จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นฉับพลันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้หลายคนต่างลุ้นว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสหิมะตกเหมือนประเทศเพื่อนบ้านไหม อย่างข่าวหิมะตกที่แขวงหัวพัน, แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว, รัฐฉาน ในพม่า, เวียดนาม และไม่เพียงแค่แถบอาเซียนเท่านั้นที่เผชิญกับความหนาวเย็น ยังมีอีกหลายประเทศที่เจอวิกฤตหิมะตกหนัก อาทิ เกาหลีใต้ และ พายุหิมะถล่มหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ เป็นต้น
และจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว เชื่อเลยว่าหลายคนคงจะอยากรู้เรื่องราวของหิมะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น หิมะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีชื่อเรียกในภาษาอื่นว่าอย่างไรบ้าง และโรคที่เกิดจากหิมะมีโรคใดบ้าง ซึ่งกระปุกดอทคอมก็ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของหิมะมาฝากค่ะ
1. คำว่า หิมะ ในภาษาต่าง ๆ
"หิมะ" มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ดังนี้
หิมะ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Snow (สโนว์)
หิมะ ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า 雪 (ยูกิ)
หิมะ ภาษาจีน เรียกว่า 雪 (เสวี่ย)
หิมะ ภาษาเกาหลี เรียกว่า 눈 (นุน)
2. หิมะ เกิดขึ้นจากอะไร
การเกิดของหิมะนั้นจะคล้ายกับการเกิดของ น้ำฝน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยการเกิด น้ำฝน จะเกิดจากเมฆที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองที่มีการก่อตัวในแนวดิ่ง หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ซึ่งภายในเมฆเหล่านี้จะมีขนาดหยดน้ำแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าตกลงมาจะมีโอกาสชนกับหยดน้ำที่เล็กกว่าและรวมตัวกันเป็นหยดน้ำที่ใหญ่ขึ้น โดยหากหยดน้ำใดมีขนาดใหญ่เกิน 2-5 มิลลิเมตร จะทำให้หยดน้ำเหล่านี้เอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกตกลงมาสู่พื้นดิน เมื่อหยดน้ำเหล่านี้ลงมาแล้วนั้น หากอุณหภูมิใต้พื้นโลกมีอุณหภูมิมากกว่า 0 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำที่ตกลงมาคงสถานภาพอยู่ในสถานะของเหลว ที่เรียกกันว่า น้ำฝน
ส่วนการเกิดของ หิมะ จะเกิดในเขตหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส โดยเกิดจากไอน้ำหรือหยดน้ำภายในเมฆที่มีอุณหภูมิประมาณ -40 องศาเซลเซียส แต่จะไม่แข็งตัวเนื่องจากหยดน้ำที่เกิดในเขตหนาวจะไม่แข็งตัวในอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกสถานะนี้ว่า น้ำเย็นยิ่งยวด เมื่อน้ำเย็นยิ่งยวดกระทบกับอนุภาคเล็ก ๆ ที่อยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน จะทำให้ระเหิดกลับไปเป็นผลึกน้ำแข็ง ทำให้ไอน้ำที่อยู่รอบ ๆ เข้าจับตัวกับผลึกน้ำแข็งจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่นี้ชนกันเองจะรวมตัวเป็น เกล็ดหิมะ จนมีขนาดใหญ่พอที่จะตกลงมาสู่พื้นผิวโลก ซึ่งต้องมีอุณหภูมิใต้ฐานเมฆไปจนถึงพื้นดินต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จะทำให้คงสภาพเป็น หิมะ นั่นเอง แต่หากอุณหภูมิใต้ฐานเมฆมากกว่า 0 องศาเซลเซียสก็จะทำให้กลายเป็น น้ำฝน เช่นกัน
