สรุปประเด็น 12 ข่าวเด่น ประจำปี 2558




12 ข่าวเด่นแห่งปี 2558

          เวลาล่วงเลยเข้าสู่ช่วงปลายปี 2558 ซึ่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมาก็ได้มีประเด็นข่าวเด่นอยู่หลายเรื่องราวด้วยกัน ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม แต่จะมีเรื่องเด่น ประเด็นดัง ตลอดจนปมร้อนใดบ้างที่ถือเป็นที่สุดในรอบปี 2558 มาย้อนดู 12 ข่าวเด่นแห่งปี 2558 ที่เราได้รวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้กันเลย


1. ระเบิดสนั่นกรุง กลางแยกราชประสงค์
 
          เป็นเหตุที่สร้างความหวาดผวาไปทั่วประเทศในชั่วข้ามคืน สำหรับเหตุระเบิดกลางกรุง บริเวณศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและต่างชาติรวมกว่า 20 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพยานและกล้องวงจรปิดสามารถยืนยันได้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นชายสวมเสื้อสีเหลือง และในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ของคดีระเบิดราชประสงค์ ในช่วงบ่ายวันที่ 18 สิงหาคม ก็ได้เกิดเหตุระเบิดอีกครั้งบริเวณท่าเรือสาทร ซึ่งจากการสอบสวนพบคนร้ายเป็นชายสวมเสื้อสีฟ้า

ระเบิดราชประสงค์
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

          หลังจากติดตามเบาะแสคดีมานานถึง 12 วัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับทหารก็ได้นำกำลังเข้าปิดล้อมพูลอนันต์ อพาร์ทเม้นท์ ย่านหนองจอก โดยจากการตรวจค้นห้องพักหมายเลข 412 และ 414 พบผู้ต้องหารายที่ 1 คือ นายบิลาล มูฮัมมัด ซึ่งในครั้งแรกอ้างว่าชื่อ นายอาเดม คาราดัก แต่สารภาพชื่อจริงในภายหลัง จากการตรวจค้นพบของกลางจำนวนมาก รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ ขณะที่ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าที่ ไมมูณา การ์เด้นโฮม เขตมีนบุรี ยังมีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาอาศัยอยู่ในห้อง 9106 จึงทำการปิดล้อมตรวจค้นพบหลักฐานเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบระเบิด และพบดินเทาซึ่งถือเป็นยุทธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางทั้งหมด และจับกุมนายบิลาล (อาเดม) มาดำเนินคดี 

          ในการสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องกับพูลอนันต์ อพาร์ทเม้นท์ ทำให้ทราบว่า นอกจากนายบิลาล (อาเดม) แล้วยังมีกลุ่มคนร้ายที่เกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิด เป็นผู้เริ่มเข้ามาพักอาศัยในห้อง 412 และ 414 รวม 4 คน ขณะที่ต่อมาทราบว่ามีคนร้ายอีกคนหนึ่งยังหลบหนีอยู่ในประเทศ จึงสามารถติดตามจับกุมตัวได้ที่ จ.สระแก้ว คือ นายเมียไรลี ยูซูฟู ซึ่งจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พบรอยลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนปรากฏอยู่บนอุปกรณ์ที่ใช้ทำระเบิด

อาเดม คาราดัก

          จากการสอบสวน นายเมียไรลี ยูซูฟู ได้ซัดทอดไปยังคนร้ายอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ทำวีซ่าและจัดหาที่พักให้ ทั้งยังเป็นผู้ว่าจ้างให้ขับรถรับชายเสื้อสีฟ้าจากหน้ารามคำแหงไปส่งที่หน้าแม็คโคร ก่อนจะหลบหนีออกไปทางภาคใต้ นอกจากนี้ยังให้การว่า ผู้ที่ติดต่อนายบิลาล (อาเดม) ให้ช่วยเหลือ จัดหาวัตถุระเบิด เครื่องมือเครื่องใช้ คือนายอาบูดูซาตาร์ อบูดูเระห์มาน หรือ อิซาน และยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยคือ นายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือ นายยงยุทธ พบแก้ว

          ทั้งนี้จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พนักงานสอบสวนยืนยันระบุว่า กลุ่มผู้กระทำผิดชุดที่เข้ามาดำเนินการปฏิบัติการ ประกอบด้วย นายอิซาน, นายอับดุลเลาะห์มาน, นายซูแบร์ หรือชายเสื้อฟ้า, นายเมียไรลี ยูซูฟู และนายบิลาล มูฮัมมัด (อาเดม) ส่วนบุคคลอื่น ๆ เป็นผู้สนับสนุน ผู้ร่วมในการกระทำความผิด จากนั้นพนักงานจึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดออกหมายจับ เนื่องจากคดีวัตถุระเบิดนั้นอยู่ในอำนาจศาลทหารตามคำสั่ง คสช.

          สำหรับพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า นายบิลาล (อาเดม) เป็นคนเดียวกับชายเสื้อเหลือง สามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานการสอบพยานบุคคล การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ และการตรวจสอบเทคนิคพิเศษตรวจอุปกรณ์พิเศษ จนกระทั่งผู้ต้องหาจำนนต่อหลักฐาน จึงได้รับสารภาพและนำชี้สถานที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้องชัดเจน ส่วนนายเมียไรลี ยูซูฟู ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพชัดเจน และชี้สถานที่ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม นายซูแบร์ ชายเสื้อฟ้า ได้ทำการหลบหนีออกนอกประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ต้องหาคดีระเบิดราชประสงค์

          ส่วนมูลเหตุของคดีระเบิดกลางกรุงนี้ พล.ต.ต. ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 แถลงว่า มาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำลายขบวนการและเครือข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งจากการสืบสวนเชื่อมั่นว่ามีกลุ่มบุคคลอยู่เบื้องหลังในการจ้างวาน โดยบุคคลหลายกลุ่มมีวัตถุประสงค์และความต้องการเดียวกัน อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถตัดประเด็นที่อาจจะมาจากการเมืองได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบว่า นายอ๊อด พยุงวงศ์ ชายไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการระเบิด ได้เคยถูกออกหมายจับและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วางระเบิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมาก่อน

          ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายเมียไรลี ยูซูฟู และนายบิลาล มูฮัมมัด (อาเดม) ฝากขังอยู่ในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี จนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน อัยการศาลทหาร ได้สั่งฟ้อง นายอาเดม เป็นจำเลยที่ 1 และนายเมียไรลี เป็นจำเลยที่ 2 ทั้งหมด 10 ข้อหา ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดติดตามคดียังคงติดตามเบาะแสของ 15 ผู้ต้องหาตามหมายจับที่เหลือ จากหมายจับในคดีระเบิดราชประสงค์ทั้งสิ้น 17 หมายจับ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติม


2. คดีความผิดทางอาญา มาตรา 112

          ถือเป็นคดีใหญ่ที่มีความสำคัญระดับชาติ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ จับกุมตัว นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง หมอดูชื่อดัง ตลอดจน นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรือ อาท เลขาฯ คนสนิท และ พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือ สารวัตรเอี๊ยด สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในความผิดร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพบว่ามีพฤติกรรมแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง เพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัว ก่อนจะนำมาซึ่งการออกหมายจับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายราย

คดีความผิดทางอาญา มาตรา 112

          โดยจุดเริ่มต้นของคดีนี้ เริ่มจากวันที่ 21 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจได้ควบคุมตัว หมอหยอง นายอาท และสารวัตรเอี๊ยด มาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังผลัดแรก ก่อนนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 หลัง พล.ต. วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่าย กฎหมาย คสช. แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตาม ป.อาญา มาตรา 112

          หลังจากมีการจับกุมตัวผู้ต้องหาชุดแรกได้ไม่นาน ก็มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ต. ปรากรม  หรือ สารวัตรเอี๊ยด ฆ่าตัวตายในสถานที่คุมขังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มทบ.11 เมื่อช่วงดึกวันที่ 23 ตุลาคม โดยใช้ผ้าจากเสื้อผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขัง ก่อนญาติของ พ.ต.ต. ปรากรม จะเข้ามาขอรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา และได้นำศพของ พ.ต.ต. ปรากรม ไปฌาปนกิจที่วัดแห่งหนึ่งย่านสนามบินน้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยมีเพียงญาติสนิท 10 คนที่มาร่วมงาน

          จากนั้นก็ได้เกิดประเด็นฮือฮาอีกครั้ง เมื่อในวันที่ 27 ตุลาคม ได้มีคำสั่งด่วนจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ย้ายด่วน พล.ต.อ. ประวุฒิ ถาวรศิริ พ้นตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งยังมีรายงานข่าวว่า ตร.บก.ป. กำลังเตรียมเข้าค้นบ้าน พล.ต.อ. ประวุฒิ หลังมีกระแสเกี่ยวข้องกับความผิดคดี มาตรา 112 อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา พล.ต.อ. จักรทิพย์ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ชี้แจงว่าคำสั่งข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งตามรอบตามปกติเท่านั้น

          กระทั่งวันที่ 28 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสอบสวนคดี ก็ได้ออกมาเปิดผังขบวนแก๊งหมอหยอง อ้างเบื้องสูง ทุจริตเข็มกลัดงาน Bike for Mom-Bike for Dad โดยใช้วิธีสั่งให้ บริษัท แมค บารา จำกัด ตั้งราคาผลิตเข็มกลัดสูงเกินจริง ก่อนเสนอราคาไปยังภาคเอกชน คือ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ในงาน Bike for Mom และบริษัทในเครือเมืองไทยประกัน ในงาน Bike for Dad เพื่อนำส่วนต่างหาประโยชน์เข้าตัวเองเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท พร้อมระบุว่าได้ดำเนินการกับผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย รวมทั้งสิ้น 13 คดี

          นอกจากนี้ ยังพบว่า หมอหยอง ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดี ม.112 ได้ให้การพาดพิงถึงนายทหาร 2 นาย ยศ "พลตรี" และ "พันเอก" ว่ามีส่วนพัวพันเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏว่านายทหารยศ "พันเอก" ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ก่อนในวันที่ 7 พฤศจิกายน พล.ต. วิจารณ์ จดแตง ผอ.ส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายหน่วยเฉพาะกิจการข่าว คสช. จะร้องทุกข์กล่าวโทษ หมอหยอง และพวกเพิ่มเติมอีก 2 คดี โดยมีชื่อของ พ.อ. คชาชาต บุญดี หรือ เสธ.โจ้ อยู่ด้วย หลังพบมีพฤติการณ์แอบอ้างเบื้องสูง ในการขอสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ต่อบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

          หลังจากนั้นกรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยข่าว นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง เสียชีวิตที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งจากการชันสูตรสันนิษฐานว่าระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสเลือด

          ในเวลาต่อมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปลด พล.ต. พิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ และถอดออกจากยศทหาร เหตุประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แอบอ้างพระราชกระแสใช้อํานาจหน้าที่ในทางมิชอบ หาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง โดยพบว่า พล.ต. พิสิฐศักดิ์ เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายกิจการในพระองค์ ประชุมงานกิจกรรม Bike for Mom ร่วมกับหมอหยอง

          ขณะที่ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับ นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรือ อาท เลขาฯ คนสนิทของหมอหยอง และ พ.อ. คชาชาต บุญดี ทางกองทัพภาคที่ 3 จึงเสนอเรื่องให้ปลด พ.อ. คชาชาต ออกจากราชการและเสนอถอดยศ ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า พ.อ. คชาชาต บุญดี ได้หนีไปกบดานที่ชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านด้านแม่สอด-เมียวดี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

