ตักบาตรเทโว 2567 วันไหน รวมถึงประวัติความเป็นมาของการตักบาตรเทโว และวิธีตักบาตรเทโว เป็นอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักหัวข้อเหล่านี้กันค่ะ
ความหมายของตักบาตรเทโว
ตักบาตรเทโว หรือภาษาอังกฤษคือ Tak Bat Devo and Chak Phra Festivals คำว่า ตักบาตรเทโว มาจากคำเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก เป็นการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษา แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ
ประวัติความเป็นมาของวันตักบาตรเทโว
วันตักบาตรเทโว หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา
ทั้งนี้ คำว่า เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหณะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก ซึ่งหมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ที่หลังประสูติพระองค์ได้ 7 วันก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นนางสวรรค์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ จากนั้นประชาชนได้พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น
ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาสู่เมืองมนุษย์ บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ เป็นประเพณีสำคัญสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า "ตักบาตรเทโว" โดยพระสงฆ์จำนวนมากนำโดยพระพุทธรูป เดินลงบันไดจากมณฑปพระพุทธบาท ลงมารับบิณฑบาตข้าวสาร-อาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชน โดยอาหารที่นิยมตักในวันนั้นนอกจากข้าวและอาหารคาว-หวานธรรมดาแล้ว ก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อหรือปั้นโยนลงบาตร การตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชนนับแต่นั้นมา
ตักบาตรเทโว วันไหน
ตักบาตรเทโว 2567 ปีนี้ตรงกับวันที่ 1ค ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน
ภาพจาก Boonsom / Shutterstock.com
วิธีตักบาตรเทโว
วิธีตักบาตรเทโว ในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด อาจมีความแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมปฏิบัติตามกันมา มีดังนี้
- จัดเตรียมขบวนรถทรงหรือคานหามพระพุทธรูป เพื่อชักหรือหามนำหน้าพระสงฆ์ในการรับบาตร หรือจะให้อุบาสก-อุบาสิกาเป็นผู้เชิญพระพุทธรูปก็ได้
- พระพุทธรูปที่จะเชิญนิยมเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ถ้าไม่มีอาจใช้ปางอื่น ๆ แต่ให้เป็นพระพุทธรูปยืน
- พุทธศาสนิกชนเตรียมภัตตาหารใส่บาตร โดยเฉพาะข้าวต้มลูกโยน ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของพิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
- มีการแสดงพระธรรมเทศนาหลังใส่บาตรเสร็จ
ตักบาตรเทโว ใส่อะไรบ้าง
ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ สามารถใส่ได้ทั้งอาหารคาว-หวานธรรมดา และข้าวสาร-อาหารแห้ง หรือบางที่อาจจะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย โดยความเชื่อว่าสมัยก่อนคนมาตักบาตรกันเยอะมาก ทำให้เข้าไม่ถึงพระ จึงต้องปั้นข้าวโยนลงบาตร
ประเพณีการตักบาตรเทโว นับว่าเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สมควรอนุรักษ์ไว้ เพราะประเพณีนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีคุณค่าด้านอื่นอีกด้วย เช่น เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาวบ้านกับวัดอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, dmc.tv, มหาวิทยาลัยนเรศวร