ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน มักจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากในหลาย ๆ ประเทศล้วนประสบปัญหานี้เช่นกัน ทว่าประเทศเปรูได้ทำให้ปัญหานี้เห็นชัดมากขึ้นด้วยการสร้างกำแพงกั้นชนชั้น ขีดเส้นแบ่งระหว่างคนรวยกับคนจนกันอย่างชัดเจน
เว็บไซต์ Oddity Central เผยเรื่องราวน่าสนใจนี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 โดยได้ระบุว่า ที่ชานเมืองลิมา ประเทศเปรู มีการสร้างกำแพงที่สะท้อนให้เห็นถึงความอัปยศอดสูของประเทศเป็นอย่างมาก เมื่อกำแพงยาวกว่า 10 กิโลเมตรนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกั้นเขตแดนระหว่างระหว่างคนรวยและคนจน ให้แบ่งโซนแยกกันอยู่อย่างสิ้นเชิง
กำแพงยาวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องคนรวย โดยการป้องกันไม่ให้คนจนย่างกรายเข้าไปในเขตที่อยู่ของบรรดาคนรวย เพื่อที่จะไม่สามารถก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้นได้ ฝั่งด้านในของกำแพงกั้นถูกเรียกว่า ลาส คาซัวรินาส์ (Las Casuarinas) เป็นที่อยู่ของคนรวย ๆ ในประเทศ ส่วนฝั่งด้านนอกออกไป เรียกว่า วิสต้า เฮอร์โมซา (Vista Hermosa) เป็นที่อยู่ของประชากรจำนวนมากที่อยู่อย่างลำบากยากจน ขัดสนไม่มีแม้กระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้า บ้านของคนเหล่านี้ถูกสร้างจากไม้เก่า ๆ หลังคาแตก ๆ อาศัยแสงสว่างจากแสงเทียน ตรงกันข้ามกับอีกฝั่งของกำแพงที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ล้วนเป็นคฤหาสน์สุดหรูหลังโตราคาหลายสิบล้านทั้งนั้น
แน่นอนอย่างที่หลาย ๆ คนคิด กำแพงกั้นเขตแดนนี้ทำให้ประชาชนชาวเปรูจำนวนมากรู้สึกไม่มีความสุข พวกเขาต่างประณามว่ามันเป็นความน่าอดสูเหลือเกิน ผู้ร่วมรณรงค์คัดค้านต่างพากันโพสต์ภาพและวิดีโอเผยให้ชาวโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดนี้รู้สึกละอายใจบ้าง
อย่างไรก็ดี สำหรับพวกคนรวยในเขตลาส คาซัวรินาส์ กำแพงกั้นเขตแดนนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยป้องกันความปลอดภัยของพวกเขา เรนโซ อัลเบอร์ตี หนึ่งในคนรวยในลาส คาซัวรินาส์ เผยว่า เขตแดนด้านในของพวกเขาไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่มีการกั้นกำแพงระหว่างเพื่อนข้างบ้าน แต่สำหรับพวกคนด้านนอกนั้นจำเป็นต้องกั้นกำแพงไว้เพื่อแบ่งแยกพวกเราออกจากคนจนเหล่านั้น
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ กำแพงแห่งนี้เริ่มกลายเป็นที่สนใจในสายตาต่างประเทศ มันถูกตั้งชื่อเล่นให้ว่า กำแพงเบอร์ลินแห่งเปรู จนเกิดเป็นกระแสการริเริ่มการระดมกลุ่มวาดภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังของกำแพงขึ้นมา เพื่อปลุกสามัญสำนึกให้กับผู้สร้างกำแพงได้ตระหนักถึงผลกระทบของมันที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ จากสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเมืองลิมาตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การยอมรับให้มีการจำกัดเขตแดนให้ประชาชน (ส่วนใหญ่) อยู่หลังกำแพงที่ปิดล็อกนี้ ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แม้อัตราการเกิดอาชญากรรมจะสูงมากก็ตาม แต่กำแพงแห่งนี้จะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างตัวประชาชนเอง
world_id:567c920b4d265a224b8b4569
ภาพจาก Volante y Rasante