          จากนั้นยังได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีกหลายรายที่มีส่วนเชื่อมโยงในคดีดังกล่าว อาทิ พล.ต. สุชาติ พรมใหม่ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายทหารคนสนิท พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, พ.ต.อ. ไพโรจน์ โรจนขจร อดีตผู้กำกับ 2 กองบังคับการป้องกันและปราบปราม (บก.ป.), พ.ต.ท. ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา อดีตรองผู้กำกับ 2 บก.ป. ซึ่งต่อมาโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานคาดว่าผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจทั้ง 3 นาย ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขณะที่ พ.ต.ท. ธนบัตร ประเสริฐวิทย์ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (รอง ผกก.1 บก.ปคม.) ก็ถูกออกหมายจับเช่นกัน ทั้งนี้ชุดคลี่คลายคดีก็ยังคงสอบสวนขยายผลในคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีกลับมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด


3. คู่รักสหรัฐฯ วอนช่วย น้องคาร์เมน กลับบ้าน

          คดีความที่เกี่ยวข้องกับ "การอุ้มบุญ" ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่สังคมไทยและทั่วโลกให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่คู่ชายรักชายจากสหรัฐอเมริกาคู่หนึ่งตัดสินใจมีลูกคนที่ 2 ด้วยวิธีการอุ้มบุญ โดยได้ว่าจ้างแม่อุ้มบุญชาวไทยผ่านบริษัทตัวแทน ให้ตั้งครรภ์ "น้องคาร์เมน" ลูกสาวซึ่งถือกำเนิดจากการผสมเทียมโดยใช้สเปิร์มของคุณพ่อ และไข่ของผู้บริจาคชาวไทย ซึ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนจะราบรื่นดีในทีแรก เมื่อแม่อุ้มบุญก็ได้ตกลงเซ็นสัญญาตั้งครรภ์แบบอุ้มบุญเพื่อจะได้รับค่าตอบแทน และได้รับค่าตอบแทนไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังยอมให้ทั้งคู่พาคาร์เมนออกไปจากโรงพยาบาลด้วยความเต็มใจ

          อย่างไรก็ตามปัญหาก็ได้เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายแม่อุ้มบุญเปลี่ยนใจ ไม่ยอมไปตามนัดหมายที่สถานทูตอเมริกาเพื่อเซ็นเอกสารยินยอมให้พวกเขาได้สิทธิดูแลคาร์เมนต่อไป เพราะต้องการที่จะเก็บคาร์เมนไว้เอง โดยอ้างว่าในสายตาของเธอพวกเขาไม่ใช่ครอบครัวปกติ และสงสัยว่าคนกลุ่มนี้อาจเป็นขบวนการค้ามนุษย์ นั่นทำให้พวกเขาต้องติดอยู่ที่เมืองไทยมาเป็นเวลากว่าครึ่งปี เพราะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศพร้อมคาร์เมนได้

แม่อุ้มบุญ น้องคาร์เมน

          ไม่เพียงแต่คุณแม่อุ้มบุญจะไม่ให้ความร่วมมือกับพวกเขาเท่านั้น แต่กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญของไทยเอง ก็ไม่รับรองการตั้งครรภ์แทนอย่างกรณีนี้ด้วย ทำให้คู่รักชายหนุ่มจากสหรัฐฯ ออกมาจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อพาคาร์เมนกลับประเทศ ผ่านเว็บไซต์ change.org และเฟซบุ๊ก Bringcarmenhome ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับน้องคาร์เมนและปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาเงินสนับสนุนสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ที่ไทยระหว่างสู้คดี พร้อมวอนขอความเห็นใจคุณแม่อุ้มบุญ

          และแล้วคดีดังกล่าวก็เริ่มกลายมาเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจระดับนานาชาติ เมื่อสื่อต่างประเทศได้มีรายงานข่าวดังกล่าว ขณะที่ชาวเน็ตไทยยังมีความพยายามช่วยเหลือครอบครัวนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยกันลงชื่อในแคมเปญ การจับผิดฝ่ายแม่อุ้มบุญว่าอาจมีความตั้งใจที่จะไม่ยกเด็กให้ตั้งแต่แรก ตลอดจนมีหลายองค์กรที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครอบครัวคู่รักจากสหรัฐฯ


          แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ครอบครัวของน้องคาร์เมนจะพยายามขอความเห็นใจจากฝ่ายแม่บุญธรรม รวมถึงพยายามนัดหมายมาเจรจากันหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลเมื่อแม่อุ้มบุญไม่ยอมมาตามนัดสักครั้ง ทำให้ทางครอบครัวตัดสินใจที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย หลัง พ.ร.บ.อุ้มบุญฉบับใหม่ได้มีการประกาศใช้ โดยคุณพ่อของน้องคาร์เมน ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลพร้อมหลักฐานต่าง ๆ ของน้องคาร์เมน ซึ่งศาลนัดไต่สวนนัดแรกเดือนตุลาคม

           ในขณะที่คดีความยังไม่จบลงง่าย ๆ คุณนที ลูกชายของคุณชัยวัฒน์ สามีของแม่อุ้มบุญ ก็ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับฝ่ายแม่อุ้มบุญ โดยระบุว่า พ่อของตนไม่ทราบเรื่องอุ้มบุญของนางออย (นามสมมติ) และก็ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ พร้อมกับประกาศจะยุติความสัมพันธ์ ไม่ส่งเสียนางออย หากนางออยไม่ยอมคืนน้องคาร์เมนให้กับครอบครัว

น้องคาร์เมน
ภาพจาก Instagram twogaypapas

          ความคืบหน้าวันที่ 28 ตุลาคม นางออยได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของพ่อน้องคาร์เมน ทางพ่อน้องคาร์เมนเลยขอร้องให้คุณชัยวัฒน์ เดินทางไปศาลในวันที่ 30 ตุลาคม เพื่อยืนยันกับศาลว่าจะไม่ขอสนับสนุนภรรยาให้พรากน้องคาร์เมนไปจากครอบครัว จนในวันดังกล่าว คู่รักจากสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อยื่นเอกสารประกอบคำร้องเพิ่มเติมสำหรับการขอรับตัวน้องคาร์เมนกลับประเทศ ซึ่งศาลก็ได้รับคำร้องเอาไว้ และมีกำหนดสืบพยานในเดือนมีนาคม 2559 นอกจากนี้ยังให้นายกอร์ดอน อัลลัน เลค พ่อน้องคาร์เมน และนางออย แม่อุ้มบุญ พิสูจน์ดีเอ็นเอยืนยันความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับน้องคาร์เมน เพื่อประกอบการพิจารณาคดี

