในกรณีจำเป็นควรใช้เชือกผูกลำตัวยึดติดกับหลักที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำเชี่ยวพัดจมน้ำ ไม่กลับเข้าไปในบริเวณที่เกิดดินถล่ม หลีกเลี่ยงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อาจพังทับลงมาได้ ในกรณีพลัดตกน้ำให้หาที่ยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนี เพราะอาจถูกต้นไม้หรือหินกระแทกใส่ได้ สำหรับคนที่ต้องขับรถไปในเส้นทางที่มีความเสี่ยงจะเกิดดินถล่ม ควรปฏิบัติตัวดังนี้ ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงตรวจสอบสภาพเส้นทาง และเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถให้มากขึ้น สังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เช่น ระดับน้ำในร่องน้ำ ร่องรอยดินสไลด์ตามไหล่ทาง ต้นไม้ เสาไฟ หรือก้อนหินเอียงผิดปกติ หรือเสียงดินเคลื่อนตัวหรือเสียงแตกของพื้นดิน หากพบเส้นทางที่ดินถล่มให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัย และโทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือทันที สึนามิ เป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล โดยเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล ภูเขาไฟระเบิด หรือดินถล่มใต้มหาสมุทร ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าฝั่งด้วยความเร็วสูง การเกิดสึนามิอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังจากแผ่นดินไหว ผู้คนจึงมีเวลาหลบหนีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้สึนามิจะเป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะนำมาซึ่งความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แนะนำวิธีเอาตัวรอดจากสึนามิอย่างปลอดภัย ไว้ดังนี้ การเตรียมพร้อมก่อนเกิดสึนามิ ศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่นั้น ๆ ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ? พื้นที่ปลอดภัยอยู่ตรงไหน ? รวมถึงเส้นทางหนีภัยสึนามิในชุมชน จัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินเท่าที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำ ยา ไฟฉาย เอกสารสำคัญต่าง ๆ นัดแนะจุดอพยพหนีภัยตามแผนที่กำหนดไว้ ร่วมฝึกซ้อมแผนหนีภัยสึนามิกับชุมชน รวมถึงสร้างความคุ้นเคยกับป้ายสัญญาณเตือนภัยสึนามิ หมั่นสังเกตการเตือนภัยล่วงหน้าจากธรรมชาติ เช่น การลดระดับของน้ำที่ลงมากผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ควรรีบอพยพขึ้นที่สูงทันที วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดสึนามิ เมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้นขณะอยู่ในทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ให้ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และรีบออกจากบริเวณชายฝั่งไปยังบริเวณที่สูงหรือที่ดอนทันที เช่น อาคารสูงที่มั่นคงแข็งแรง ชั้น 4 ขึ้นไป ในกรณีที่หนีไม่ทันให้ปีนขึ้นต้นไม้ให้สูงที่สุด หรือหากกำลังจะจมน้ำให้หาสิ่งที่ลอยน้ำได้และเกาะไว้ให้แน่น ถ้าอยู่บนเรือที่ห่างจากชายฝั่งให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมาก ๆ จะมีขนาดเล็ก และอย่าเพิ่งรีบนำเรือกลับเข้าฝั่ง ให้รอจนสถานการณ์ปลอดภัยก่อน สำหรับเรือขนาดเล็กให้รีบจอดเทียบท่าบริเวณชายฝั่ง แล้วรีบขึ้นฝั่งไปยังที่สูงโดยเร็ว ถ้าอยู่ในอาคาร ที่พัก เช่น โรงเรียน โรงแรม หรือตึกสูง ให้ฟังคำเตือนและประกาศของชุมชน และปฏิบัติตามแผนอพยพหนีภัย หลังเกิดสึนามิควรทำอย่างไร ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ คอยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากคลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอก แม้เวลาห่างกันหลายชั่วโมงจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากมีการแกว่งไป-มาของน้ำทะเล จึงควรอยู่ห่างจากชายฝั่งและแม่น้ำ อยู่ห่างจากอาคารที่ได้รับความเสียหาย เพราะแรงกระแทกของคลื่นสึนามิสามารถทำให้โครงสร้างอาคารบิดเบี้ยว มีโอกาสที่เศษวัสดุจะหล่นทับ หรืออาคารพังถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ ระวังเสาไฟฟ้า ต้นไม้ สิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่ถูกคลื่นซัดจนไม่มั่นคงอาจล้มครืนลงมา ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยกู้ภัย ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คู่มือเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงลักษณะของภัยพิบัติแต่ละประเภท วิธีการเตรียมตัว เตรียมรับมือ รวมถึงวิธีฟื้นฟูชีวิตหลังภัยพิบัติ เพราะการเตรียมตัวที่ดีในวันนี้อาจช่วยรักษาชีวิตคุณและคนที่คุณรักในวันข้างหน้าได้ แอปฯ เตือนภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ช่วยเตรียมรับมือภัยธรรมชาติ 6 สัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในอันตราย รู้ไว้ปลอดภัยแน่ แนะนำ 7 วิธีการเอาตัวรอด หากต้องติดอยู่ในถ้ำ วิธีเอาตัวรอดจากเหตุเรือล่ม และการจมน้ำ ช่วยเหลือตัวเองยามคับขัน 9 วิธีเอาตัวรอดเวลาหลงป่า..ถ้าคุณไม่เก่งพอจะปิ้งไก่เอง ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (1), (2), (3), กรมอุตุนิยมวิทยา
แสดงความคิดเห็น