ความแตกต่างระหว่าง กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง

 กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง

           ความแตกต่าง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีอะไรบ้าง การประกาศใช้นั้นแตกต่างกันอย่างไร

            จากกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19  โดยจะมีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 นั้น ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น คืออะไร และมีความแตกต่างกันอย่างไรกับ กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเรามักได้เห็นการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในช่วงที่บ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน...


กฎอัยการศึก

           คือ กฎหมายที่ออกเมื่อยามเกิดสงครามหรือจลาจล ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนนี้คือทหาร สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ ไม่ต้องขอต่อศาล และมีอำนาจเหนือพลเรือน อีกทั้งได้รับการยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ส่วนการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถทำได้ภายใต้กฎอัยการศึกดังกล่าว สำหรับระยะเวลาของการใช้กฎอัยการศึกนั้น มีหลักว่าเมื่อหมดความจำเป็นแล้วต้องรีบยกเลิกทันที

          ในส่วนของการฝ่าฝืนกฎอัยการศึกนั้น ไม่ได้กำหนดระวางโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะ แต่เป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาให้ได้รับโทษทางอาญาตามฐานความผิดที่มีอยู่แล้ว ตามกฎหมายประกอบกับ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ทั้งนี้ การพิจารณาคดีดังกล่าวจะพิจารณาโดยศาลยุติธรรม ศาลอาญาศึก หรือศาลทหาร แล้วแต่กรณี

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

           เป็นกฎหมายที่นำมาใช้เมื่ออยู่ในภาวะคับขัน มีการใช้กำลังและมีการประทุษร้ายกันอย่างรุนแรง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของฝ่ายบริหารขณะนั้น ว่าจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร  นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่สามารถฟ้องร้องความผิดของเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนการชุมนุมก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน สำหรับระยะเวลาของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น มีกรอบเวลากำหนดอย่างชัดเจน คราวละไม่เกิน 3 เดือน ส่วนอัตราโทษผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

           พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกฎหมายที่นำมาใช้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารในการดูแลเป็นหลัก ซึ่งความผิดของทหาร ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถฟ้องร้องได้ สำหรับการชุมนุมก็สามารถทำได้ ส่วนระยะเวลาของการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น แล้วแต่ ครม. เป็นผู้ประกาศ ส่วนอัตราโทษผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-pub-law.net






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความแตกต่างระหว่าง กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง อัปเดตล่าสุด 24 มีนาคม 2563 เวลา 18:01:25 66,337 อ่าน
TOP
x close