กฎอัยการศึก คืออะไร ข้อห้ามกฎอัยการศึก อำนาจหน้าที่ มีอะไรบ้าง



ข้อห้ามกฎอัยการศึก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           กฎอัยการศึก คืออะไร ความหมายของกฎอัยการศึก ข้อห้าม และมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง หลัง ผบ.ทบ. ประกาศ กฎอัยการศึก 2557

            จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พร้อมสั่งยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) เมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ทั้งนี้ หลายคนคงสงสัยว่า กฎอัยการศึก คืออะไร มีความหมายอย่างไร และกฎอัยการศึก มีข้อปฏิบัติ หรือข้อห้ามอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ


กฎอัยการศึก คืออะไร ข้อห้าม อำนาจหน้าที่ มีอะไรบ้าง


กฎอัยการศึก คืออะไร

            กฎอัยการศึก (Martial Law หรือ Military Law) คือ กฎหมายซึ่งได้ตามขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีที่เกิดสงคราม เกิดจลาจล ซึ่งในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในการระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน

            กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาปกติ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศบังคับใช้และกำหนดเขตพื้นที่ที่จะบังคับใช้ ซึ่งในประเทศไทยนั้น กฎอัยการศึกถูกตราเป็นกฎหมายชัดเจน ขณะที่บางประเทศก็ไม่มีการตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เป็นต้น

กฎอัยการศึกในประเทศไทย         

            ประเทศไทยตรากฎหมายกฎอัยการศึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 ตรงกับ พ.ศ. 2450 ที่ขณะนั้นประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายขนานใหญ่ให้ทันสมัย เพื่อจะได้ขอฝรั่งยกเลิกเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ไทยเสียเอกราชทางศาลอยู่ โดยมีทั้งสิ้น 9 มาตรา และถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้น ยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรากฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง


กฎอัยการศึก คืออะไร ข้อห้าม อำนาจหน้าที่ มีอะไรบ้าง


สาระสำคัญของกฎอัยการศึก

            พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ฉบับนี้ยังใช้อยู่จนปัจจุบัน มีสาระสำคัญ คือ

            1. การประกาศกฎอัยการศึกจะเป็นไปโดยพระบรมราชโองการหรือผู้บังคับบัญชาทหารที่มีกำลังอยู่ ใต้บังคับบัญชา ไม่น้อยกว่า 1 กองพัน ประกาศใช้ก็ได้ แต่การยกเลิกใช้กฎอัยการศึก จะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเลิกใช้เท่านั้น

            2. ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือ การรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (มาตรา 6)

            3. เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะ ตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่ (มาตรา 8)

            4. ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามข้อ 3 บุคคล หรือบริษัทใดจะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย …( มาตรา 16)

            มาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยกฎอัยการศึกนี้ ได้รับการยอมรับอย่างมั่นคงในรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยตลอดมา ฉบับปัจจุบันก็ปรากฏความในมาตรา 222 ว่า

            "มาตรา 222 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก"  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
 


กฎอัยการศึก มีอำนาจอะไรบ้าง

            หลังจากประกาศกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจตามมาตรา 8 กล่าวคือ... "เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่" ดังนี้...

     
การตรวจค้น (มาตรา 9)

            การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้

            1. ที่จะตรวจ ค้น บรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้อง เข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น

            2. ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกัน ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

            3. ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์
   
 
การเกณฑ์ (มาตรา 10)

            การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้

            1. ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ

            2. ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง
     

การห้าม (มาตรา 11)

            การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้

            1. ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน

            2. ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ภาพบทหรือคำประพันธ์

            3. ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์

            4. ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย

            5. ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้

            6. ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด

            7. ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด

            8. ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
     

การยึด (มาตรา 12)

            บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้
    
 
การเข้าอาศัย (มาตรา 13)

            อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง
    
 
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ (มาตรา 14)

            การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้

            1. ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น

            2. มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง
     

การขับไล่ (มาตรา 15)

            ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้

            มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน
     

ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ (มาตรา 16)

            ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา 8 และมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฎอัยการศึก คืออะไร ข้อห้ามกฎอัยการศึก อำนาจหน้าที่ มีอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:29:29 283,113 อ่าน
TOP
x close