25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย
พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภาพจาก : kajornyot wildlife photography / Shutterstock.com
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย
ในรัชสมัยของพระองค์ทรงกระทำสงครามขยายพระราชอาณาจักรไทยให้แผ่ไพศาลไปในจตุรทิศ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ โดยพระองค์ได้กู้คืนอิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ช่วยกอบกู้เอกราชของชาติ ทรงผดุงความเป็นไทย ปกป้องรักษาแผ่นดินให้รอดพ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออิสรภาพของปวงชนชาวไทย
โดยในปี พ.ศ. 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคังจนได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด ทวาย ต่อมาปี พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2142 ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี ได้เมืองเมาะลำเลิงและเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
วัตถุประสงค์การจัดงานวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภาพจาก : Dmitry Chulov / Shutterstock.com
1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้เป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ
2. เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
3. เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติ
พระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นที่สักการบูชา อยู่ในพระที่นั่งบรมพิมาน
- พระบรมราชานุสรณ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก
- พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก
- พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
- พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ริมหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สนามนเรศวร หน้าศูนย์ราชการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู
- ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สุสานหอยหิน 150 ล้านปี จังหวัดหนองบัวลำภู
- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตราประจำจังหวัดของไทยที่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดหนองบัวลำภู