นักวิทย์ออสซี่คว้ารางวัลอิกโนเบล สาขาเคมี จากการทำไข่ต้มให้กลับคืนเป็นไข่ดิบ


ศาสตราจารย์โคลิน ราสตัน
        
        นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย คว้ารางวัลอิกโนเบล สาขาเคมี จากผลงานประดิษฐ์เครื่องทำไข่ต้มให้กลับคืนเป็นไข่ดิบได้เหมือนเดิมอย่างน่าอัศจรรย์

        วันที่ 18 กันยายน 2558 เว็บไซต์เดลี่เมล เปิดเผยผลงานทางวิทยาศาสตร์ชวนทึ่ง ที่เห็นแล้วถึงกับต้องร้องออกมาว่า คิดได้ยังไงกัน เมื่อศาสตราจารย์โคลิน ราสตัน (Colin Raston) นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมี จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในนครแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ประดิษฐ์เครื่องคืนสภาพไข่ด้วยกระแสไหลวน โดยกระบวนการทำงานคือ คลายสภาพของโปรตีนในไข่ขาวที่สุกแล้ว ให้กลับไปสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ เมื่อใส่ไข่ต้มเข้าไปก็จะได้ไข่ดิบออกมานั่นเอง..ยูเรก้า !

        สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เจ๋งจนได้รับรางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยเพี้ยน ๆ ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการชุดรางวัลโนเบล ท่ามกลางผู้เข้าชมกว่า 1,100 คน

        ทั้งนี้ยังมีการนำเจ้าสิ่งประดิษฐ์นี้ไปต่อยอดเพื่อลดต้นทุนในอุตสาหกรรมยา เนื่องจากนักวิจัยค้นพบว่าโปรตีนในไข่ขาวถูกใช้อย่างแพร่หลายในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็ง แต่หลังจากไข่ขาวถูกต้มจากการทดลองแล้วก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ เพราะเมื่อมันสุกโปรตีนได้แปรสภาพไปแล้ว แต่เมื่อใช้เครื่องนี้ก็จะสามารถคืนสภาพไข่ให้กลับเป็นเหมือนเดิม และนำมาใช้ทดลองได้ใหม่อีกครั้ง..สุดยอดไปเลย

         สำหรับรางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel) นั้น เป็นรางวัลล้อเลียนรางวัลโนเบล มอบกันต่อเนื่องทุกปีในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม มีจุดประสงค์เพื่อประกาศความสุดยอดของนักวิทยาศาสตร์หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทดลอง การค้นพบสิ่งต่าง ๆ ที่แปลก ไม่มีสาระ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม มีประโยชน์อะไรในวงการวิทยาศาสตร์ เป็นผลงานที่ทำให้ผู้คนขำก๊ากกันเมื่อได้ยินในตอนแรก ก่อนจะเกิดการคิดตามในเวลาต่อมา



ภาพจาก Flinders University

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิทย์ออสซี่คว้ารางวัลอิกโนเบล สาขาเคมี จากการทำไข่ต้มให้กลับคืนเป็นไข่ดิบ อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2558 เวลา 14:38:35 192,417 อ่าน
TOP
x close