          ด้านทนายความของนายกอร์ดอน เผยว่า เบื้องต้นศาลพยายามให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกันในศาล แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะนางออยยื่นข้อเสนอว่าจะขอดูแลเด็กหญิงคาร์เมนเอง จนกว่าอายุจะถึง 10 ขวบ เพื่อรอให้เด็กหญิงคาร์เมนโตพอที่จะตัดสินใจเลือกครอบครัวได้เอง ซึ่งทางนี้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ศาลจึงนัดสืบพยานใหม่ในเดือนมีนาคม 2559


4. ปอ ทฤษฎี ป่วยไข้เลือดออก

          ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่คนในสังคมเฝ้าติดตามความคืบหน้า สำหรับกรณีพระเอกหนุ่ม ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ป่วยหนักเข้าขั้นวิกฤตจากโรคไข้เลือดออก หลังจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ได้มีกระแสข่าวรับบริจาคโลหิตด่วน เพื่อช่วยชีวิต ปอ ทฤษฎี ซึ่งได้ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลอื่นเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน และต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้อง CCU เนื่องจากหนุ่มปอมีปัญหาเรื่องการหายใจจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผลเลือดผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และหัวใจหยุดเต้นจนต้องปั๊มหัวใจหลายครั้ง

ปอ ทฤษฎี

          จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชน แฟนคลับ รวมถึงครอบครัวของ ปอ ทฤษฎี ต่างพยายามส่งกำลังใจไปให้พระเอกหนุ่ม โดยบ้างก็ตามไปให้กำลังใจหนุ่มปอถึงที่โรงพยาบาล และบ้างก็ช่วยกันสวดมนต์เพื่อขอให้ปอหายเป็นปกติโดยเร็วไว อย่างไรก็ตามอาการของหนุ่มปอยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต กระทั่งในที่สุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน โบว์ แวนด้า แฟนสาวนอกวงการของหนุ่มปอ ก็ตัดสินใจอุ้ม น้องมะลิ พาขวัญ สหวงษ์ วัย 2 ขวบ ลูกสาวแท้ ๆ ของ ปอ ทฤษฎี เข้ามาเยี่ยมคุณพ่อในห้อง ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน ขณะที่ อาน้ำอ้อย ผู้จัดการของหนุ่มปอ ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่า น้องมะลิ เป็นลูกของหนุ่มปอกับแฟนสาวจริง ๆ
 

          ในขณะที่การรักษาดำเนินต่อไป อาการของ ปอ ทฤษฎี ก็เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นตามลำดับ จนสามารถถอดเครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจออกได้ แต่ยังคงอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดในห้อง CCU อย่างไรก็ตามได้พบมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ คือ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะติดเชื้อและมีอาการขาดเลือดที่เท้าทั้ง 2 ข้าง กระทั่งวันที่ 20 พฤศจิกายน แพทย์จำต้องตัดขาซ้ายระดับเหนือข้อเท้าของพระเอกหนุ่ม เพื่อควบคุมการติดเชื้อรุนแรง ขณะที่ภายในร่างกายของปอไม่พบเชื้อไข้เลือดออกแล้ว และมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้น จนสามารถลืมตา ขยับคิ้ว พูดคุยได้ และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามพระเอกหนุ่มก็ยังคงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังดูอาการติดเชื้อที่ปอดด้านขวาต่อไปด้วย


5. วงการเพลงอาลัย สิงห์ Sqweez Animal ฆ่าตัวตาย

          ข่าวช็อกวงการบันเทิงที่สุดในรอบปี 2558 เห็นจะไม่มีข่าวใดที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการได้เท่ากับการจากไปอย่างกะทันหันของ สิงห์ สควีซ แอนิมอล (Sqweez Animal) หรือ สิงห์ มุสิกพงศ์ อีกแล้ว หลังในค่ำคืนวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สิงห์ Sqweez Animal ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองด้วยการกระโดดลงมาจากชั้น 9 คอนโดวอเตอร์ฟอร์ด ย่านทองหล่อ โดย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ผู้เป็นพ่อ เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนหน้านี้สังเกตเห็นว่าลูกชายพยายามหลบหน้าหลบตาไม่พูดด้วย ซึ่งเมื่อสอบถามลูกก็ยอมรับว่ามีปัญหาทะเลาะกับแฟนสาวอย่างรุนแรง

สิงห์ Sqweez Animal

          การจากไปของ สิงห์ Sqweez Animal ถือเป็นการสูญเสียนักดนตรี นักแต่งเพลง และบุคลากรด้านดนตรีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพในวงการอย่างแท้จริง ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่แฟนคลับรวมถึงแฟนสาว อย่าง เฟย์ พรปวีณ์ นีระสิงห์ นักร้องสาววง เฟย์ ฟาง แก้ว เป็นอย่างมาก

ฟาง FFK

          ทั้งนี้พิธีศพของ สิงห์ Sqweez Animal ถูกจัดขึ้นที่วัดธาตุทอง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ก่อนฌาปนกิจวันที่ 4 สิงหาคม โดยมีครอบครัว แฟนคลับ รวมถึงเพื่อนพ้องทั้งในและนอกวงการเดินทางมาร่วมพิธีท่ามกลางบรรยากาศแห่งความอาลัย จากนั้นจึงได้นำอัฐิและอังคารของสิงห์ ไปทำพิธีลอยอังคารกันที่ทะเลใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สิงห์ชื่นชอบ ส่วนนายวีระกานต์ พ่อของสิงห์ ก็ได้ตั้ง "มูลนิธิสิงห์ มุสิกพงศ์" เพื่อช่วยเหลือนักดนตรีส่งเสริมสถาบันดนตรี

