พระจันทร์เต็มดวง มีชื่อเฉพาะต่างกันในแต่ละเดือนด้วย อีกหนึ่งเรื่องไม่ลับที่หลายคนยังไม่ทราบ มาดูชื่อพระจันทร์เต็มดวง ในแต่ละเดือน พร้อมที่มากันได้เลย
ดวงจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางฟ้า เป็นภาพจับตาชวนมองที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบปี และด้วยความพิเศษนี้เองที่ทำให้ผู้คนบางวัฒนธรรมเลือกที่จะตั้งชื่อเฉพาะให้แก่พระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือน โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งได้เรียกขานพระจันทร์เต็มดวงด้วยชื่อที่ต่างกันไปในแต่ละเดือน เพื่อให้เป็นตัวแทนของฤดูกาลที่มาเยือนในเดือนนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันมีอยู่ด้วยกันหลายเผ่า จนเกิดชื่อเรียกพระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือนที่ต่างกันไปตามเผ่าต่าง ๆ แต่ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเห็นจะมาจาก เผ่าอัลกอนควินส์ (Algonquins) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นิวอิงแลนด์และทางตะวันตกของทะเลสาบสุพีเรีย แห่งอเมริกาเหนือ โดยมีชื่อของพระจันทร์เต็มดวงตามเดือนต่าง ๆ และที่มา ดังต่อไปนี้
เดือนมกราคม : Wolf Moon
ในเดือนมกราคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่หิมะจะโปรยปรายกองอยู่รวมกันในป่าลึก ชาวบ้านต่างได้ยินเสียงเห่าหอนของหมาป่าดังก้องอยู่ในความมืด ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ วูลฟ์ มูน (Wolf Moon)
อย่างไรก็ตาม บางชนเผ่ายังเรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนมกราคมว่า สโนว์ มูน (Snow Moon) ด้วยเช่นกัน แม้โดยมากแล้วจะใช้ชื่อนี้เรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนกุมภาพันธ์ก็ตาม
เดือนกุมภาพันธ์ : Snow Moon
หิมะที่กองทับถมสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ชื่อของหิมะ (Snow) ได้ถูกมอบแก่จันทร์เต็มดวงของเดือนนี้ ขณะที่บางชนเผ่ายังเรียกจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้ว่า ฮังเกอร์ มูน (Hunger Moon) จากความท้าทายในการล่าสัตว์ของช่วงเวลานี้อีกด้วย
เดือนมีนาคม : Worm Moon
ในเดือนนี้ถึงเวลาที่หิมะจะเริ่มละลายอย่างช้า ๆ เผยให้เห็นพื้นดินนุ่ม ๆ และบรรดาไส้เดือนที่เริ่มโผล่หัวขึ้นมาพ้นดินแล้ว จนเป็นที่มาของชื่อ วอร์ม มูน (Worm Moon)
ขณะที่บางพื้นที่ยังเรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้ ตามสัญญาณการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิในรูปแบบที่ต่างกันด้วย อาทิ โครว์ มูน (Crow Moon), ครัสท์ มูน (Crust Moon) และเลนเทน มูน (Lenten Moon)
เดือนเมษายน : Pink Moon
ถึงเวลาของต้นไม้เริ่มผลิดอกแล้ว ท้องทุ่งต่างเต็มไปด้วยสีชมพูของดอกฟล็อกซ์ ทำให้จันทร์เต็มดวงของเดือนนี้ถูกเรียกขานด้วยชื่อแสนหวาน พิงก์ มูน (Pink Moon) ขณะที่ชนเผ่าอื่นซึ่งอาศัยอยู่ริมชายฝั่งแม่น้ำจะเรียกจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้ว่า ฟิช มูน (Fish Moon)
เดือนพฤษภาคม : Flower Moon