ภาพจาก Seth Ryan/Shutterstock.com
3. หิมะกัด คืออะไร
หิมะกัด สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายอยู่ในอากาศที่หนาวเย็นมาก ๆ เช่น สถานที่ที่เป็นน้ำแข็ง หรือ หิมะ ซึ่งมักจะเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า หู จมูก และแก้ม อันตรายจากหิมะกัดขั้นรุนแรงอาจถึงขั้นต้องตัดอวัยวะนั้นทิ้งเลยทีเดียว
สำหรับอาการเมื่อถูกหิมะกัด สามารถสังเกตได้ ดังนี้
ผิวจะเป็นรอยแดงและรู้สึกเจ็บแปลบ ๆ ก่อนที่ผิวบริเวณดังกล่าวจะมีสีซีดลง ไม่มีความรู้สึก เริ่มชา
หากหิมะกัดระดับที่ลึกลงไป ผิวหนังจะกลายเป็นสีม่วง ๆ เทา ๆ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกแข็ง ๆ ในช่วงแรกจะชา ไม่รู้สึก หลังจากนั้นจะรู้สึกปวดตุบ ๆ อาจเกิดตุ่มพองที่เป็นเลือดคั่งด้านใน
วิธีดูแลรักษาเมื่อถูกหิมะกัด
ควรรีบไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
ในเบื้องต้นเมื่อถูกหิมะกัดควรหลบเข้าที่ร่ม หรือในอาคารที่อบอุ่น
หากว่าถูกหิมะกัดที่เท้าไม่ควรฝืนเดินต่อเพราะจะทำให้อาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น ควรให้คนพยุงหรือใช้ไม้ค้ำ
จุ่มแผลที่ถูกหิมะกัดในน้ำอุ่น ไม่ร้อนจัด หรือหาเครื่องดื่มอุ่น ๆ ดื่ม
ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ โดยต้องเป็นเสื้อผ้าที่แห้งและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
4. หิมะ กินได้หรือไม่ ?
เมื่อเห็นปุยหิมะสีขาว ๆ ก็พาให้คิดถึงน้ำแข็งไสเกล็ดหิมะน่าลิ้มลอง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า หิมะ กินได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเกิดของหิมะนั้นกว่าจะลงมาสู่พื้นดินต้องผ่านมลพิษทางอากาศมากมายประกอบกับพื้นดินยังอาจโดนสิ่งต่าง ๆ เหยียบย่ำ ดังนั้นหิมะส่วนใหญ่จึงไม่ปลอดภัยเท่าไรนัก หากอยากลองรับประทานจริง ๆ ต้องมั่นใจพอว่าหิมะเหล่านั้นสะอาดเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เคยมีรายงานว่าช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดวิกฤตเคยมีหญิงคนหนึ่งอาศัยกินหิมะเพื่อประทังชีวิตด้วยการนำเอาหิมะไปต้มอยู่เหมือนกัน
5. หิมะ กับ ลูกเห็บ แตกต่างกันอย่างไร
หลายคนคงสงสัยกันว่า การเกิดของ หิมะ กับ ลูกเห็บ มีความแตกต่างและคล้ายคลึงกันอย่างไร โดยในส่วนของการเกิดหิมะจะเป็นผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กประมาณ 1-20 มิลลิเมตร ถูกไอน้ำที่อยู่รอบ ๆ จับตัวกับผลึกน้ำแข็งจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนตกลงมาเป็นเกล็ดหิมะ ซึ่งจะเกิดในเขตหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ขณะที่ ลูกเห็บ จะเป็นก้อนน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร เกิดจากกระแสในอากาศไหลขึ้น และไหลลงภายในเมฆชั้นล่างอย่างเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆที่มีเม็ดฝนเย็นจัดจนเป็นผลึกน้ำแข็ง และถูกลมพัดวนในเมฆจนพอกตัวเกิดเป็นชั้นน้ำแข็งห่อหุ้มเป็นชั้น ๆ จนมีขนาดใหญ่ที่จะตกลงมา มักเกิดขึ้นเวลามีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง
6. หิมะเมืองไทย