 
6. ม็อบเดือด เผาโรงพักถลาง จ.ภูเก็ต

          กลายเป็นเหตุก่อจลาจลครั้งใหญ่ในพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อในค่ำคืนวันที่ 10 ตุลาคม 2558 กลุ่มชาวบ้านและครอบครัวของ นายปฐมวัฒน์ ปะณะรักษ์ อายุ 22 ปี และนายธีรพงษ์ ศรีสมุทร อายุ 17 ปี ได้มารวมตัวกันปิดล้อมโรงพักถลาง เพื่อทวงความเป็นธรรม จากกรณีที่วัยรุ่นทั้ง 2 ถูกรถตำรวจชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยญาติอ้างว่าทั้งคู่ขี่รถจักรยานยนต์ล้มก่อนถูกรถของตำรวจลากไปเป็นทางยาว ซึ่งเหตุจลาจลในครั้งนั้นรุนแรงมาก บานปลายจนมีการบุกทำลายสถานที่ราชการ จุดไฟเผารถตำรวจ จุดประทัด ขว้างปาข้าวของ จนต้องระดมกำลังทหารตลอดจนหน่วยคอมมานโดเข้ามาดูแลพื้นที่ และต่อมาทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ก็ได้มีคำสั่งย้ายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิต จำนวน 4 นายด้วยกัน

เผาโรงพักถลาง จ.ภูเก็ต

          จากเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว ได้กลายมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในวงกว้าง และเมื่อมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นำคลิปซึ่งบันทึกเหตุการณ์มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ระบุว่าเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ตำรวจไล่จับผู้ต้องสงสัยส่งยาบ้า และได้ใช้ปืนยิงจนวัยรุ่นทั้ง 2 ต้องขี่รถหนี ก่อนเกิดเหตุดังกล่าว ทั้งยังพบยาบ้าซุกอยู่ในกระเป๋าของทั้งคู่ ข้อมูลดังกล่าวนำมาซึ่งกระแสการถกเถียงอย่างหนักว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดของใครกันแน่ ระหว่างวัยรุ่นที่พยายามขี่รถหนีตำรวจเอง กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่บางส่วนถกเถียงในประเด็นของสาเหตุการเสียชีวิต ว่าเกิดจากวัยรุ่นเสียหลักล้มเอง หรือถูกตำรวจชน

          ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในต้นสายปลายเหตุของเรื่อง ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ได้เข้าเจรจากับทางตำรวจ ซึ่งเบื้องต้นตำรวจได้ยอมรับข้อเสนอของญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด และจะเร่งสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนที่ญาติตลอดจนกลุ่มชาวบ้านที่มาปิดล้อมโรงพักจะยอมถอนกำลังกลับไป อย่างไรก็ตามแม้ว่าเบื้องต้นบรรยากาศรอบโรงพักจะกลับสู่ความสงบแล้ว แต่กระแสร้อนในโลกออนไลน์ยังไม่สงบ นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่ออกมาเปิดเผยว่า พ่อของเธอต้องเสียชีวิตเพราะม็อบปิดโรงพัก เนื่องจากรถพยาบาลต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่นเพื่อไปโรงพยาบาลถลาง และจะขอเอาผิดกลุ่มม็อบให้ถึงที่สุดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เผาโรงพักถลาง จ.ภูเก็ต

          หลังจากนั้นทางตำรวจก็ได้เริ่มออกมาดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมโรงพัก สภ.ถลาง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ รวมไปถึงมาตรา 44 โดยจะดำเนินการเฉพาะผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น คือกลุ่มผู้ที่ทำลายทรัพย์สินราชการภายใน สภ.ถลาง ตลอดจนกลุ่มแกนนำที่ยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์ จนในเวลาต่อมาได้มีกระแสข่าวว่า แกนนำผู้ชุมนุมได้เตรียมระดมคนมาปิดล้อมโรงพักอีกครั้ง เพื่อกดดันไม่ให้มีการจับตัวแกนนำ แต่ทางตำรวจทราบข่าวก่อนจึงนำกำลังดูแลพื้นที่อย่างรัดกุม จึงไม่เกิดการปิดล้อมซ้ำ

          ทั้งนี้ภายหลังจากที่การสอบสวนต้นเหตุของปมปิดล้อมโรงพัก สภ.ถลาง สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ 2 วัยรุ่นได้ว่า เกิดจากอุบัติเหตุ โดยเกิดขึ้นเนื่องจากวัยรุ่นทั้ง 2 พยายามขี่รถหนี และกะโหลกศีรษะกระแทกพื้นอย่างรุนแรงจากการไม่สวมหมวกกันน็อก สำหรับส่วนของการออกหมายจับกลุ่มผู้ชุมนุม ทางตำรวจได้ออกหมายจับรวม 88 ราย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เข้ามามอบตัวกันเอง เพราะส่วนมากเป็นเยาวชนทางตำรวจจึงไม่อยากใช้ความรุนแรงในการจับกุม และได้ย้ายนายตำรวจทั้ง 4 กลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม


7. เสี่ยอู๊ด เซียนพระดัง ฆ่าตัวตาย

          เกิดเป็นข่าวที่สร้างความตกใจให้คนในสังคมไม่ใช่น้อย เมื่อมีรายงานเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบศพของ นายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ด ในสภาพนอนคว่ำหน้าบนเตียง ภายในห้องพักหมายเลข 209 โรงแรมแห่งหนึ่ง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก และพบจดหมายลาตายที่ผู้ตายเขียนขึ้นในเชิงตัดพ้อว่าเคยช่วยผู้อื่นไว้มากมาย แต่สุดท้ายกลับได้รับผลตอบแทนที่ทำให้เสื่อมเสีย ไม่มีความดี และความจริงจากผู้ที่เคยช่วยเหลือไป พร้อมสั่งเสียให้น้องชายรับหน้าที่จัดงานศพโดยไม่ต้องทำพิธีใด ๆ โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และน่าจะเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 วัน

