x close

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แจ้ง 20 มีนาคมนี้ เป็นวันวสันตวิษุวัตหรือวันเปลี่ยนฤดูกาล

วันวสันตวิษุวัต



          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 20 มีนาคมนี้ เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน หรือเรียก วันวสันตวิษุวัต เป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

          เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 รองศาสตราจารย์บุญรักษา  สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เป็นวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) และประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนประเทศในซีกโลกใต้นับเป็นวันย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง สำหรับประเทศไทยในวันที่ 20 มีนาคม 2560 กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 06.23 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.28 น. ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่าง ๆ กัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา หลังจากนี้ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เฉียงไปทางเหนือเรื่อยๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน หรือที่เรียกว่าวันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนที่เฉียงลงมาทางใต้อีกครั้งหนึ่ง

          ผอ. สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด  แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบตั้งฉากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

        นอกจากนี้ การที่มุมเอียงของแกนโลกและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์มีผลต่อแสงดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นผิวโลก บริเวณใดที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลก จะได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มากกว่าบริเวณที่แสงอาทิตย์ทำมุมเอียงกับพื้นโลก แสงอาทิตย์ที่ทำมุมเอียงกับพื้นโลกจะผ่านชั้นบรรยากาศที่หนากว่าแสงอาทิตย์ที่ตั้งฉาก ฝุ่นละออง ไอน้ำในอากาศจะดูดกลืนความร้อน และสะท้อนความร้อนบางส่วนออกไปยังบรรยากาศภายนอก ทำให้ความเข้มของพลังงานความร้อนที่ตกกระทบผิวพื้นโลกลดลง 

        ดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งฉากกับพื้นโลก เฉพาะบริเวณละติจูด 23.5 องศาเหนือ ถึง 23.5 องศาใต้เท่านั้น เนื่องจากแกนโลกเอียง 23.5 องศา ดังนั้นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนเท่านั้น (ระหว่างละติจูด 23.5 องศาเหนือ ถึง 23.5 องศาใต้) ที่จะสามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ สำหรับวันที่ 20 มีนาคม 2560 ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรโลก (ละติจูด 0 องศา) ส่วนประเทศไทยตั้งอยู่ละติจูดประมาณ 15 องศาเหนือ ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 เมษายน 2560  รศ.บุญรักษา กล่าว


          แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของดวงอาทิตย์ ทำให้ระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้

        1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

        2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว 

        3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

        4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า“ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แจ้ง 20 มีนาคมนี้ เป็นวันวสันตวิษุวัตหรือวันเปลี่ยนฤดูกาล อัปเดตล่าสุด 17 มีนาคม 2560 เวลา 19:25:27 22,825 อ่าน
TOP