ช่วงเวลาที่ดอกไม้บานเต็มที่มาเยือนแล้ว ขณะที่ข้าวโพดก็พร้อมจะให้ทำการเพาะปลูกได้ จึงทำให้จันทร์เต็มดวงของเดือนพฤษภาคมยังถูกเรียกขานด้วยชื่อ คอร์น แพลนทิง มูน (Corn Planting Moon) และ มิลค์ มูน (Milk Moon) อีกด้วย
เดือนมิถุนายน : Strawberry Moon
นี่คือช่วงเวลาที่มีการเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีกันมากที่สุดในรอบปี ทำให้ชื่อ สตรอว์เบอร์รี มูน (Strawberry Moon) กลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ชื่อที่ทุกเผ่าของอัลกอนควินส์ใช้ตรงกัน
เดือนกรกฎาคม : Buck Moon
ถึงเวลาที่เหล่ากวางตัวผู้จะเริ่มมีขนยาวหนาแล้วในเดือนกรกฎาคม ทำให้จันทร์เต็มดวงของเดือนนี้ถูกเรียกว่า บัค มูน (Buck Moon) ขณะที่สภาพพายุฝนคะนองในพื้นที่นิวอิงแลนด์ยังทำให้คนบางเผ่าเรียกจันทร์เต็มดวงของเดือนนี้ว่า ธันเดอร์ มูน (Thunder Moon) อีกด้วย
เดือนสิงหาคม : Sturgeon Moon
เดือนสิงหาคมคือช่วงเวลาที่ชนเผ่าต่าง ๆ สามารถจับปลาสเตอร์เจียนตัวใหญ่ ๆ จากทะเลสาบเกรตเลกส์ได้ง่ายที่สุด กลายเป็นที่มาของชื่อ สเตอร์เจียน มูน (Sturgeon Moon) นั่นเอง
เดือนกันยายน : Harvest Moon
ถึงเวลาที่พืชผลธัญญาหารของแต่ละชนเผ่า อย่าง ข้าวโพด ฟักทอง ถั่ว และข้าว พร้อมแก่การเก็บเกี่ยวในเดือนนี้แล้ว ขณะที่ดวงจันทร์สุกสว่างในเดือนกันยายนก็ยังช่วยให้เกษตรสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้จนถึงยามดึก จึงเป็นที่มาของชื่อ ฮาร์เวสท์ มูน (Harvest Moon) นั่นเอง ขณะที่บางครั้งผู้คนอาจเรียกว่า คอร์น มูน (Corn Moon) ด้วย
เดือนตุลาคม : Hunter's Moon
หลังจากท้องทุ่งถูกเก็บเกี่ยวจนเสร็จ ใบไม้เริ่มร่วงโรย ขณะที่เหล่ากวางทั้งหลายต่างก็อ้วนท้วมสมบูรณ์ได้ที่ จึงถึงเวลาที่นักล่าสัตว์จะออกวางกับดักกวางเหล่านี้ รวมถึงบรรดาจิ้งจอกและสัตว์อื่นด้วย จนเป็นที่มาของชื่อ ฮันเตอร์ส มูน (Hunter's Moon) นั่นเอง
เดือนพฤศจิกายน : Beaver Moon
เดือนพฤศจิกายนเวียนมาถึง ก็ได้เวลาที่ฝูงบีเวอร์จะวุ่นอยู่กับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ง่ายสำหรับนักล่าสัตว์ที่จะวางกับดัก จับตัวบีเวอร์เพื่อนำขนอุ่น ๆ ของมันมาใช้ประโยชน์ จันทร์เต็มดวงในเดือนนี้จึงถูกเรียกว่า บีเวอร์ มูน (Beaver Moon)
เดือนธันวาคม : Cold Moon
อุณหภูมิที่ดิ่งลงอย่างมากในช่วงฤดูหนาวนี้ คงไม่มีชื่อไหนที่จะเหมาะแก่การเรียกขานจันทร์เต็มดวงประจำเดือนว่า โคลด์ มูน (Cold Moon) อีกแล้ว แต่ด้วยระยะเวลาที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวันนี้ ยังทำให้จันทร์เต็มดวงของเดือนธันวาคมยังถูกเรียกว่า ลอง ไนท์ มูน (Long Night Moon) ด้วยเช่นกัน ขณะที่กลุ่มชาวคริสเตียนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปนี้ได้เรียกขานว่า มูน บีฟอร์ ยูล (Moon before Yule)
นอกจากนี้ยังมีชื่อจันทร์เต็มดวงอีกชื่อหนึ่งที่คุ้นหูทุกคนกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ บลู มูน (Blue Moon) อันเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานจันทร์เต็มดวงที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมมา จากปกติที่ในปีหนึ่ง ๆ จะมีจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง
ข้อมูลจาก
- moonconnection.com
- space.com