เสี่ยอู๊ด เสียชีวิต

          จากการสอบสวน พบว่าก่อนเสียชีวิต เสี่ยอู๊ด ได้ส่งข้อความไลน์ถึงเพื่อนสนิทในลักษณะลาตาย พร้อมร่ายยาวสาเหตุของการเสียชีวิตจำนวน 11 ข้อ โดยพูดถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่เคยบริจาคเงินกว่าร้อยล้านบาทให้กับมูลนิธิและโรงพยาบาลบางแห่ง จนได้รับการยกย่อง แต่เมื่อติดคุกจากกรณีจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวกว่าล้านองค์ กลับโดนรังเกียจ ถูกมองเป็นคนชั่ว ทำดีไม่ได้ดี นอกจากนี้ยังเคยให้ทุนแก่เด็กนักเรียนมากมาย แต่เมื่อติดคุกกลับถูกรังเกียจ ไม่มีใครกล้าบอกว่าได้ทุนจากนักโทษ แม้แต่ดาราที่ตนเคยช่วยทั้งครอบครัวก็บอกกับสื่อว่าตัวเองนำชื่อไปแอบอ้างว่ารู้จักกัน ทั้งยังบอกให้ทุกคนระวังตัวไว้ด้วย

เสี่ยอู๊ด เสียชีวิต
          แม้จะมีการสั่งเสียไม่ให้มีการนำศพไปทำพิธีใด ๆ แต่ที่สุดแล้วทางครอบครัวของ เสี่ยอู๊ด ก็ตัดสินใจขอขัดคำสั่ง เดินทางมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ที่วัดสุวรรณรังสรรค์  จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิด เมื่อทางญาติและผู้นำชุมชนในพื้นที่ได้ปรึกษากันแล้วว่า คงต้องขอทำพิธีสวดอภิธรรมศพเป็นเวลา 7 วัน เพื่อแสดงความรักและอาลัยให้กับเสี่ยอู๊ดซึ่งช่วยเหลือท้องถิ่นมาโดยตลอด เคยบริจาคเงินเพื่อการศาสนา การศึกษา และให้กับวัด มาอย่างมากมาย ซึ่งก็มีชาวบ้านและญาติมาร่วมพิธีด้วยความอาลัยเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไร้เงาของนักร้องหนุ่ม ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ที่ เสี่ยอู๊ด ระบุว่าเคยให้ความช่วยเหลือไว้ในวันที่ครอบครัวของ ฟิล์ม ล้มละลาย


8. สูญเสียวีรบุรุษทัพฟ้า ในเหตุเครื่องบิน F16 ตก

          กองทัพอากาศมีอันต้องสูญเสียผู้กล้า ซึ่งถูกยกให้เป็น "วีรบุรุษทัพฟ้า" ไปอย่างไม่มีวันกลับ จากเหตุเครื่องบิน F16 ของฝูงบิน 103 กองบิน 1 จ.นครราชสีมา ตกที่ ต.ม่วงค่อม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ระหว่างการฝึกบินการใช้อาวุธทางอากาศ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นผลให้นักบินคือ เรืออากาศเอก นพนนท์ นิวาศานนท์  หรือ ผู้กองเอฟ เสียชีวิตอยู่ภายในตัวเครื่อง นำมาซึ่งความอาลัยเป็นอย่างยิ่งทั้งจากผู้คนในสังคมออนไลน์ ตลอดจนเพื่อนพ้องนักบิน ก่อนที่กองทัพอากาศจะปูนบำเหน็จ ให้จำนวน 7 ขั้นตามระเบียบ เพราะถือว่าเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยได้เลื่อนยศ เป็น นาวาอากาศเอก พร้อมเงินสวัสดิการช่วยเหลือประมาณ 2.4 ล้านบาท

สูญเสียวีรบุรุษทัพฟ้า ในเหตุเครื่องบิน F16 ตก
ภาพจาก 13Maysa.com

          ขณะที่ต่อมา ทางผู้บังคับบัญชาพร้อมด้วยประชาชนทั้งหลาย ต่างก็พร้อมใจกันแสดงความชื่นชม พร้อมกับยกตำแหน่งวีรบุรุษให้ ผู้กองเอฟ เมื่อเป็นที่ปรากฏว่า ผู้กองเอฟ ได้สละชีวิตยอมตายไปพร้อมกับเครื่อง ไม่ดีดตัวออกในช่วงเวลาคับขัน เพื่อใช้ความพยายามวินาทีสุดท้ายบังคับเครื่อง ไม่ให้ตกใส่ชุมชนและบ้านเรือนประชาชนที่ห่างไปแค่ 300 เมตร ลงสู่ไร่มันสำปะหลัง ทำให้ไม่มีการสูญเสียเพิ่ม

เครื่องบิน F-16 ตกที่ลพบุรี

          ทั้งนี้ทางกองทัพอากาศได้จัดทหารกองเกียรติยศรับศพอย่างยิ่งใหญ่ ที่ท่าอากาศยานทหาร บน.6 (2) ดอนเมือง ก่อนนำร่างของ ผู้กองเอฟ มาตั้งบำเพ็ญกุศล ที่ศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุฯ เป็นเวลา 7 วัน มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ก่อนมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 1 มีนาคม


9. ปมร้อนอุทยานราชภักดิ์

          นับเป็นปมร้อนที่สังคมกำลังจับตาในขณะนี้ สำหรับประเด็นการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการในหลายส่วนที่ส่อเค้าไม่โปร่งใส อาทิ การหักเงินค่าหัวคิวจากโรงหล่อที่รับงานหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ รายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างที่ยังไม่ชัดเจน ค่าต้นปาล์มแพงเกินจริง ค่าโต๊ะจีน และประเด็นที่มีผู้สงสัยว่ามีการนำเงินงบประมาณหลวงมาใช้ในโครงการด้วยหรือไม่ อีกทั้งยังมีรายงานว่า นายทหาร ยศ พล.ต. และ พ.อ. ซึ่งพัวพันกับคดีความผิดในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจส่อทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ด้วย