เป็นเรื่องฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างมาก หลังจากชาวเน็ตมีการแชร์ภาพหิมะตกที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งแท้จริงแล้วภาพดังกล่าวเป็นเพียงภาพเก่า และเป็นการเกิดลูกเห็บตกเท่านั้น ซึ่งหากถามโอกาสในการเกิดหิมะของประเทศไทยนั้นมีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นยากแก่การเกิดหิมะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผยภาพว่า เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณช่วง ปี 2498 มีการระบุว่าหิมะตกที่ จ.เชียงราย แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดแต่อย่างใด
7. หิมะตกในเอเชีย
หลังจากฟังเรื่องราวของหิมะกันมาบ้างแล้ว เชื่อเลยว่าหลายคนคงอยากไปสัมผัสปุยนุ่ม ๆ สีขาวของหิมะกันแล้วแน่นอน แต่สำหรับคนที่มีงบน้อยไม่อยากไปไกลถึงยุโรปก็สามารถไปที่ประเทศเพื่อนบ้านกันได้หลายประเทศเชียวล่ะ แต่จะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย
สัมผัสปุยหิมะสีขาวในประเทศพม่า
ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น ประเทศพม่าก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีหิมะตกโปรยปรายในตอนเหนือของประเทศเนื่องจากมีพื้นที่ติดกับประเทศจีนทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็น อาทิ หมู่บ้านปันวา รัฐคะฉิ่น, เมือง Pangwa รัฐฉาน ในพม่า เป็นต้น
ภาพจาก Golden Myanmar
ภาพจาก Golden Myanmar
หิมะตกในประเทศเวียดนาม
ใครที่อยากไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นและหิมะของจริง ต้องไม่พลาดเดินทางไปยังประเทศเวียดนามที่ถือว่ามีหิมะตกเช่นกัน อย่างในพื้นที่ เขตซาปา จ.ลาวไก ที่มีอากาศหนาวเย็นจัดอุณหภูมิติดลบจนหิมะตกปกคลุมดูเหมือนประเทศในแถบยุโรปทีเดียว
หิมะตกโปรยปรายที่ประเทศลาว
เอาใจคนชื่นชอบหิมะในแถบประเทศพื้นบ้านอีกเช่นเคย สำหรับประเทศลาวที่ล่าสุดมีอุณหภูมิ -3 องศาเซลเซียส จนเกิดปรากฏการณ์หิมะตกปกคลุมในพื้นที่แขวงหัวพัน, หนองแฮด แขวงเชียงขวาง จนทำให้ประชาชนชาวลาวแต่งชุดกันหนาวออกมาถ่ายรูปกันอย่างมากมาย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Zoov Nujtxeeg
หิมะตกในประเทศจีน สภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว
ใครที่ชอบอากาศหนาวเย็นแบบสุดขั้วแต่ยังอยากท่องเที่ยวอยู่ในแถบเอเชีย ขอแนะนำประเทศจีนที่ในหลายพื้นที่มีหิมะปกคลุมขาวโพลนและหลายเมืองที่มีอุณหภูมิต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ในมณฑลอานฮุย, เจ้อเจียง, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง และ กรุงปักกิ่ง เป็นต้น
สัมผัสความสวยงามและหิมะในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับข่าวคราวความเคลื่อนไหวของหิมะในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุด (25 มกราคม 2559) มีรายงานว่าประชาชนในประเทศญี่ปุ่นต่างฮือฮาที่มีหิมะตกในบริเวณเกาะทางตอนใต้ที่ชื่อ เกาะอามามิโอชิมะ หลังจากไม่มีหิมะตกมานานกว่า 115 ปี แต่ใช่ว่าความสวยงามของสภาพอากาศหนาวเย็นจะสวยงามเสมอไป เนื่องจากสภาพอากาศหนาวจัดและพายุหิมะเช่นนี้ ส่งผลให้ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีผู้บาดเจ็บแล้วมากกว่า 100 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- thai.cri.cn
- scienceline.ucsb.edu
- physicsworld.nanacity.com