x close

13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก


            13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัตว์โลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า มาดูที่มา และความสำคัญของ วันรักนกเงือก กันได้เลย  

วันรักนกเงือก

            เมื่อพูดถึงนกเงือก หลายคนมักจะนึกถึง รักแท้ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า นกเงือกคือกลไกสำคัญที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เหตุนี้เองทำให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือก โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา 

ลักษณะของนกเงือก


            นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีขนสีดำ-ขาว และอาจจะมีสีอื่น ๆ บ้าง เช่น น้ำตาลและเทา เป็นต้น มีจุดเด่นคือ จะงอยปากหนาใหญ่ และมีโหนกด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ มีลิ้นที่สั้น จึงกินอาหารโดยจัดอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปากแล้วโยนกลับลงคอไปปกติ อาหารหลักคือผลไม้ และกินสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม

            นกเงือกจะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณคอ ขอบตา เป็นต้น มีขนตายาวงาม ขาสั้น ชอบกระโดด ส่วนใหญ่ลำตัวมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจตัวใหญ่ได้ถึง 1.5 เมตร ความกว้างของปีกเมื่อกางออกอาจมีความยาว 2 เมตร บินได้แข็งแรง เวลาบินเสียงจะดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ ซึ่งเสียงดังนี้เกิดจากอากาศที่ผ่านช่องว่างระหว่างโคนขนปีก เนื่องจากนกเงือกไม่มีขนคลุมด้านใต้ของปีก เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งจึงเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำ และหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูงจะทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ

            ด้วยความที่จะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้นทำให้นกเงือกถูกนำไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ อีกด้วย


สายพันธุ์ของนกเงือกในประเทศไทย



ภาพจาก : THAILAND HORNBILL PROJECT

            ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่

            - นกกก (Great Hornbill)
            - นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill)
            - นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
            - นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
            - นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
            - นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
            - นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
            - นกเงือกปากดำ (Bushy-crested Hornbill)
            - นกเงือกดำ (Black Hornbill)
            - นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
            - นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
            - นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
            - นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

วิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกเงือก


            นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกชนิดอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกเงือกจะพากันหารังตามโพรงไม้บนต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรงจะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ โคลน หรือมูล หลังจากนั้นตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่ และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่และลูกนกที่เกิดมา เมื่อลูกนกโตพอแล้วจึงเจาะโพรงออกมา

          ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้น ถ้าหากนกเงือกตัวผู้ตายในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่-ลูกที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียที่ผลัดขนจะไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อย ๆ อดอาหารตายอย่างช้า ๆ ทั้งแม่และลูก ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่ตามธรรมชาตินกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี
 

บทบาทและความสำคัญของนกเงือกในระบบนิเวศป่า


            นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่า ด้วยการเป็นตัวช่วยกระจายพรรณไม้ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่าง ๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพรรณไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก

           เพราะความสำคัญนี้เอง นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่าง ๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพรรณไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากสมมติว่าไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ 1 ชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้นเลยทีเดียว


ภาพจาก : Preeda Hornbill

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก


            เนื่องจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโครงการศึกษาชีววิทยาของนกเงือก ซึ่งมีหลากหลายโครงการ และได้ทำการศึกษานกเงือกไทยมามากกว่า 20 ปี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการ พบว่าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เผ่าพันธุ์ของนกเงือกได้ถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการถูกล่า หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนลงของผืนป่า ทำให้พวกมันไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้ จึงได้มีการประกาศให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักนกเงือกของประเทศไทย

            ในทุก ๆ ปี วันรักนกเงือก จะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนั้นเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ มีการรายงานสถานภาพของนกเงือกและงานวิจัยต่าง ๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นวันพบปะ พูดคุย สังสรรค์ของผู้ที่รักนกเงือกทุกคน ซึ่งเป็นมิตรภาพที่เชื่อมต่อกันมาเหนียวแน่นและยาวนาน

            อนึ่ง นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ทั้งนี้ ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราได้หันมาตระหนักถึงส่วนเล็ก ๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติ

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECT, Preeda Hornbill
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มหาวิทยาลัยมหิดล, เฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECT, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย, osotho.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:00:13 56,581 อ่าน
TOP