          จากความน่าสงสัยหลาย ๆ ประการได้นำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่ง พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ก็ได้ออกมายืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีเจตนาบริสุทธิ์ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงยอดเข้า-ออกของบัญชีบริจาค ทั้งนี้ยอมรับว่ามีเซียนพระรายหนึ่งเรียกเก็บหัวคิวจากโรงหล่อจริง แต่เงินจำนวนดังกล่าวได้นำกลับมาบริจาคให้กองทัพแล้ว


          จากนั้นกองทัพบกได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยขีดกรอบการทำงานภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะออกมายืนยันว่าไม่พบทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ มีหลักฐานแสดงต่อสาธารณะได้ บัญชีการบริจาคปัจจุบันเหลือเงินอยู่ 33 ล้านบาท ไม่รวมเงินที่อยู่ในมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์อีก 120 ล้านบาท ยอดก่อสร้างทั้งหมดอยู่ที่ราวพันล้านบาท ส่วนกระแสข่าวพบการเรียกค่าหัวคิวจากโรงหล่อ ให้ไปถาม พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร กันเอง ย้ำว่ากองทัพไม่ได้ทำอะไรผิด

          อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะยังไม่พอใจในผลการตรวจสอบดังกล่าว มองว่าผลสอบจากกองทัพยังไม่มีความชัดเจน และขอให้รัฐบาลชี้แจงว่าเงินส่วนต่างที่บริจาคไปแล้วนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร แจงขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหมด กระทั่งต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่ามีการเบิกงบกลางกองทัพจำนวน 63.57 ล้านบาท มาใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นอกเหนือเงินบริจาค สั่งจ่ายโดยแผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก แต่ยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบเงินบริจาคได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ข้อมูลตรงกันว่า มีการใช้งบหลวงกว่า 60 ล้านบาทในการสร้างจริง แต่น่าจะใช้ไปกับการปรับพื้นที่กองทัพก่อนส่งมอบให้สร้างอุทยาน


          ในเวลาต่อมาได้มีคนหลายกลุ่มที่พยายามนำมวลชนลงพื้นที่อุทยานราชภักดิ์เพื่อตรวจสอบ อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายจตุพร พรหมพันธ์ุ ประธาน นปช. และ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไว้ได้ก่อนเดินทางไปถึง

          จากกระแสความเคลือบแคลงในความโปร่งใสของโครงการอุทยานราชภักดิ์ นำมาซึ่งกระแสกดดันให้ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็ยืนกรานจะไม่ลาออกอย่างแน่นอน และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของโครงการที่ตนตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน และถือเป็นโครงการสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณอายุ

          ต่อมาในที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับจากสำนักการข่าวพบความผิดปกติในบางประเด็น เช่น ข้อมูลการเบิกจ่ายงบการจัดซื้อต้นไม้และการตกแต่งสวนที่อยู่ในราคาแพงเกินจริง ขณะที่มีรายงานจาก ผอ.สวนนงนุช ที่ยืนยันว่าตนเป็นผู้บริจาคต้นไม้จัดสวนอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด

ผ.อ.สวนนงนุชยัน ตนเป็นผู้บริจาคต้นไม้จัดสวนอุทยานราชภักดิ์
 
          ต่อมา ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ต่อข้อมูลแผนผังเปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ นำไปสู่การจับกุม นายฐนกร ศิริไพบูลย์ อายุ 27 ปี ผู้ส่งข้อความแผนผังภาพซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ ไปยังเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง จากนั้นได้ออกหมายจับคนร่วมขบวนการเพิ่มเติมคือ นายธเนตร อนันตวงษ์ อายุ 25 ปี ในข้อหาเดียวกัน

          ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา เพื่อให้ข้อมูลและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ โดยมี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมรับฟังการให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย ซึ่งต่อมา พล.อ. ไพบูลย์ ได้ยอมรับในที่สุด ว่ามีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์จริง ซึ่งหากพบว่าใครทำผิด จะเตรียมดำเนินการทันทีโดยไม่มีข้อยกเว้น


10. กิจกรรมมหามงคล Bike for Mom/Bike for Dad

          นับเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพสกนิกรจากทั่วประเทศ ได้พร้อมใจกันเข้าร่วมกิจกรรม "Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่" เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 และ "Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2558

bike for mom ปั่นเพื่อแม่
ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

          โดยกิจกรรม Bike For Mom และ Bike for Dad มีขึ้น ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย และเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา


          และในโอกาสนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงจักรยานนำทีม ข้าราชการ เอกชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมตลอดเส้นทางมงคล เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพสกนิกร ที่เตรียมตัวเข้าเฝ้าฯ พระองค์ในวันกิจกรรมด้วย

          ทั้งนี้ยังเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อกิจกรรม Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ สามารถทำลายสถิติโลก กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ด้วยการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานร่วมกันถึง 146,266 คัน ชนะแชมป์เก่าไต้หวัน ที่เคยได้รับการบันทึกกว่า 7 หมื่นคัน


11. รปภ. ถูกหวย 30 ล้าน

          เป็นเรื่องสามี-ภรรยาทะเลาะกันสนั่นเมืองอีกคู่หนึ่ง หลังจากที่ นางเสาวนีย์ อายุ 28 ปี ชาวอุดรธานี ได้ร้องทุกข์ต่อศาลว่าถูกสามีคือ นายธรรมรงค์ หรือยงยุทธ แก้วสวนจิก อายุ 37 ปี ชิ่งหนีไปหลังถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เมื่องวดวันที่ 16 กันยายน 2558 เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ทอดทิ้งตัวเองและลูกวัย 8 เดือนให้เผชิญความทุกข์ยากเพียงลำพัง โดยอ้างว่าหลังจากสามีไปรับเงินที่กองสลากแล้วก็แบ่งเงินให้ตนเอง 5 แสนบาท ให้แม่ยาย 5 แสนบาท และลูกอีก 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1.2 ล้านบาท นับจากนั้นสามีก็มีท่าทีเปลี่ยนไป ไม่มาหาลูก ไม่รับโทรศัพท์ กระทั่งส่งข้อความมาบอกเลิกกับเธอ ทั้งที่แต่ก่อนยอมลำบากทำมาหากินด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องการขอความเป็นธรรม ด้วยการแบ่งเงินรางวัลที่ได้มาครึ่งหนึ่ง


          อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา นายธรรมรงค์ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องที่ตัวเองทิ้งลูก เผยว่าตนได้สร้างบ้านให้ลูกกับภรรยาอยู่ด้วย บนที่ดิน 30 ไร่ที่เพิ่งซื้อมา แต่กลายเป็นว่าในตอนที่ไปเยี่ยมภรรยากลับทะเลาะกัน ถูกบอกมาว่าไม่ให้กลับมาบ้านอีก จึงส่งข้อความขอแยกกันอยู่สักพัก ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยลืมตัว และอยากให้สังคมฟังความทั้ง 2 ข้าง ก่อนจะต่อว่าตน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะขอเก็บเงินไว้เอง เพราะภรรยาใช้เงินเก่ง

          จากนั้นต่อมา นายธรรมรงค์ได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากถูกหวย 30 ล้าน เขาก็พาลูกและภรรยามาอยู่บ้านที่ จ.อุดรธานี แต่ได้ทะเลาะกับญาติฝ่ายภรรยาที่อยากให้จดทะเบียนสมรส เมื่อไม่จดก็ไล่ตนออกมา จึงย้ายมาอยู่กับญาติ ๆ สำหรับบ้านที่ปลูกใหม่ซึ่งตอนแรกว่าจะพาลูกกับภรรยามาอยู่ด้วย แต่เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินใจใหม่ อยากรับลูกมาอยู่ด้วยเท่านั้น และยืนยันว่าจะไม่แบ่งเงินให้ ขณะที่หลายฝ่ายมองอยากให้ทั้งคู่หันหน้าเข้าเจรจากัน


          จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ยังคงยืนกรานในความตั้งใจเดิม พร้อมมีการออกมาเผยข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของฝ่ายตนอยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดนายธรรมรงค์ ก็ได้เปิดใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตนและภรรยาคงยากที่จะเยียวยาแล้ว รู้สึกเบื่อหน่ายอำนาจเงินจนอยากที่จะบวชเพื่อให้จิตใจสงบ และคงจะไม่กลับไปคืนดีกับภรรยาแล้ว แม้จะยังรักทุกลมหายใจ

          กระทั่งในที่สุด ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมทนายก็ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี หลังจากที่ฝ่ายหญิงเรียกค่าเลี้ยงดู 10 ล้านบาท จนสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่า ฝ่ายชายจะจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 7,000 บาท และส่งเสียค่าเล่าเรียนบุตรไปจนถึงระดับการศึกษาปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังให้เงินภรรยาเพิ่มอีก 9 แสนบาท นอกจากนี้ยังจะซื้อรถกระบะ 4 ประตู ราคาร่วม 1 ล้านบาทอีก 1 คัน ซึ่งในตอนแรกยังตกลงกันไม่ได้ แต่ฝ่ายหญิงก็ยอม เพราะไม่อยากยืดเยื้ออีกต่อไป โดยจากนี้ฝ่ายภรรยาคงจะเปิดร้านอาหารต่อไป โดยอนุญาตให้อดีตสามีมาเยี่ยมลูกได้ แต่คงไม่กลับไปใช้ชีวิตคู่กันอีกแล้ว


12. ปมขัดแย้งระดับชาติ กลุ่มผู้อพยพอุยกูร์ 

          เกิดเป็นปมร้อนที่หวิดจะลุกลามเป็นปัญหาระดับประเทศในช่วงกลางปี 2558 สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้อพยพชาวอุยกูร์ จากเขตปกครองพิเศษซินเจียง-อุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน  ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยสามารถจับกลุ่มผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเมื่อเดือนมีนาคม 2557 พบในกลุ่มนี้เป็นชาวอุยกูร์ถึง 109 คน รัฐบาลไทยจึงดำเนินการส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม 2558 ท่ามกลางความกังวลของหลายภาคส่วนว่าปัญหาชาวอุยกูร์อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ปมขัดแย้งระดับชาติ กลุ่มผู้อพยพอุยกูร์

          และสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลก็เริ่มส่อเค้า เมื่อสหภาพยุโรปและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ได้ออกแถลงการณ์ประณามไทยที่ส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับจีน ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลหลายข้อ กระทั่งวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ก็ได้ถูกกลุ่มผู้ประท้วงชาวอุยกูร์ในประเทศตุรกี บุกรุกเข้ามาทำลายทรัพย์สินภายในสำนักงาน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของไทยที่ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน และจากนั้นอีกไม่กี่วันต่อมา ก็ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวตุรกีในสหรัฐฯ ออกมารวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อประท้วงทางการไทยจากการส่งตัวผู้อพยพกลับจีนด้วย

ปมขัดแย้งระดับชาติ กลุ่มผู้อพยพอุยกูร์
ภาพจาก liveleak.com

          ในขณะที่ปมปัญหาดังกล่าวยังอยู่ในความสนใจของนานาประเทศ ชื่ออุยกูร์ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อสื่อต่างประเทศบางแห่งตั้งข้อสงสัยว่า เหตุระเบิดราชประสงค์ อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับปมความขัดแย้งเรื่องที่ไทยส่งอุยกูร์กลับจีนก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ ท่ามกลางความพยายามปฏิเสธจากรัฐบาลที่มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวโยงกัน กระทั่งในเวลาต่อมาชุดคลี่คลายคดีระเบิดราชประสงค์จึงได้ออกมาสรุปว่า มูลเหตุของคดีระเบิด เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำลายขบวนการและเครือข่ายการค้ามนุษย์นั่นเอง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปประเด็น 12 ข่าวเด่น ประจำปี 2558 อัปเดตล่าสุด 30 ธันวาคม 2558 เวลา 14:21:01 77,743 อ่าน
TOP
x close